พระสัพพัญญุตญาณ และพระทศพลญาณ
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๒๐๓
ผู้ฟัง จะขอเรียนถามท่านอาจารย์ให้อธิบายความหมายของพระสัพพัญญุตญาณ และพระทศพลญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ ย่อที่สุดคือปัญญาเหนือบุคคลอื่นใด แล้วเราไม่มีโอกาสจะรู้ เราพูดทศพลญาณ ญาณ ๑๐ ญาณ ทศ แปลว่า ๑๐ พล แปลว่ามีกำลัง พระญาณที่มีกำลังเหนือบุคคลอื่นใด ๑๐ ประการ เราเรียกชื่อได้ เราอ่านหนังสือได้ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะฉะนั้น การที่เราจะศึกษาธรรม เริ่มจากความรู้ของเราก่อนว่า เมื่อเราฟังแล้ว เรารู้อะไร เข้าใจอะไร แล้วเราถึงจะค่อยๆ เข้าใจไปถึงอันนั้นได้ แต่ต้องเริ่มจากการที่เราเข้าใจเองว่า เราเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็อย่างทศพลญาณโดยชื่อ พระญาณที่มีกำลัง ๑๐ ประการ ซึ่งไม่ใช่ของบุคคลอื่น ไม่สาธารณะทั่วไปกับใครเลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ลองคิดดู ใครรู้บ้างว่า เป็นธรรม ตั้งแต่เกิดมา ถ้าไม่ได้ฟังจริงๆ เราจะไม่รู้เลยว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะธรรมหมายความถึงทุกสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม แล้วก็ใครก็เปลี่ยนลักษณะของธรรมไม่ได้เลย เพราะธรรมที่มีจริงซึ่งใครเปลี่ยนลักษณะไม่ได้ คุณไพฑูรย์เรียกว่าอะไรคะ จำได้ไหมคะ ปรมัตถธรรม มาจาก คำว่า ปรม อัตถ ธรรม ธรรมก็คือธรรม อัตถ ทีนี้หมายความถึงลักษณะ ปรม ก็คือ ความยิ่งใหญ่ หมายความว่าใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้เลย ความโกรธเกิดขึ้นหยาบกระด้าง ใจไม่เหมือนปกติ แล้วก็ประทุษร้ายด้วย ไม่มีใครชอบความโกรธ เกิดร่วมกับความรู้สึกเสียใจ โทมนัส ขณะนั้นจิตใจไม่เป็นสุขแน่ ขณะที่โกรธเกิดขึ้น แล้วใครก็จะเปลี่ยนลักษณะโกรธให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นั่นคือปรมัตถธรรม
เพราะฉะนั้น นอกจากคำว่าธรรมแล้ว หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ เป็นอย่างนั้นเปลี่ยนไม่ได้ เป็นปรมัตถธรรม แล้วสำหรับพระไตรปิฎกมี ๓ พระวินัยปิฎก พระสุตตันปิฎก พระอภิธรรมปิฎก มีพระปรมัตถปิฎกไหมคะ ไม่มี แต่ใช้คำว่าพระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่ถ้าอ่านแล้วจะเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอย่างอื่น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุ เราอ่านได้ไหมคะ อ่านแล้วเป็นอย่างไรถ้าอ่านแล้ว เห็นความละเอียดของกาย วาจา เราจะไม่รู้เลยว่า กาย วาจาของเราวันหนึ่งๆ ไปทางไหน ไปทางที่ควรหรือไปทางที่ไม่ควร แต่ถ้าอ่านพระวินัยแล้ว เราจะมีกาย วาจาที่งดงามขึ้นแน่นอน ถ้าเรารู้ว่า เป็นสิ่งซึ่งเราประพฤติปฏิบัติตามได้ แม้ว่าเป็นสิ่งที่บัญญัติไว้สำหรับพระภิกษุให้ปฏิบัติในเพศของบรรพชิต เพราะว่าเพศของบรรพชิตต้องต่างกับคฤหัสถ์ ถ้าไม่มีการขัดเกลาเลยจะละกิเลสได้อย่างไร เพราะฉะนั้น กายวาจาที่จะละอกุศลแม้เพียงเล็กๆ นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่ถึงการดับให้หมดเลย ก็มีบัญญัติไว้ ถ้าเราเป็นคนที่ศึกษาตัวเอง เราจะรู้เลยว่า คำพูดของเราเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อย่างคนในบ้านเรามีตั้งหลายคน คนหนึ่งก็พูดดีกับคนที่ช่วยเหลืองานในบ้าน เราก็รู้เลยว่า จิตเป็นอย่างไร ถ้าจิตเป็นอย่างหนึ่ง วาจาก็เป็นอย่างนั้น ถ้าจิตเป็นอีกอย่างหนึ่ง วาจาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เราก็สามารถที่จะรู้ได้ แม้เพียงได้ยินเสียง ก็ส่องไปถึงใจได้ว่า