เป็นโลกของมโนทวาร


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๙๙


    ผู้ฟัง อาจารย์ครับ ขอย้อนกลับถามเรื่องสว่างทางเดียว สงสัยว่าทางมโนทวารก็รู้สืบต่ออารมณ์นั้นทางจักขุทวาร แล้วทำไมถึงเรียกว่าสว่างเพียงทางเดียว

    ท่านอาจารย์ ทางหูเวลาที่จิตได้ยินเกิด แล้วก็มโนทวารรับต่อ สว่างไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่สว่าง

    ท่านอาจารย์ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่สว่าง เพราะฉะนั้น ในนี้คือความหมายอย่างนี้

    ผู้ฟัง คือหมายความว่าต้องรับต่อจากทางจักขุทวาร

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ผ่านจักขุทวารแล้ว อยู่ดีๆ สว่างขึ้นมาเองได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ว่าเป็นเราเห็น ถ้าไม่มีจิต จะเห็นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตต่างหากที่เห็นโดยอาศัยตา และทุกอย่างที่ผ่านทางตา หมดแล้ว หมดเรื่องของทางตา รูปทางตาดับ ทางใจเขารับต่อไว้หมดเลย เพราะฉะนั้น ทางใจเขาจะจำเรื่องราวทุกอย่างที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ทั้งหมดคือทางใจ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ถ้าจะพลิกโลกนี้กลับ เป็นโลกของมโนทวารที่รับสีนิดหนึ่งแล้วก็จำ เสียงนิดหนึ่งแล้วก็จำ กลิ่นนิดหนึ่งแล้วก็จำ เพราะฉะนั้น เขาเป็นธาตุที่มืดสนิท แล้วก็ทำกิจเมื่อมีจักขุทวารก็เห็น โสตทวารก็ได้ยิน เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่มโนทวารเขาจะรับต่อ

    ธรรมอยู่ที่ตัว ไม่ใช่อยู่ในตำรา เวลาฟังธรรม ต้องรู้ว่าทรงแสดงสิ่งที่มีอยู่ แล้วก็เคยไม่รู้ เคยเข้าใจว่า เป็นเรา ให้รู้ว่า ทั้งหมด จิต เจตสิก ก็อยู่ตรงนี้แหละ อย่างคำว่า “จิต” เป็นคำหนึ่งที่ใช้สำหรับธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ใช้พยัญชนะอื่นด้วย เช่น มโน หทัย ปัณฑระ ทุกคำจะมีความหมายของสภาพของจิต อย่างหทัย เป็นสภาพที่เป็นภายใน มีอะไรจะในยิ่งกว่าจิตบ้างคะ ไม่มี แม้เจตสิกที่เกิดกับจิต เพราะมาเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ยังเป็นภายนอกที่เกิดกับจิต เพราะว่า ไมใช่ว่าเจตสิกทั้งหมดจะเกิดกับจิตพร้อมกัน ต้องแล้วแต่ว่าจิตประเภทนี้มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น โดยอายตนะ จำแนกเลย มนายตนะเป็นจิต เจตสิกเป็นธัมมายตนะภายนอก ปัณฑระ ก็หมายความถึงจิตทุกชนิด ทุกประเภท ความหมายคือเป็นสภาพที่ผ่องใส ซึ่งคนส่วนมากจะเคยชินกับปภัสสรัง อย่างในอรรถสาลินี จะแปลความหมายของปัณฑระ ในความหมายของปภัสสรัง แต่ในปฏิสัมภิทามรรคจะแยกออกมาว่า จิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิต หรือวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกุศล และอกุศลก็ผ่องใส ในฐานะที่ว่า เฉพาะตัวจิตล้วนๆ ไม่นับเจตสิก เขาเป็นสภาพที่ไม่ใช่เป็นอกุศล หรือว่ากุศลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสภาพที่ผ่องใส เพราะฉะนั้น ถ้าเราศึกษาโดยละเอียด เราก็จะละเอียดตามคำที่เราเคยได้ยินว่า จิตทำไมมีหลายชื่อ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ ขอเรียนถามท่านอาจารย์ในเรื่องของสติปัฏฐานสูตรก่อนนะครับ ที่ท่านแสดงว่า ในการที่จะรู้ธรรมทั้งภายในทั้งภายนอก ที่รู้ธรรมภายนอกหมายความว่าอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีภายใน และภายนอกหรือเปล่าคะ หรือไม่มี

    ผู้ฟัง คือ มีแต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานสูตรทั้งหมดทรงแสดงตามแต่ก่อนเคยเป็นอย่างไร เคยเข้าใจว่าอย่างไร แล้วความจริงเป็นอย่างไร อย่างเห็นกายในกาย ต้องเข้าใจว่ามีกาย ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด เข้าใจว่ามีกาย แล้วจึงเห็นกายในกาย คือเห็นธรรม

