สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๖๙
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๖๙
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีตัวเรา ใช่ไหมครับ อะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้อาจารย์ ในบรรดาพี่น้องทั้งหมดมีแต่อาจารย์คนเดียว ที่แม้ไม่มีใครชักนำไปวัด แต่มีความสนใจ แล้วศึกษา ปฏิบัติเองครับ
ท่านอาจารย์ ไม่มีดิฉันแน่นอน แต่มีธรรม ลืมหรือยังคะว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เราเพียงแต่ใส่ชื่อ
ผู้ฟัง เป็นสมมติบัญญัติ อย่างนั้นใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ตอนนี้เราจะข้ามไปหน่อยหนึ่ง เพราะว่าจากธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม แล้วเป็นอภิธรรม เมื่อรู้ว่าธรรมคืออย่างนี้ ก็ควรจะทราบต่อไปว่า แล้วมีธรรมกี่อย่าง และธรรมอะไรบ้าง เพราะเหตุว่าหลากหลายเหลือเกิน ชีวิตเกิดมาหลากหลายมาก เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวก็โกรธ เดี่ยวก็ขยัน เดี๋ยวก็ขี้เกียจ อะไรก็แล้วแต่
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างล้วนเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ทรงแสดงไว้ว่า ไม่ว่าธรรมจะหลากหลายมากมายอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แต่เฉพาะตรงนี้ หรือว่าตรงที่ทรงแสดงธรรม แต่ไม่ว่าที่ไหนใดๆ ทั้งสิ้น ก็จะมีธรรมที่มีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่าง
อันนี้เริ่มต้นแล้วว่า ธรรมมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งมีจริงเพราะเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่หวาน เปรี้ยว หรือเสียง หรือกลิ่น พวกนี้มีจริงๆ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมองเห็นก็ได้ อย่างเสียง เรามองไม่เห็นเลย แต่มี เพราะฉะนั้น เสียงเป็นธรรม มีเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้น จึงปรากฏ เมื่อหมดแล้วจะกล่าวว่ายังมีอยู่ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ธรรมที่เกิดขึ้นแต่ไม่ใช่สภาพรู้ คือไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม รูปะ – ธรรม เป็นธรรมส่วนที่เป็นรูป เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่โลกนี้ หรือโลกอื่น หรือโลกไหนๆ ก็ตาม อย่างโลกนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปธรรมหรือรูปธาตุ แต่มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากรูปโดยสิ้นเชิง ธาตุชนิดนี้ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสัน ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ถ้าเราจะรู้ว่า ไม่ได้มีแต่รูปธาตุอย่างเดียว ถ้ามีแต่เฉพาะรูปธาตุโดยไม่มีนามธาตุซึ่งเป็นสภาพรู้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่ารูปเองทุกรูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ คิดนึกไม่ได้ หิวไม่ได้ โกรธไม่ได้ นั่นเป็นรูปธาตุ แต่นามธาตุเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วใครก็ไม่สามารถที่จะทำลายการเกิดดับสืบต่อกันของนามธาตุด้วย
เพราะฉะนั้น นามธาตุที่มีจริงซึ่งมีลักษณะที่เกิดขึ้น คือ จิต ที่เราทุกคนกล่าวว่าเรามีจิต แต่เราไม่เคยสนใจว่า จิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อยู่ที่ไหน ทำหน้าที่อะไร เรารู้เพียงเงาๆ คร่าวๆ แล้วตอบได้ทันทีว่ามีจิต แต่ว่านี่ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นนามธรรม แต่นามธรรมที่เกิดจะมี ๒ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว นอกจากจิตซึ่งเป็นสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เช่น เห็นในขณะนี้ จิตสามารถที่จะเห็นได้ทุกอย่าง แล้วแต่ความสามารถ เหยี่ยวเห็นได้ไกลแค่ไหน