อิทธิบาท ๔ กับ อธิปติปัจจัย ความแตกต่างกันอยู่ที่ไหน


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๙๓


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามเรื่องอิทธิบาท ๔ กับอธิปติปัจจัย ที่มีองค์ธรรมเหมือนกัน ความแตกต่างกันอยู่ที่ไหนคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึง “อธิบดี” ในภาษาไทย ซึ่งภาษาบาลีเป็น “อธิปติ” หมายความถึงสภาพที่เป็นใหญ่เฉพาะหน้าที่นั้นๆ ของตนๆ แต่ถ้าอิทธิบาทก็หมายความว่า บาท คือ ปาทะ ซึ่งทำให้เกิดอิทธิ ความสำเร็จ เบื้องต้นที่จะให้ถึงความสำเร็จที่เป็นฌานจิต หรือเป็นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่เราทำอะไรเสร็จก็มีอิทธิบาท ผัดก๋วยเตี๋ยวสักจานเสร็จก็สำเร็จแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่อิทธิบาท แม้ว่าอิทธิบาท คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสะ ฉันทะ คือความพอใจที่จะกระทำ ทุกคนที่ทำอะไรต้องมีความพอใจที่จะกระทำ โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตเกือบทุกประเภท แล้วก็เกิดได้ทั้งฝ่ายกุศล และทั้งฝ่ายอกุศลด้วย

    เพราะฉะนั้น เราก็จะรู้ได้เลย เวลาที่เราอยากจะทำอะไรที่เป็นฝ่ายอกุศล ขณะนั้นฉันทะเกิดกับโลภะ โลภะเป็นความติดข้องต้องการ แต่ฉันทะเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ เราอาจจะมีความติดข้องต้องการขณะใด แม้ว่ายังไม่ลุกขึ้นไปทำสิ่งที่เราต้องการเลย ฉันทเจตสิกก็เกิดร่วมด้วยแล้ว

    เพราะฉะนั้น สภาพนามธรรมซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่ก็มีนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งต้องเกิดร่วมกัน แม้ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ แต่ตัวเจตสิกแต่ละอย่างเขาเกิดขึ้นทำกิจการงานของเขาร่วมด้วย ให้จิตนั้นเป็นประเภทอย่างนั้นๆ อย่างจักขุวิญญาณ จิตเห็น ไม่มีฉันทะเกิดร่วมด้วย อเหตุกจิตทั้งหมด จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ไม่จำเป็นต้องมีฉันทเจตสิก เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นโดยอุบัติตามควร เช่น เสียงกระทบหู จิตได้ยินก็เกิดขึ้น ไม่ต้องมีฉันทะ แต่ว่าจิตอื่นต่อจากนั้นไปที่ไม่ใช่ อเหตุกจิต จะมีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าฉันทะในทางกุศล ถ้าเป็นกุศลอย่างธรรมดา ทาน ศีล ก็เป็นความพอใจที่จะกระทำทาน หรือว่าความพอใจที่จะทำการวิรัติทุจริต มีความพอใจที่จะกระทำกายวาจาที่ดีงาม เพราะว่าเรื่องของศีลเป็นเรื่องของกายวาจา

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็มีฉันทะ แต่ไม่ใช่อิทธิบาท สิ่งที่จะเป็นความสำเร็จ ไม่ใช่การสร้างจรวด ไม่ใช่การค้นคว้าพบอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการแพทย์ วิศวกร หรืออะไรก็ตามแต่ อันนั้นไม่ใช่ความสำเร็จจริงๆ เพราะว่าเป็นไปด้วยโลภะ เป็นไปด้วยความติดข้องต้องการ แต่ความสำเร็จจริงๆ ที่เป็นเรื่องของอิทธิบาทจะมี ๒ อย่าง คือความสำเร็จที่จะทำให้จิตสงบจากโลภะ โทสะ มั่นคงจนกระทั่งถึงระดับของฌานจิต