ใจขณะนั้นเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น ศึกษาพระวินัยมีประโยชน์มาก ทำให้เราได้เข้าใจ แม้แต่การรับประทาน การเก็บข้าวของ การอะไรทุกอย่าง ทำไมถึงสอนอย่างนั้นละเอียดอย่างนั้น เพราะว่าใครจะสอนเราเท่าพระพุทธเจ้า พ่อแม่สอนเราอย่างหนึ่งจริงตั้งแต่เด็ก พอเราโตแล้วท่านก็ไม่ได้สอนอะไรอีก แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสอนพระภิกษุให้ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นต่อไป ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติก็ผิด จะต้องปลงอาบัติ มีการสำนึกตนว่า ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต ถ้าเป็นบรรพชิตต่อไปก็ต้องรู้สึกตัว แล้วก็ทำให้ถูก นั่นคือพระวินัยบัญญัติ ดับกิเลสได้ไหมคะ คุณกิตติ ศึกษาพระวินัยบัญญัติ ไม่พอเลย เพียงเรื่องของกายวาจา แต่ทีนี้วันหนึ่งๆ เราก็ไม่ได้มีแค่เพียงกายวาจา เท่านั้นที่เป็นพระวินัยบัญญัติสำหรับพระภิกษุ ซึ่งคฤหัสถ์ก็อ่านได้
สำหรับพระสุตตันตปิฎกก็แสดงถึงสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน เสด็จไปที่ไหน แสดงธรรมกับใคร เรื่องอะไร ซึ่งผู้ฟังเพียงฟังนิดเดียวสามารถเห็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้าได้ เพราะว่าท่านเหล่านั้นสะสมมามาก เช่นพูดถึงเรื่องความโลภ ความติดข้อง คนนั้นรู้เลยว่าเขามี พอพูดถึงเรื่องความโกรธ คนนั้นก็รู้อีกว่าเขามี พอพูดถึงเรื่องการไม่รู้ลักษณะของธรรมหรือไม่รู้จักธรรม คนนั้นก็รู้อีกว่าเขามี เพราะฉะนั้น เขาฟังธรรมด้วยความเข้าใจจริงๆ ในธรรม เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสเพียงแค่เรื่องโลภะ โทสะ โมหะ สรรเสริญ ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะว่าส่วนใหญ่คนต้องการเอา ต้องการได้ ไม่ใช่ต้องการละ แล้วน่ากลัวสักแค่ไหน ได้ไม่จบ เอาไม่จบ มีใครจบบ้างไหมคะ ได้อะไรมา พอไหมคะ ไม่เคยพอเลย ต้องการอยู่ตลอดไป แต่หนทางของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับกัน เพราะเหตุว่าถ้าเราหวังได้ แล้วเราไม่ได้สิ่งที่เราหวัง เราเป็นทุกข์ เราหวังเกิด แล้วก็ไม่แก่ พอแก่ก็เป็นทุกข์ พอเจ็บก็เป็นทุกข์ ก่อนจะตายก็เป็นทุกข์อีก เพราะรู้ว่าอย่างไรๆ ก็ต้องตาย แต่หนทางของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ความทุกข์ของเราก็น้อยลง เป็นเรื่องละทั้งหมด ถ้ามีคนบอกว่าทำอย่างนี้แล้วจะรวย เอาไหมคะ พระธรรมสอนอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าศึกษา เรารู้เลย นี่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนเหตุของความลำบากยากจน ทรงสอนเหตุของความร่ำรวยด้วย แต่ไม่ได้บอกว่า ถ้าสวดมนต์แล้วจะรวยหรืออะไรอย่างนี้ อันนั้นต้องไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ถ้าเราสวดมนต์ เราก็อยากหวัง ถ้าท่านบอกให้หวังรวย เราก็หวังรวย พอรวยแล้ว เราก็ชอบ ชอบแล้วก็สวดอีกๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้นอีก ติดไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อไรเราจะเอาความติดข้องของเราออกไปได้ ใครอยากติดมากๆ บ้างไหมคะ แต่เห็นไหมคะ พอไม่รู้ก็ต้องติด เราเลยรู้หนทางจริงๆ ว่า ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้ว อะไรๆ ก็ไปละโลภะไม่ได้ ก็มีชีวิตตามปกติ แต่มีความเข้าใจธรรมถูกต้องขึ้นตามเหตุ และตามผล ไม่ใช่ต้องไปทำอะไรให้ลำบากไปทุกข์ยาก ไปอะไร ซึ่งมันก็ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ทำไปเพราะหวังอย่างนั้น หวังอย่างนี้