นั่นก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่จิตเองจะเกิดขึ้นมาโดยไม่อาศัยธรรมอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดจะต้องมีสภาพธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น สำหรับจิตซึ่งเป็นนามธาตุซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้ ซึ่งทุกคนขณะนี้มี ถ้าไม่มีจิตเดี๋ยวนี้ ต้องเป็นอย่างไรคะ ตาย ใช่ไหมคะ ตายแน่นอน ที่ยังเป็นอยู่เพราะยังมีจิต แล้วเวลาที่จิตเกิดต้องมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นนามธรรม เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่มีจิต ต้องมีเจตสิก เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท เกิดร่วมกับจิต ถ้าเป็นเจตสิกฝ่ายดี กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าเป็นเจตสิกฝ่ายไม่ดี โลภะ โทสะ พวกนี้ เมื่อเกิดกับจิตใด จิตนั้นก็เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่า การที่จิตจะมีลักษณะดีบ้าง ชั่วบ้าง ก็คือ ต้องตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมทั้งหมด สภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อสักชื่อเดียว แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะของปรมัตถธรรมได้เลย
ปรมัตถธรรมมี ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ถ้าเห็นอะไรก็ตามต่อไปนี้ พิจารณาให้เข้าใจว่า สิ่งนั้นเป็นปรมัตถธรรมอะไร วิริยะ ความพากเพียร ความขยัน มีจริงไหมคะ มีหรือไม่มี เดี๋ยวก็เลยไม่เป็นชีวิตประจำวัน แต่ความจริงทั้งหมดที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ถ้ามีลักษณะจริงๆ แล้วต้องเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม แล้วภาษาไทยอาจจะเรียกอย่างหนึ่ง ภาษาบาลีอาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง แต่ภาษาไทยเราใช้คำภาษาบาลีมาก แล้วก็เรียกคำคล้ายคลึงด้วย แต่ตัดสั้นๆ บ้าง อย่าง สุ - ขะ เราก็เรียก สุข ทุก - ขะ เราก็เรียกทุกข์ แต่ความจริงก็คือความหมายเดียวกัน แต่ว่าเราติดสั้น
เพราะฉะนั้น วิริยะเป็นสิ่งที่มีจริง ความเพียรในภาษาไทย มีจริง เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก ต้องเป็นปรมัตถธรรม ๑ ใน ๓ คือ เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป เพราะเหตุว่านิพพาน เราคงไม่ต้องกล่าวถึงเลย ถ้าไม่รู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ก่อนอย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกล่าวถึงนิพพานเลย เพราะเหตุว่านิพพานตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิด และปรากฏในขณะนี้ทุกอย่าง
วิริยะ ความเพียร มีจริง เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นก็เป็น ปรมัตถธรรม ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ สภาพธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วต้องทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้น เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่แล้วก็ดับไปทุกขณะ
เพราะฉะนั้น วิริยะ ความเพียร เป็นปรมัตถธรรมอะไรคะ เจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้เท่านั้น นอกนั้นเป็นเจตสิกทั้งหมด ๕๒
ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกเป็นเจตสิก เป็นเจตสิก คือ ความเพียร เราก็จะจัดเป็นประเภทว่า เป็นกุศลหรือว่าอกุศล ในเมื่อความเพียร สามารถเพียรในสิ่งที่เกิดอกุศลกรรมขึ้นมาได้ หรือเกิดกุศลกรรมขึ้นมาได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท อัญญสมานาเจตสิก หมายความถึงเจตสิกที่เกิดเสมอกับจิต และเจตสิกอื่น แต่อันนี้ยังแยกออกเป็น ๒ คือ สัพพจิตสาธารณเจตสิก หมายความว่าเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงทุกประเภทมี ๗ ดวงที่เหลืออีก ๖ ก็มี วิริยเจตสิกนั่นเอง รวมอยู่ด้วยใน ๖ คือ สามารถที่จะเกิดกับจิตเกือบทุกดวง ไม่เหมือนกับ ๗ ดวงนั้น เจตสิก ๗ ดวงต้องเกิดกับจิตทุกดวง แต่เจตสิกอีก ๖ ดวงเกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นบางดวง เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกก็เกิดกับจิตเกือบทุกดวง แต่ไม่ใช่ประเภทของเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นวิริยเจตสิก เกิดกับกุศลธรรมก็ได้ เกิดกับอกุศลธรรมก็ได้
