รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด


    ผู้ฟัง ถ้าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ท่านอาจารย์บอกว่าเป็นลักษณะสั้นแสนสั้น แล้วก็เหมือนกับฟ้าแลบ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความจริงแต่ยังไม่ประจักษ์ใช่ไหม ถ้าประจักษ์แล้วก็จะต้องเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง แต่ว่ายังมีสักกายทิฏฐิอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่ที่มีความเห็นถูก ขณะนั้นต่างขณะที่มีการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเพียงความเห็นถูกขั้นฟังหรือขั้นที่สติเกิดบ้างจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ต้องถึงโลกุตตรจิตเกิด จึงสามารถที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ใช้คำว่า “ดับ” คือเป็นสมุทเฉจคือไม่เกิดอีกเลย ไม่มีเชื้อหรือปัจจัยที่จะให้เห็นผิดได้อีกเลย แม้แต่ผัสสะไม่ประกอบด้วยความเข้าใจผิด ความเห็นผิดในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐาน ๔ หมายถึงว่า

    ท่านอาจารย์ ทีละหนึ่ง

    ผู้ฟัง ระลึกแล้วรู้สภาพธรรมนั้นที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ขณะนั้นมีสักกายทิฏฐิไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วมีสักกายทิฏฐิไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่ความรวดเร็วอย่าลืม "เห็น" ทำไมเหมือน"ได้ยิน" ด้วย ก็จะทำให้มีความคิดว่าขณะนั้นมีสักกายทิฏฐิด้วย แต่ความจริงต้องแยก กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล แต่เกิดสลับกันเร็วมาก

    อ.นิภัทร สักกายทิฏฐิมี ๒๐ ท่านแจกไปตามขันธ์ ๕ ขันธ์ละ ๔ ห้าขันธ์ก็๒๐ ความเห็นว่ากายนั้นคือเห็นชัดเจนว่าทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นของเรา เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเห็นกายอย่างเดียว จะเวทนาก็ได้ สัญญาก็ได้ สังขารก็ได้ วิญญาณก็ได้

    ท่านอาจารย์ คุณนิภัทรจะให้ความหมายเพิ่มเติมของนามกาย และรูปกายไม๊คะ เพราะว่ากายจะหมายความว่าอะไรถึงมีทั้งนามกาย และรูปกาย

    อ.นิภัทร นามกายก็หมายถึงนามธรรม ถ้าขันธ์ ๕ ก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๔ เป็นนามกาย และรูป ก็รูปกายตรงตัวอยู่แล้ว กายคือที่ประชุมที่รวมเป็นหมวดเป็นหมู่ เช่นหมู่ช้าง หมู่ม้า หมู่ลาอะไรก็แล้วแต่ คือรวมกันอยู่หลายๆ อย่างๆ รูปก็ไม่ใช่อันเดียว มีอยู่ตั้งหลายรูป เวทนาก็เหมือนกัน มีสุข มีทุกข์ มีอุเบกขา สัญญาก็จำได้หลายอย่าง รวมๆ กันอยู่ถึงจะเรียกว่ากาย

    ผู้ฟัง ถ้าหลงลืมสติๆ ไม่ระลึกตรงที่แข็งที่กำลังปรากฏ ก็ยึดติดว่าแข็งที่กำลังเจ็บนี้คือสุกัญญากำลังเจ็บตรงแผล ตรงแข็ง นี่คือลักษณะของสักกายทิฏฐิหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิเป็นความเห็นที่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา ขณะนี้เราพูดเรื่องทิฏฐิ เราพูดเรื่องจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ แต่ขณะนี้จะมีทิฏฐิเกิดหรือไม่เกิดจะไม่สามารถรู้ได้นอกจากสติสัมปชัญญะเกิด ทุกอย่างที่กล่าวถึงไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทต่างๆ จะรู้ไม่ได้เลยจนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ มีลักษณะนั้นกำลังปรากฏให้รู้ ไม่ใช่เป็นชื่อ แต่เป็นลักษณะของสิ่งที่เราศึกษานี่แหล่ะ เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ว่าทุกอย่างที่ได้ศึกษามีจริงๆ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143


    หมายเลข 9528
    30 ส.ค. 2567