อนุสัยเป็นเจตสิก ใช่ไหม
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๙๖
ผู้ฟัง ในปรมัตถธรรม ๓ จิต เจตสิก รูป รูปก็ไม่ใช่ จิตก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น อนุสัยเป็นเจตสิก ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ระดับที่ไม่ได้เกิดร่วมกับจิต ไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ เพราะฉะนั้น อนุสัยต้องมี แล้วต้องไม่ใช่ปริยุฏฐานะ เพราะว่าต้องดับด้วยมรรคจิต
ผู้ฟัง ไม่ค่อยเข้าใจคำเมื่อกี้ว่า ไม่ได้ระดับอะไรนะคะ
ท่านอาจารย์ ปริยุฏฐานะกิเลส กิเลส มี ๓ ระดับ
ผู้ฟัง เพราะว่าถ้าเป็นเจตสิก มันต้องทำงานทุกครั้ง
ท่านอาจารย์ เมื่อเกิดขึ้น
ผู้ฟัง เมื่อเกิดขึ้น เป็นเจตสิกที่ไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ไม่เกิด ที่ติดอยู่ในจิตเลย แล้วจะดับได้ด้วยโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค พอดับหมดแล้ว กิเลสนั้นๆ จะไม่เกิดเลยตามระดับขั้นของปัญญา ถ้าไม่มีอนุสัย หมอไม่ต้องดับเลย ไม่ต้องมีโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ไม่ต้องมีเลย เพราะไม่มีอนุสัย
ผู้ฟัง นี่ก็เป็นเช่นเดียวกันกับทางกุศล ใช่ไหมคะ อาสยะ
ท่านอาจารย์ ทางกุศลอันอื่น เขาไม่เรียกอนุสัย เขาเรียกเฉพาะกิเลสที่ต้องดับด้วยมรรคเท่านั้น
ผู้ฟัง ทางกุศลก็สะสมได้
ท่านอาจารย์ เหมือนกันมีทั้ง ๒ อย่าง มีทั้งกุศล ทั้งอกุศล
ผู้ฟัง ไม่มีใครพูดถึง ไม่ได้นอนเนื่อง
ท่านอาจารย์ เขาไม่ได้ใช้คำเท่านั้นเอง เขาพูดถึงกิเลสเมื่อไร เขาก็พูดถึงอนุสัยกิเลส แต่เวลาพูดถึงกุศล เขาจะไปใช้คำอนุสัยได้อย่างไร
ผู้ฟัง แต่มี คือลักษณะมีเหมือนกัน นอนเนื่องเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ต้องมี ต้องสะสมสืบต่ออยู่ในจิต เป็นบารมี เป็นอะไรก็แล้วแต่ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งกุศล ทั้งอกุศล
ผู้ฟัง คำว่า อาสยะ แปลว่าอะไรคะ
ท่านอาจารย์ อาสยะ คือ อัธยาศัย
เอาชีวิตจริงๆ เราสงสัยไหมในสภาพธรรม ตอนนอนหลับสนิท หมอสงสัยอะไรหรือเปล่าคะ ไม่สงสัย แต่พอตื่น ความสงสัยมาจากไหนอยู่ดีๆ มันก็โผล่ขึ้นมา เป็นความสงสัย เป็นโลภะ เป็นอะไรอย่างนี้ แล้วโลภะ ความติดข้อง หรือโทสะ ความขุ่นเคืองใจ หรือวิจิกิจฉา ความสงสัย จะหมดได้ไหม ใช่ไหมคะ ทุกคนต้องหาสาเหตุ ถ้ามีทุกข์ ต้องหาสาเหตุว่า ทุกข์นั้นเกิดจากอะไร ถ้ามีสภาพธรรมต้องรู้ว่าสภาพธรรมที่เกิด เกิดจากอะไรด้วย แล้วก็หมอก็ลองคิดดูก็แล้วกัน เราไม่ใช้คำว่า “อนุสัย” ไม่ใช้ชื่อนี้เลย แต่ตอนนอนหลับสนิท เราไม่ได้สงสัย เราไม่ได้มีความเห็นผิด เราไม่ได้มีความติดข้อง ไม่มีความต้องการอะไรเลยในขณะที่หลับสนิท ไม่รู้ว่าเราชื่ออะไร อยู่ที่ไหน เพราะอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏให้ติดข้อง อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏให้ขุ่นเคือง แต่พอตื่นขึ้นมาแล้วมีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ความสงสัยนี้มาจากไหน นี่ประการ ๑ ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่รู้เลย ไม่สามารถจะเสาะหาเหตุได้ว่า ความสงสัยมาจากไหน แล้วความสงสัยคนธรรมดาก็จะไม่คิดว่า แล้วจะหมดได้อย่างไร โทสะจะหมดได้อย่างไร เพียงแต่ว่าอยากหมด อยากไม่มีโทสะ แต่โลภะ ความติดข้องในรูปสวยๆ ในเสียงเพราะๆ ในรสอร่อยๆ ไม่เคยคิดที่จะอยากละเลย แล้วก็ไม่ใช่สาธารณะกับผู้ที่เป็นปุถุชนด้วย ไม่ใช่สาธารณะทั่วไปกับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ต้องสาธารณะเฉพาะพระอนาคาคามี ที่ท่านจะอบรมเจริญปัญญาที่จะละความติดข้อง คนธรรมดาอย่าไปเสียเวลาทำ อย่าไปเสียเวลาคิด ไม่มีทางสำเร็จที่ปุถุชนจะไม่มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
เพราะเหตุว่าพระโสดาบันท่านดับเพียงความเห็นผิด เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมเท่านั้น ส่วนกามาราคานุสัย ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้พระโสดาบัน พระสกทาคามีก็มี เพราะฉะนั้นคนที่สามารถที่คิดจะดับโลภะ โทสะ แล้วก็ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต้องเป็นพระอนาคามี คนอื่นไม่ต้องคิด เสียเวลา จะดับได้หรือคะ ปุถุชน ไม่ได้
เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษาธรรมตามระดับขั้น อย่างเราเวลาที่นอนหลับ ไม่มีสภาพของอกุศลใดๆ เกิดขึ้นเลย แต่พอตื่น อกุศลมาเพียบ มาจากไหน แล้วดับได้ไหม ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีใครสามารถที่จะดับได้ พวกมีสติปัญญามากหน่อย สามารถที่จะเห็นโทษของความติดข้องทันทีที่เห็น เราพอใจที่จะเห็น อย่างไรๆ บางคนก็บอกว่า อารัมมณะเป็นที่มายินดีของจิต แล้วโทสะ ถ้าขณะนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ใช่ไหมคะ จะยังคงเป็นที่มายินดีของจิตหรือเปล่า เวลาพูดถึงจิต เราจะไม่พูดถึงเจตสิกใดๆ เลย ไม่พูดถึงความติดข้องหรือความขุ่นเคือง แต่พูดเฉพาะตัวจิตว่า เขาขาดอารมณ์ไม่ได้
เพราะฉะนั้น อารมณ์เป็นที่มายินดีของจิต ในอีกพยัญชนะหนึ่ง เพราะเหตุว่าเขาขาดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตเขาต้องมีอารมณ์ จึงกล่าวว่าอารมณ์เป็นที่มายินดีของจิต ไม่พูดถึงเจตสิกเลย เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้จริงๆ ว่า การศึกษาธรรมของเรา เรากำลังศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระอภิธรรมปิฎก พระมหากรุณาคุณจากพระสุตตันตปิฎก พระบริสุทธิคุณจากพระวินัยปิฎก แต่ทั้ง ๓ ปิฎกจะเห็นทั้ง ๓ คุณธรรมได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะปิฎกหนึ่งปิฎกใด