    ผู้ฟัง ก็คือท่านอาจารย์หมายความว่า ก็ในลักษณะในทำนองนั้นเหมือนกันว่า ก่อนโน้น เห็นว่า มีทั้งภายใน ทั้งภายนอก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นธรรม ต้องเห็นว่าเป็นธรรม ธรรมนี้ฟังแล้วเบาสบายหรือหนัก เบาสบายหรือหนัก ขณะที่เข้าใจไม่หนัก ตอนที่กำลังเข้าใจแล้วไม่หนัก โล่งจากความไม่เข้าใจ แต่พอตอนอื่นที่ไม่เข้าใจ หนักหรือเบาคะ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ถามอย่างนี้ต้องสงสัยครับ เพราะว่ามันมีทั้งหนักทั้งเบาครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้บอกแล้ว ขณะที่เข้าใจ ตรงเข้าใจเบา โล่งจากความไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ในขณะที่เข้าใจเบา

    ท่านอาจารย์ เฉพาะตรงขณะที่เข้าใจเป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา และความจริงตัวเข้าใจก็คือ ปัญญาเจตสิก ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย

    ผู้ฟัง แต่ความจริงความไม่เข้าใจมันมากครับท่านอาจารย์ ก็เลยหนัก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็รู้ ว่าตรงเฉพาะที่เข้าใจนั่นแหละเบา เวลาที่ปัญญาเกิด เวลาที่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แล้วปัญญาก็เป็นเจตสิก เราไปเรียนเรื่องปัญญาเจตสิก แต่ขณะที่กำลังเข้าใจ คือปัญญาเจตสิกนั่นเอง ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ตอนที่เข้าใจ ทำให้รู้ว่า ยังไม่เข้าใจอีกเยอะ

    ท่านอาจารย์ ถูกไหมคะ อยู่ที่ความเป็นผู้ตรง ธรรมต้องเป็นผู้ตรง จึงจะได้สาระจากพระธรรม ตรงจริงๆ คือเกิดกับเราอย่างไร ก็เกิดอย่างนั้น ถ้ารู้ว่าไม่เข้าใจเยอะ ก็ถูก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น พอเข้าใจ ก็รู้ว่าไม่เข้าใจอีกเยอะ

    ท่านอาจารย์ ก็ถูก

    ผู้ฟัง ยังรู้ว่ายังโง่อีกเยอะ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น มันไม่โล่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ ขณะที่เข้าใจ ต้องใช้คำว่าชั่วขณะที่เข้าใจ แต่ที่ไม่เข้าใจเยอะ มันก็เลยกลายเป็นหนักเยอะ แต่ขณะใดที่เข้าใจก็พ้นจากความไม่เข้าใจไปชั่วขณะๆ

    อ.อรรณพ การเจริญสติปัฏฐานละอภิชฌา และโทมนัสในโลก อาจารย์ได้กรุณาอธิบายตรงนี้

    ท่านอาจารย์ โลกอยู่ที่ไหนคะ

    อ.อรรณพ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรเป็นโลก

    อ.อรรณพ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ขณะนั้นละอภิชฌาในสิ่งที่กำลังปรากฏนั้น แล้วก็ละโทมนัสในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะรู้ลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรม ความหมายของโลก คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ นี่แน่นอน แล้วก็โลกในพระอริยะก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะถ้าไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นโลกไม่ปรากฏ นอนหลับสนิท โลกไม่ปรากฏเลย ชื่ออะไร เป็นใคร อยู่ที่ไหน สมบัติอย่างไร พี่น้องเพื่อนฝูงอย่างไร ก็ไม่มีเลย เพราะโลกไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น โลกทางตาปรากฏอย่างนี้แหละ สำหรับคนที่มีจักขุปสาท ตาไม่บอด โลกทางหูก็อย่างนี้แหละ แล้วก็มีอยู่แค่ ๖

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์หมายความว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นไม่หวั่นไหวด้วยความยินดียินร้ายชั่วขณะที่สติปัฏฐานเกิด ส่วนเมื่อสติปัฏฐานดับไปแล้ว ชีวิตประจำวันเราก็มีอกุศลอะไรต่างๆ มากมาย ก็ยังคงมีความรัก ความชัง สัตว์บุคคล เป็นโลก

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นโลก ทุกอย่างเป็นโลก ขณะนี้ที่กำลังเห็น แล้วก็ถ้าสติสัมปชัญญะ เกิดกำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังเห็น สภาพเห็นว่ามีจริงๆ แต่ก่อนเป็นเราเห็น ตอนนี้ก็เริ่มที่จะเข้าใจว่า แท้ที่จริงก็คือสภาพชนิดหนึ่ง ธรรมชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรมที่เห็น ขณะนั้นละอภิชฌา และโทมนัส ตรงนั้น ขณะนั้น ไม่ใช่ตรงอื่น


    หมายเลข 9546
    20 ส.ค. 2567