โลภะ โทสะ ความโกรธ ความอะไรๆ ไม่ใช่วิบาก
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๒๐๑
ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ค่ะ เรื่องวิบากกรรม คือ หลายๆ คน เพื่อนร่วมงานที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ไม่รู้ว่ามันมีอะไรขัดใจมาตลอด พี่น้องร่วมกัน บางครั้งก็ไม่เข้าใจกัน ขัดกันมาตลอด มันเป็นวิบากกรรมไหมคะ
ท่านอาจารย์ ในพระพุทธศาสนามีความชัดเจนมากในเรื่องกรรม และผลของกรรม เพราะว่าต้องเป็นสภาพธรรม สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานคงไม่ต้องกล่าวถึง เพราะว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดปรากฏ สำหรับจิต เจตสิก รูป เราเคยเป็นเรื่องเป็นราว เป็นคน เป็นพี่ เป็นน้อง แต่จริงๆ ก็คือ จิต เจตสิก รูป นั่นเอง ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป มีพี่มีน้องไหมคะ เรื่องราวต่างๆ ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า กรรมได้แก่เจตนาเจตสิก เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เฉพาะเจตสิก ๑ คือ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอีก ๕๐ ที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น เจตนาเป็นขันธ์ไหน
ผู้ฟัง สังขารขันธ์
ท่านอาจารย์ เป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพที่ปรุงแต่งจงใจให้เป็นกุศลหรืออกุศล ประการต่างๆ เช่น จงใจที่จะฆ่าสัตว์ เป็นอกุศลเจตนา เจตนาที่จะทำร้ายบุคคลอื่นก็เป็นอกุศลเจตนา เป็นตัวกรรม เป็นตัวกระทำ เป็นสภาพธรรมที่กระตุ้นเตือนให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันเป็นไปอย่างเจตนาที่จงใจนั้น
เพราะฉะนั้นที่เคยยกตัวอย่าง อย่างคนที่ยิงตานก ต้องการที่จะให้เจ็บปวด ไม่มีตา มองไม่เห็น ธรรมจริงๆ คือ จิต เจตสิก รูป จิต เจตสิก รูปของคนที่กำลังคิดอย่างนั้น ที่เราเรียกว่าคนนั้นก็เกิดดับ จิต เจตสิก รูป ของนกก็เกิดดับ เพราะฉะนั้น เจตนาของนกก็เป็นกรรมของนก เจตนาของคนที่จะกระทำกรรมนั้นก็เป็นเจตนาของคนนั้น ซึ่งจะให้ผลเป็นวิบากจิต เพราะว่าจิตที่เกิดเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ อย่าง ที่ใช้คำว่า “ชาติ” ชาติของจิต มี ไม่ใช่ชาติจีน ชาติไทย ชาติมอญ ชาติอะไรเลย แต่ชาติของจิต คือ เมื่อจิตเกิดขึ้น ชา – ติ คือเกิด จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลชั่วขณะหนึ่งก็ดับ จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศลชั่วขณะหนึ่งก็ดับ เป็นเหตุให้เกิดจิตซึ่งเป็นผล คือ วิบากจิต
เพราะฉะนั้น ผลของกรรมไม่ใช่อื่น ไม่ใช่คน ไม่ใช่อะไร แต่เป็นสภาพจิตที่ต้องเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น วิบากแรกที่เกิดในชาติหนึ่งก็คือปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งซึ่งเลือกไม่ได้เลยว่ากรรมไหน แล้วระหว่างที่ยังไม่ตาย พอปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตเป็นวิบากเช่นกัน เป็นวิบากของกรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นคนไหนก็เป็นคนนั้น จนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น ขณะนั้นก็เป็นวิบาก
เพราะฉะนั้น ต้องจำวิบากให้ได้ว่า ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรม ภวังคจิตที่สืบต่อก็เป็นผลของกรรม จุติจิตขณะสุดท้ายก็เป็นผลของกรรม ถ้ากรรมยังไม่สิ้นสุด ปฏิสนธิจิตเกิดไม่ได้เลย อย่างไรๆ ก็ไม่ตาย ยังไม่พ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น จนกว่าจะถึงกาลที่กรรมจะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น จุติจิตจึงจะเกิดขึ้น แล้วดับไป เมื่อจุติจิตเกิดแล้วดับ จะเป็นบุคคลนั้นอีกต่อไปไม่ได้
นี่คือวิบาก ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ แล้ววิบากก็คือว่า กรรมก็ทำให้มีจักขุปสาท สำหรับเห็น มีโสตปสาทสำหรับได้ยิน มีฆานปสาทสำหรับได้กลิ่น ชิวหาปสาทสำหรับลิ้มรส กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัวสำหรับรู้สิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งทำให้เกิดสุขเวทนา ความรู้สึกเป็นสุข หรือทุกขเวทนา ความรู้สึกเป็นทุกข์ พวกนี้เป็นวิบากจิต คือ จิตเห็น เห็นดีเป็นกุศลวิบาก ผลของกรรมดี เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลวิบาก
นี่คร่าวๆ ตามนัยของพระสูตร ซึ่งไม่ได้แสดงโดยละเอียดถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะซึ่งเป็นวิบากอีกที่เกิดสืบต่อกัน แต่เท่าที่เราจะรู้ได้ที่ทรงแสดง คือ เห็น ทุกคนมี ได้ยินก็มี เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นกุศลวิบาก ได้ยินเสียงที่น่าพอใจเป็นกุศลวิบาก ได้กลิ่นที่น่าพอใจเป็นกุศลวิบาก ได้รสที่อร่อยน่าพอใจเป็นกุศลวิบาก กระทบสิ่งที่สบายเป็นกุศลวิบาก ทางอกุศลวิบากก็ตรงกันข้าม นอกจากนั้นไม่ใช่วิบาก เท่านี้ค่ะ จบ
ผู้ฟัง ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่ลืมว่า วิบากคือเท่านี้ แต่โลภะ โทสะ ความโกรธ ความอะไรๆ สืบต่อซึ่งไม่ใช่เห็น ได้ยิน พวกนี้ ไม่ใช่วิบาก เป็นเหตุใหม่ที่จะให้เกิดผลข้างหน้า
ทีนี้ต้องถามใครอีกไหมคะ ว่าเป็นวิบาก หรือไม่เป็นวิบาก ตายตัวอยู่แล้ว แค่เห็น แค่ได้ยิน แค่ได้กลิ่น แค่ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบาก พระอรหันต์ก็มีตาเห็น มีผลของกรรม บางทีท่านก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจได้ พระพุทธเจ้าก็ประชวร มีกายปสาททำให้เกิดทุกขเวทนาเป็นผลของอดีตกรรม ตัวจิตที่กำลังเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นวิบาก แต่หลังจากนั้นท่านไม่มีกิเลส แต่สำหรับคนที่มีพี่มีน้องได้ยินเสียงที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ขณะที่ได้ยินเป็นวิบาก แต่เวลาที่ไม่พอใจ หรือโทมนัส ขณะนั้นไม่ใช่วิบาก เป็นเหตุสะสมสืบต่อไปที่จะให้มีอัธยาศัยอย่างนั้น ถ้าเป็นอัธยาศัยของพระอรหันต์ก็คือไม่มีกิเลสใดๆ เลย เห็นอย่างเดียวกันกับคนอื่น เห็นอย่างเดียวกันกับปุถุชน กับพระโสดาบัน กับพระสกทาคามี กับพระอนาคามี แต่พระอรหันต์ไม่มีกิเลสเลย