เพราะฉะนั้น ปัญญาของเราจะไปเท่าของพระองค์ เป็นไปไม่ได้ เรากำลังเริ่มที่จะเห็นการห่างกันมากระหว่างการตรัสรู้กับผู้ที่เริ่มฟัง ผู้ที่เริ่มฟัง เพียงฟังตามที่ทรงแสดงให้สามารถจะเข้าใจได้ แต่ว่าคนฟังจะเข้าใจได้แค่ไหน อย่างแสดงเรื่องของอนุสัย คนฟังจะเข้าใจได้แค่ไหน แต่คิดได้ว่า เวลาที่ขณะนี้เกิดโลภะขึ้น มาจากไหน ถ้าไม่มีพืชเชื้อ อย่างหมอเป็นหมอก็ต้องรู้ว่า มีเชื้อโรค ใช่ไหมคะ ยังไม่ได้ปรากฏอาการ แต่มีเชื้อ เพราะฉะนั้น อนุสัยก็เหมือนอย่างนั้น เพียงแต่เราไม่รู้เลย พวกที่เขามีปัญญาก่อนการตรัสรู้ เขารู้ว่า ทันทีที่เห็นติดแล้ว ต้องการเห็น ต้องการยินดีในการเห็น ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นไม่เป็นที่น่ายินดี แต่ต้องการเห็น มีใครบ้างที่เห็นแล้วไม่ต้องการเห็น มีใครบ้างที่ได้ยินแล้วไม่ต้องการได้ยิน
เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงเห็นก็มีความต้องการที่จะเห็นแล้ว แล้วยิ่งต้องการเห็นสิ่งที่ดีๆ ขวนขวายหาสิ่งที่ดีๆ อันนั้นก็ยิ่งเป็นความต้องการที่เพิ่มขึ้น อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เราเป็นผู้ที่เริ่มฟัง แล้วก็เริ่มเข้าใจเท่าที่จะเข้าใจได้ อย่างน้อยที่สุดใครแสดงเรื่องอนุสัย แล้วใครใช้พยัญชนะคำว่า อนุสยะ สยะ คือ นอน อนุ แปลว่าตาม ตามนอนในจิตทุกขณะ จนกว่าจะถึงโสดาปัตติมรรคจิตเมื่อไร ก็ดับพืชเชื้อของกิเลสนั้นๆ เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว หลังจากที่โสดาปัตติผลจิตดับ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยจะไม่เกิดอีกเลย ทั้ง ๔ ประเภท
เพราะฉะนั้น แม้ในขณะนี้ เราก็ไม่สามารถจะรู้อนุสัยได้ เหมือนคนที่เขาทำสมถภาวนา ถึงรูปฌาน อรูปฌาน เขาก็ไม่รู้ว่า มีอนุสัย เขาคิดว่าเขาหมดกิเลสแล้วด้วยซ้ำไป เพราะว่าขณะใดที่อกุศลธรรมไม่เกิด เขาก็เข้าใจผิด คิดว่าเขาไม่มี แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบว่ามี แล้วก็มีหนทางที่จะดับอนุสัยด้วย เราไม่เรียกคำนี้ก็ได้ หมอไม่อยากเรียกคำว่าอนุสัยก็ได้ แต่สภาพนั้นมีไหม เท่านั้นแหละ เราจะได้ไม่ต้องมามีปัญหาเรื่องชื่อ อนุสัยมีหรือไม่มี เป็นอะไร หรือจะอย่างไร แต่ว่าสิ่งนี้ที่มี แล้วก็เป็นปัจจัยให้มีกิเลส เกิดขึ้น สิ่งนี้ที่เป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้น ถ้าจะดับกิเลสก็ต้องดับสิ่งนั้น คือสิ่งที่เป็นพืชเชื้อให้กิเลสเกิด ถ้าดับพืชเชื้อแล้ว กิเลสก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้น โสดาปัตติมรรคจิต ไม่ได้ดับจิตที่เป็นอกุศลที่เกิดแล้ว เพราะไม่ต้องดับ อกุศลจิตก็ดับ แต่ดับอนุสัยคือพืชเชื้อ หมอจะไม่ใช้คำว่าอนุสัยก็ได้