    เพราะฉะนั้น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสะ เป็นบาทที่จะให้จิตสงบจนกระทั่งถึงฌานจิตได้อย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือขณะนี้มีสภาพธรรม ฉันทะก็มีความพอใจที่จะกระทำ แต่เขาไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๕ พวกนั้นเป็นมรรค เป็นหนทางซึ่งขาดไม่ได้ แต่เจตสิกพวกนี้ก็เกิดร่วมกัน แล้วทำหน้าที่เฉพาะของเจตสิกนั้นๆ อย่างฉันทะ วิริยะ จิตตะ ปัญญา พวกนี้ก็เป็นอิทธิบาทที่จะทำให้สามารถถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะอิทธิทีนี้ใช้ ๒ อย่าง สำหรับสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา อย่างอื่นไม่ใช่อิทธิ สำเร็จที่จะเป็นถึงขั้นความสงบระดับฌาน หรือถึงขั้นที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ส่วนอธิบดีมีเท่าไรคะ คุณหมอจำได้ไหมคะ อธิบดีก็ ๔ เพราะฉะนั้น ของเขาไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับสมถะกับวิปัสสนา เขาเป็นใหญ่เฉพาะของเขาๆ ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง เมื่อตอนที่เรียนหนังสือ สอนอิทธิบาท ๔ เพื่อจะได้เรียนสำเร็จ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลยค่ะ ต้องเรื่องสมถะ และวิปัสสนา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เป็นการสอนเรื่องอธิปติปัจจัยมากกว่าหรือไงคะ ทำการอะไรให้สำเร็จควรจะมีอิทธิบาท ๔

    ท่านอาจารย์ เพราะใช้คำผิด ที่ถูกต้องใช้คำว่า อธิบดี อธิบดีก็ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสะ เหมือนกัน เวลาที่เราจะทำอกุศล อะไรก็ตาม หรือจะเรียนให้เก่ง หรือจะทำงานหรืออะไรก็ตาม บางครั้งเราทำด้วยฉันทะ อย่างคนที่เป็นหมอ อาจจะมีฉันทะในการที่จะช่วยคนเจ็บไข้ให้เขาหาย มีฉันทะในการงานนั้น คือ เราอาจจะพิจารณาตัวเราเองดีกว่า อย่างการศึกษาธรรมของเราเป็นไปด้วยฉันทะ ความพอใจที่จะเข้าใจ หรือเป็นไปด้วยวิริยะ เพราะว่าเห็นประโยชน์ หรือว่าเป็นจิตตะ ที่มีความสนใจจริงๆ หรือว่าเป็นด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น การกระทำของเราแต่ละครั้ง เราจะรู้ได้ สำหรับดิฉันเอง มีฉันทะมากในการอ่าน ชอบอ่านมากเลย พระไตรปิฎก อรรถกถา แต่ว่าเวลาที่จะพูด ไม่ได้มีฉันทะเท่ากับเวลาที่อ่าน ถ้ามีความเพียรที่จะต้องไปที่ไหนซึ่งอาจจะยากลำบาก หรือว่าคนฟังอาจจะมีความเห็นต่างกัน เราก็ต้องมีฉันทะเหมือนกัน แล้วก็มีวิริยะด้วย แต่อะไรจะเป็นใหญ่ในการที่เพียรให้เขาค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่เขาเคยเข้าใจผิดให้เข้าใจถูกขึ้น ก็คงจะต้องอาศัยวิริยะด้วย แต่ก็มีฉันทะ แล้วก็ในขณะนั้นก็แล้วแต่ จะเป็นปัญญาก็ได้ ที่ว่าเห็นประโยชน์มากว่า ถ้าเขาได้เข้าใจอันนั้นก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดในชีวิตของเขา แต่ฉันทะจะเห็นมากเลยเวลาอ่าน


    หมายเลข 9539
    20 ส.ค. 2567