สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๘๔


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๘๔


    ท่านอาจารย์ คนไทยทุกคนต้องเคยไปงานศพ ที่งานศพมีอะไร ที่วัด มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วพอทำบุญหมายความว่าอะไรคะ เลี้ยงพระก็เลี้ยง ทำบุญด้วยทาน อาหาร แล้วก็มีการสวดพระอภิธรรม อันนี้ขาดไม่ได้เลยสักงานศพงานใด ถึงแม้ในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ธรรมเนียมไทยก็ยังมีการสวดพระอภิธรรมอยู่ อภิธรรมคืออะไร เราได้ยินคำนี้ แต่เราไม่เข้าใจ แต่จากการศึกษาพระธรรมจะทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่เป็นความจริงในชีวิตของเรา ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นปรมัตถธรรม มาจากคำว่า ปรม ที่ภาษาไทยใช้คำว่า บรม อัตถ หมายความถึง ความหมาย ซึ่งหมายความว่า ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเอง เพราะถ้าสภาพนั้นไม่มีลักษณะ เราจะใช้คำที่แสดงความหมาย แสดงลักษณะของสิ่งนั้นก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมก็คือ ธรรมที่มีลักษณะที่เป็นใหญ่ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดมาก เป็น อภิ – ธรรม อภิ แปลว่า ละเอียด ยิ่ง แม้แต่จิต ก็แสดงโดยหลายชื่อ ตามความหมายของจิตนั้นๆ เป็นความละเอียดที่จะให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีอยู่กับเราทุกคนว่าเป็นธรรม แล้วก็เป็นปรมัตถธรรม แล้วก็เป็นอภิธรรม

    ตอนนี้รู้จักธรรมแล้วใช่ไหมคะ เป็นสิ่งที่มีจริง ใช่ไหมคะ เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า สิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ บังคับใจ บังคับได้ไหมคะ จะตื่น จะหลับ จะเห็นอะไร จะไม่ให้รัก ไม่ให้ชัง บังคับได้ไหมคะ เมื่อมีเหตุปัจจัย บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรารู้จักธรรม แล้วรู้จักปรมัตถธรรม แล้วก็กำลังฟังอภิธรรม คือ ความละเอียดของธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมตามที่ได้ทรงแสดงไว้ เช่น ลักษณะของจิตต่างกับเจตสิก แม้ว่าเจตสิก ความหมายคือเป็นสภาพนามธรรมที่เกิดกับจิต จะไม่เกิดที่อื่นเลย ต้องเกิดกับจิต โดยพยัญชนะ บางแห่งหมายความถึงเกิดในจิต คือเกิดร่วมกับจิต แล้วก็ดับพร้อมจิต เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย ใช่ไหมคะ จะมีแต่สภาพรู้ แล้วไม่มีสิ่งที่ถูกจิตรู้ ได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดขึ้นต้องมีสิ่งซึ่งถูกจิตนั้นรู้ทุกครั้ง ภาษาบาลีใช้คำเรียกสิ่งที่ถูกจิตรู้ว่า “อารัมมณะ” หรือ “อาลัมพนะ” ภาษาบาลีเรียกว่า อารัมมณะ ภาษาไทยจะเรียกว่าอะไร เพราะว่าภาษาไทยชอบตัดคำ อย่าง ทุกขะ ภาษาไทยก็บอกว่าทุกข์ สุขะ ภาษาไทยก็บอกว่า สุข จิตตะ ภาษาไทยก็ จิต เจ ตะ สิ กะ ภาษาไทยก็บอกว่า เจตสิก คือตัดหมดเลย เพราะฉะนั้น คำว่า อารัมมณะ ในภาษาบาลี ภาษาไทยจะเป็นคำอะไรคะ “อารมณ์” เพราะฉะนั้น ไม่เหมือนกับในทางพระพุทธศาสนาที่ทรงแสดง เพราะว่าคนไทยเราใช้คำว่าอารมณ์ในอีกความหมายหนึ่ง วันนี้อารมณ์ดี ไหมคะ

    ผู้ฟัง อารมณ์ดีค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ทราบไหมคะ

    ผู้ฟัง เพราะว่าตั้งใจจะมาฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะตาเห็นสิ่งที่ดี ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี อารมณ์ไม่ดีแล้ว ได้ยินเสียงที่ดี เราภาษาไทยบอกว่าอารมณ์ดี แต่ความจริงเพราะจิตรู้หรือได้ยินเสียงที่ดี เมื่อเช้านี้จิตเกิดมาเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ลิ้มรสที่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี คิดนึกเรื่องที่น่าสบายใจ ไม่มีเรื่องเดือดร้อน เราก็บอกว่าวันนี้อารมณ์ดี แต่ในทางธรรม อารัมมณะ หมายความถึงสิ่งที่ถูกจิตรู้ ไม่ใช่ตัวจิตที่กำลังรู้ แต่หมายความถึงสิ่งที่ถูกรู้ ที่จิตกำลังรู้ อย่างขณะที่กำลังได้ยินเสียง อะไรเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน

    นี่ค่ะ ใหม่มาก เหมือนกับพลิกโลกอีกโลกหนึ่งมาเป็นโลกของธรรม ล้วนๆ เลย เพราะว่าธรรมล้วนๆ จะเรียกชื่อก็ได้ ไม่เรียกชื่อก็ได้ แต่ว่าใครก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย ไม่มีใครสักคน แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงของธรรม และเคารพในธรรมด้วย เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะเปลี่ยนลักษณะของธรรมได้ แต่ว่าเป็นโลกที่เคยเป็นเรา แต่พอแตกย่อยความเป็นเราออกมา เป็นทีละ ๑ ขณะจิต จะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นเราเลย ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป อย่างเห็นเกิดแล้วก็ดับ ได้ยินเกิดแล้วก็ดับ สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว จะเป็นเราได้ไหมคะ เกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีแล้ว ยังจะเป็นเราอยู่อีกได้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดแล้วดับแล้ว ก็เป็นเราไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


    หมายเลข 9530
    20 ส.ค. 2567