ผู้ฟัง ถ้าไปร่วมกับกุศลกรรมก็เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นกุศลวิริยะ เกิดกับอกุศล
ผู้ฟัง เป็นอกุศลวิริยะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ นี่กำลังเริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรม ทุกอย่างที่เคยเป็นเรา แตกย่อยออกไปเป็นที่ละอย่าง แล้วก็คือธรรมแต่ละอย่างๆ นั่นเอง มีจริงๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ก่อนเราเคยคิดว่าเกิดแล้วก็ดับตอนตาย แต่ไมใช่เลย ลักษณะของจิตเกิดดับเร็วกว่านั้นมาก แล้วก็มีหลายประเภท ลักษณะของจิตอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อจิตเกิดแล้วดับ สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย
เพราะฉะนั้น แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ถอยไป จิตก็เกิดขึ้นสืบต่อจนกระทั่งถึงขณะนี้ ซึ่งก็เกิดดับสืบต่อ ต่อไปถึงข้างหน้าอีก ไม่รู้ว่าจะนานอีกเท่าไร ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ
ที่ทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม แต่เราก็บอกไม่ได้ว่า เป็นผลของทาน หรือผลของศีล หรือผลของการเคยฟังธรรม เคยเข้าใจธรรม แต่ ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะฟัง ก็แสดงว่าต้องเคยได้ฟังมาก่อน แล้วก็มีศรัทธา มีความสนใจที่จะฟังต่อไป เพราะว่าบางคนจะไม่มีศรัทธาเลยในการฟัง
ผู้ฟัง มีองค์ประกอบอื่น ปัจจัยอื่นด้วยใช่ไหมครับ เพราะนอกจากว่าเท่าที่เคยอ่านมา พวกเดียรถีย์ในสมัยพระพุทธองค์ เคยไปกล่าวว่าพระพุทธองค์ด้วยซ้ำไป แต่ด้วยฤทธานุภาพที่พระองค์เข้ามาในเครือข่ายของพระองค์ พระองค์ก็สามารถที่จะกลับใจให้มานับถือพระพุทธศาสนา บางองค์ถึงขนาดมาขอบวช ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะรู้ได้ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ทุกอย่าง ว่าคนนั้นสะสมมามากน้อยเท่าไรที่จะได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ แม้อย่างท่านพระองคุลิมาล ใครจะคิดว่าจะเป็นถึงพระอรหันต์
เพราะฉะนั้น เรื่องของการสะสมใครสามารถที่จะรู้การสะสมมานานแสนนาน ล้ำลึกลงไปว่า สะสมอะไรมาอย่างไร แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่เมื่อได้ปัจจัยพร้อมเมื่อไรก็เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ความคิดของแต่ละคนที่ต่างกันก็เพราะสะสมมาต่างกัน ศึกษาอะไรก็ตามให้เข้าถึงความเป็นธรรมที่เป็นอนัตตาว่า ไม่มีเรา แต่มีจิต และเจตสิก จะคิด ถ้าไม่มีจิตคิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเจตสิกที่ปรุงแต่งความคิด ความคิดนั้นๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าจิตเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ อารัมมณะ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ จิตเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น ในภาษาบาลีจะมีคำคู่กัน คือ จิตกับอารมณ์ หรืออารัมมณะ ถ้าอารัมมณะก็คือสิ่งที่จิตรู้ จะเป็นอะไรก็ได้ที่จิตกำลังรู้ ส่วนจิตก็เป็นสภาพรู้ ทุกขณะไม่ใช่เรา ต้องให้เข้าใจถ่องแท้ถึงความเป็นธรรม
มีเรื่องที่จะศึกษาอีกมากมาย พระไตรปิฎก เอาเฉพาะพระอภิธรรมปิฎกอย่างเดียวก็มาก แต่ก็ต้องสอดคล้องกับส่วนอื่นของพระไตรปิฎกด้วย ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงธรรม เช้า สาย บ่าย ค่ำ ใน วันหนึ่งๆ แล้วเราเพิ่งเรียน หรือเพิ่งฟังแค่ไหน ถึงชั่วโมงหรือยังคะ เทียบกันการที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา