เวลานอนหลับ อนุสัยมันก็หลับด้วย ใช่ไหม


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๙๗


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าเวลาหลับไม่สงสัย หมายความว่านอนหลับนี่ อนุสัยมันก็หลับด้วย ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ อนุสัยไม่เกิดเลย ต้องเข้าใจว่าอนุสัยไม่เกิด แต่เป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้น หรือเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นทำหน้าที่ตามพืชเชื้อของปัจจัยนั้นๆ ถ้าเรายังคงมีกามาราคานุสัย พระโสดาบัน พระสกทาคามี ยังมีกามาราคานุสัย พระโสดาบันตื่น ท่านก็ชอบสิ่งสวยๆ งามๆ เสียงเพราะๆ รสอร่อยๆ เพราะยังไม่ได้ดับพืชเชื้อของกามาราคานุสัย กาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง ที่เป็นอารมณ์ของภวังคจิต ทำไมถึงไม่ได้ทำให้อนุสัย มันเปลี่ยนเป็นปริยุฏฐานะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ขณะเพราะว่าขณะนั้นเขาทำกิจภวังค์ เป็นวิบากจิต ไม่ใช่วิถีจิต

    ผู้ฟัง วิบากจิตเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตจะแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ อย่างก็ได้ จำแนกจิตได้หลายนัย ประเภท ๑ ไม่ใช่วิถีจิต ได้แก่ปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิด ภวังคจิตขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลับสนิท แล้วขณะสุดท้าย คือ จุติจิต ไม่ต้องอาศัยทวารก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ แต่จะไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย เมื่อไม่มีอารมณ์ปรากฏ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน จะมีกิเลสเกิดได้อย่างไร แต่เมื่อเห็น ได้ยิน กิเลสมาจากไหน

    ธรรมต้องไตร่ตรองหลายๆ แง่ หลายๆ มุม จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่สอดคล้องกัน ถ้ายังคงติดอยู่ตรงนั้นตรงนี้ก็ไม่สอดคล้อง เหมือนอย่างว่า ทำไมมีอกุศลเกิดได้ ถ้าไม่มีพืชเชื้อ เพราะว่าปฏิสนธิจิตมี ถ้าปฏิสนธิจิตไม่มีอนุสัยกิเลส เกิดไม่ได้เลย เหมือนอย่างจุติจิตของพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลส เพราะฉะนั้น หลังจากนั้นไม่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อได้เลย

    ผู้ฟัง เรื่องหลับแล้ว ไม่มีสงสัย หลับแล้วไม่มีอกุศลจิต แล้วถ้าฝันเป็นเรื่องเป็นราว ของชนิดว่า มีข้อสงสัยที่ติดพันมาจากช่วงกลางวัน หลับฝันไปเลยว่า เช่นบางคนมีทะเลาะ อะไรกัน ฝันแล้วสงสัยว่าทำไมเป็นตัวฉัน

    ท่านอาจารย์ วิถีจิต คือ จิตที่อาศัยทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าจิตเป็นนามธาตุซึ่งเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ขณะแรกของชีวิตหรือชาติหนึ่ง จิตขณะแรกคือปฏิสนธิจิต หมายความถึงจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก จิตที่ไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์แต่ละทาง เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เป็นวิถีมุตจิต ถ้าเป็นภาษาบาลี หมายความถึงจิตที่ไม่ใช่วิถี แต่วิถีจิตเขาต้องมีทาง เช่น ต้องมีจักขุปสาท จิตเห็น จึงจะเกิดขึ้น และรู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างนี้ หรือว่าขณะที่เสียงปรากฏ ก็หมายความว่าต้องมีโสตปสาท เพราะเสียงจะกระทบตาไม่ได้ จะกระทบกายไม่ได้ จะกระทบจมูกไม่ได้ ต้องกระทบรูปซึ่งมีลักษณะพิเศษซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน สามารถที่จะกระทบเสียง เพราะฉะนั้น โสตปสาทรูป กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดดับ เกิดดับ พร้อมที่เสียงกระทบเมื่อไร ก็จะทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้น ได้ยิน แล้วแต่ว่าเป็นเสียงที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้น จิตที่อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นเป็นวิถีจิต เพราะว่าไม่ใช่ขณะเดียว จะมีจิตที่เกิดสืบต่อรู้อารมณ์นั้น เพราะอารมณ์หนึ่งที่เป็นรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น เมื่อรูปดับ วิถีจิตก็หมด แต่ว่าระหว่างที่รูปยังไม่ดับ จิตที่เกิดสืบต่อแล้วรู้รูปเดียว ทางเดียวกัน เป็นวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น ก็มีจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต อย่างพอเกิดขึ้นมาขณะแรกดับเลย แล้วกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ทำให้ภวังคจิต คือ จิตชนิดเดียวกันเลยกับปฏิสนธิ เป็นบุคคลนั้นก็ต้องเป็นบุคคลนั้นไปจนกว่าจะตาย เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดสืบต่อ แม้ว่าเป็นจิตประเภทเดียวกัน เจตสิกประกอบเท่ากัน เป็นผลของกรรมเดียวกัน แต่เพราะไม่ได้ทำกิจสืบต่อจากจุติจิต จึงไม่ชื่อว่าปฏิสนธิจิต แต่ทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ จนกว่าจิตที่เป็นวิถีจะเกิด วิถีจิตคืออาศัยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ

    เพราะฉะนั้น เวลาฝัน ใจที่สะสมเรื่องราวที่ปรากฏในวันนั้นทั้งวัน ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง อาจจะรับประทานอร่อยๆ แล้วก็ไปฝันก็ได้ หรือว่าที่สะสมมาในชาติหนึ่งชาติใดทั้งหมด สัญญา ความจำ ก็จะเป็นปัจจัยทำให้มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก เราต้องรู้ว่า วิถีจิตแรกเกิดก่อน แล้ววิถีหลังๆ ถึงจะตามมาได้ เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิต หรืออีกชื่อหนึ่งในความหมายธรรมดา คือ เกิดรู้สึกตัวทางใจนึกคิดขึ้นมา เพราะฉะนั้น ขณะที่นึกคิด แล้วแต่ว่าคิดอะไร กุศลจิตก็เป็นไปในเรื่องที่คิด มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก เราต้องรู้ว่า วิถีจิตแรกเกิดก่อน แล้ววิถีจิตหลังๆ ถึงจะตามได้ เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิต หรืออีกชื่อหนึ่งในความหมายธรรมดา คือ เกิดรู้สึกตัวทางใจนึกคิดขึ้นมา เพราะฉะนั้น ขณะที่นึกคิด แล้วแต่ว่าคิดอะไร กุศลจิตก็เป็นไปในเรื่องที่คิด หรืออกุศลจิตก็เป็นไปในเรื่องที่คิด เป็นความฝัน ก็เป็นวิถีจิต ต้องแยกจิตที่ไม่ใช่วิถีกับจิตที่เป็นวิถีก่อน

    ๖ ทาง ทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง แม้แต่ขณะนี้ เห็นกับคิด แยกกัน เห็นทางตา คิดทางใจ แต่สืบต่อกันได้

    โลกนี่สว่างกี่ทางคะ มีทาง ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่โลกสว่างทางไหน ใน ๕ ทาง สว่างทั้ง ๖ ทาง หรือว่าสว่างกี่ทาง ทางนี้คือทวาร มี ๖ ทาง ทางตา เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหูได้ยินเสียง ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งที่กระทบกาย ทางใจก็คิดนึก

    เพราะฉะนั้น จะสว่างกี่ทาง ทางเดียวเท่านั้น ทางตา พอหลับตา อย่างอื่นปรากฏได้หมดเลย กลิ่นก็ปรากฏได้ เสียงก็ปรากฏได้ อ่อนแข็งก็ปรากฏได้ แต่แสงสว่างปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีจักขุปสาท

    ผู้ฟัง แล้วทางใจล่ะครับ

    ท่านอาจารย์ ทางใจคือคิดนึก คิดนึก เรานอนหลับก็คิดได้ เพราะฉะนั้น ฝันคือคิด แต่คิดเหมือนกับสิ่งที่เราเคยเห็น เหมือนกับฝันเห็นเลย ถ้าเราเคยเห็นงู เราก็ฝัน ในฝันเหมือนเห็นงู เห็นพ่อแม่ เห็นเพื่อนฝูง เห็นอะไรได้หมดเลย เพราะความจำ จึงเหมือนเห็น แต่ไม่ใช่เห็น เหมือนเห็น แต่ไม่ใช่เห็น เพราะเห็นขณะนี้อาศัยจักขุปสาท สิ่งทีปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้จึงปรากฏได้ ถ้าเกิดตาบอดเดี๋ยวนี้ หมดเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อตายังไม่บอด สิ่งที่กำลังปรากฏคืออย่างนี้ พอตาบอดก็คือสิ่งนี้ไม่ปรากฏ เราจำได้ ตาบอดทันที เราจำได้เลย แต่ว่าไม่ใช่เห็น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าโลกสว่าง ทางธรรมที่บอกใจสว่าง ไม่ใช่ทางใจ เพราะคนตาบอดก็สามารถจะเห็นโลกสว่างทางใจ

    ท่านอาจารย์ คืออันนี้เป็นคำเปรียบเทียบ อย่างปัญญาคือแสงสว่าง เพราะเหตุว่าในความมืดสนิท น่าตกใจไหมคะ ไม่มีอะไรเหลือเลย มืดจริงๆ น่าตกใจ แต่ถ้ามีปัญญา แม้มืดอย่างนั้นก็รู้ว่า ขณะนั้นคืออะไร สว่างยิ่งกว่าแสงสว่าง เพราะสามารถที่จะเข้าใจสิ่งซึ่งแม้ปรากฏขณะที่สว่างก็ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าคืออะไร ก็เป็นการเปรียบเทียบเท่านั้นเองว่า ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา เพราะสามารถที่จะเห็นทุกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะที่เราเห็น ไม่ใช่ตามความเป็นจริง เพราะสภาพธรรมเกิดแล้วดับ เราไม่เห็น เมื่อเกิดดับแล้วก็มีสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อรวดเร็วเหลือเกินมากมาย เราก็รวมกันไว้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นได้ตามความเป็นจริง


    หมายเลข 9543
    20 ส.ค. 2567