มีวิธีการใดให้ประชาชนทั่วโลกมีเมตตาธรรมต่อกัน
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๖๗
ผู้ฟัง เราจะมีวิธีการใดให้ประชาชนทั่วโลกมีเมตตาธรรมต่อกัน
ท่านอาจารย์ ทั่วโลกคงไม่ได้ แม้แต่ในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็มีผู้ที่มีความเห็นต่างกับพระองค์มากมาย ที่ใช้คำว่า เดียรถีย์ หมายความว่า ผู้ที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่เห็นตรงตามลักษณะของสภาพธรรม แม้ในครั้งนั้นพระองค์ก็ไม่สามารถที่จะให้ทุกคนมีความเห็นที่ถูกต้องเหมือนกันได้
อีกอย่างหนึ่ง “โลก” เราเข้าใจว่าอย่างไร ทุกคนในโลก แล้วคำว่าโลกคืออะไร
ผู้ฟัง เป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ นั่นคือโอกาสโลก แต่สัตวโลก คือ แต่ละคน แต่ละคนก็อยู่ในโลกของตนๆ คนละโลกๆ แล้วย่อยลงไปอีก โลกทางตาขณะหนึ่ง โลกทางหูขณะหนึ่ง โลกทางจมูก โลกทางลิ้น โลกทางกาย โลกทางใจที่คิดนึก แท้ที่จริงแล้วโลกก็คือ จิต
เมื่อกี้นี้เรากำลังพูดถึงเรื่องธรรม ซึ่งมีจริง และเป็นสภาพที่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ธรรมเหนือหรือเกินกว่าที่ใครจะสั่ง หรือใครจะทำ หรือว่าใครจะสร้าง เพียงแต่ว่าสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่เราสักอย่างเดียว
เพราะฉะนั้น ธรรมอย่างนี้ ทรงแสดงว่าเป็น “ปรมัตถธรรม” ใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” มาจากคำว่า ปรม คือ บรม ในภาษาไทย แล้วอัตถ แล้ว ธรรม อัตถ บางแห่งหมายความถึงความหมาย แต่ความหมายของอะไร ความหมายของลักษณะของธรรม ธรรมต้องมีลักษณะซึ่งแสดงความหมายหรือส่องความหมายของธรรมนั้นว่า ธรรมนี้เป็นอย่างนี้ ธรรมอีกอย่างหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมก็คือธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากการตรัสรู้สภาพธรรมนี้เอง ก็ได้ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ซึ่งสืบทอดมาจารึกเป็นพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า พระไตรปิฎก ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก พระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่ของพระวินัยปิฎก เป็นเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติ การปฏิบัติของพระภิกษุเป็นส่วนใหญ่ สำหรับพระสูตรก็ทรงแสดงธรรมในที่ต่างๆ มีพระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระเจ้าพิมพิสาร มีบุคคลต่างๆ ในพระสูตร แต่สำหรับปิฎกที่ ๓ คือ พระอภิธรรมปิฎก เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม โดยละเอียดทุกประการ จึงเป็น อภิ ธรรม เป็นปิฎกที่ ๓ คือ อภิธรรมปิฎก อภิ แปลว่าละเอียดยิ่ง เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพธรรมที่มีแต่ละอย่าง จะเห็นว่าละเอียดมาก ทรงแสดงโดยนัยของความเป็นธาตุ คือ เป็นธรรม นัยของอายตนะ เพราะต้องประชุมรวมกัน จึงจะทำให้มีสภาพรู้ในขณะนี้เกิดขึ้น เช่นถ้าเสียงไม่กระทบโสตปสาท จิตได้ยินจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ต้องมีเสียงแล้วก็ต้องมีโสตปสาทรูปประชุมหรือว่าติดต่อกันในขณะนั้นถึงจะต่อกัน จึงทำให้มีจิตที่ได้ยินเกิดขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ทรงแสดงโดยความละเอียดยิ่ง จึงเป็นอภิธรรม
เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินการสวดพระอภิธรรม งานศพทุกงานก็จะมีการสวดพระอภิธรรม ก็จะเข้าใจได้เลยว่า ไม่ได้สวดพระวินัย ไม่ได้สวดพระสูตร แต่สวดพระอภิธรรม คำว่า “สวด” ก็คือการประกาศคำสอน ไม่ว่าจะเป็นสวดอะไรทั้งหมด มงคลสูตร ก็ประกาศธรรมที่เป็นมงคลสูงสุด หรือรัตนสูตร ก็ประกาศความเป็นรัตนะของพระรัตนตรัย
เพราะฉะนั้น ที่ภาษาไทยเราใช้คำว่าสวด ก็คือประกาศคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง เพราะเราจะไม่เอาอย่างอื่นมาสวดเลย แต่จะสวดมงคลสูตรบ้าง รัตนสูตรบ้าง หรือธัมมจักกัปปวัตนสูตรบ้าง นี่ก็แสดงว่า สวดก็คือการประกาศคำสอนให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจ
๓ ปิฎกแล้วนะคะ