ทำดีและศึกษาพระธรรม


    ท่านอาจารย์ ก็เกิดมาแล้ว จะทำอะไรดี ระหว่างดีกับชั่ว เมื่อเกิดมาแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ควรจะทำอะไร

    อ.กุลวิไล ก็ควรทำความดีพร้อมกับศึกษาพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ชีวิตนี้จึงมีค่าคุ้มกับการเกิดมา ไม่เป็นโทษเป็นภัยแม้กับตนเอง และคนอื่นเลย และยังสามารถช่วยเหลือบุคคลอื่นได้ด้วยจากการเป็นคนดี และเข้าใจธรรม ดีสักเท่าไรก็ตามในโลกนี้ ไม่ว่าใครที่ไหนจนกระทั่งถึงความเป็นอรูปพรหมบุคคล แม้ความดีนั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    จริงๆ แล้วทุกคนเห็นกันมานาน แล้วแต่ว่าใครจะมาที่นี่กี่ปี แล้วมาบ่อยหรือไม่บ่อย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนมองข้าม ไม่เห็น ก็คือความเห็นแก่ตัวของทุกคน ชักตกใจ แต่เป็นความจริงหรือเปล่า แม้สักเล็กน้อยนิดหน่อย ส่องลงไปถึงความเห็นแก่ตัวทั้งสิ้น แต่ต้องเป็นปัญญาที่เห็น ไม่ว่าใครจะทำความดี หมดความเป็นตัวหรือยัง ยังเห็นแก่ความดีนั้นจะตอบสนองเมื่อไร อย่างไร เขาจะว่าเราทำไมในเมื่อเราทำดีถึงปานนี้ ทั้งหมดก็คือความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ซึ่งถ้าไม่มองให้ลึกซึ้งไม่เห็น แต่จริงๆ แล้วทุกคนเห็นแก่ตัว แน่นอน เพียงแต่จะมากจะน้อย จะปรากฏเมื่อไร ที่กล่าวว่า ดีเท่าไรก็ยังไม่บริสุทธิ์ถ้ายังไม่เข้าใจธรรม

    อ.วิชัย ขณะที่เห็นแก่ตัว ขณะนั้นคือไม่รู้ นอกจากจะเข้าใจถูกว่า ลักษณะของความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ตราบใดที่ยังเป็นตัว เลือกทำดีทำไม เพื่อใคร หรือว่าเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเราเลย ธรรมฝ่ายดีก็เป็นธรรมฝ่ายดี เกิดขึ้นเป็นธรรมฝ่ายดีแล้วก็หมดไป ไม่ใช่ของใคร แต่ถ้าเลือกทำความดีเพื่อใคร ต่างกันแล้วใช่ไหมคะ นั่นคือความเห็นแก่ตัว ลึกลงไปก็คือยังเห็นแก่ตัว ถ้าไม่รู้จริงๆ ไม่เข้าใจจริงๆ ดับกิเลสไม่ได้เลย เพราะว่าโลภะจะติดตามไปเหมือนช่องว่างระหว่างกลาปะ แม้ขณะนี้ไม่ปรากฏ ก็มาแล้วในอากาศ มองไม่เห็น แต่ก็พร้อมจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเมื่อไร

    อ.อรรณพ ทำดี และศึกษาพระธรรม และท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงความเห็นแก่ตัว แม้กระทั่งการทำความดี เพราะฉะนั้นหมายความว่า การศึกษาพระธรรมจะขัดเกลาให้เห็นความเห็นแก่ตัวแม้จะทำดีหรือครับ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจความจริงเมื่อไร เมื่อนั้นเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น จะเอาความไม่รู้ออกไปได้อย่างไร ถ้าไม่มีปัญญา เพราะไม่รู้จึงเห็นแก่ตัว

    อ.อรรณพ ความเห็นแก่ตัวในการทำความดี เป็นอย่างไรบ้างครับ

    ท่านอาจารย์ ทำเลย รู้เลย ไม่ต้องไปหาตัวอย่างที่ไหน ถ้าจะเข้าใจประโยคก็คือ ขณะที่ทำความดี รู้สึกอย่างไร ถ้าทำความดีด้วยความเข้าใจจริงๆ ขณะนั้นไม่ได้เห็นแก่ตัว เพราะปัญญาละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ถ้าไม่เข้าใจธรรมเลย ความดีที่ทำนั้นเพื่อใคร แล้วถ้าเข้าใจธรรมบ้าง ไม่เข้าใจธรรมบ้าง ก็เป็นกาละที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นปัญญาที่เข้าใจถูกในความไม่ใช่ตัว เพราะรู้ว่า แม้สิ่งที่จะเกิดซึ่งเป็นผลของความดีก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้ติดข้อง แต่ว่าผลต้องมีตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเราจะหมดความเห็นแก่ตัวหรือความเป็นตัวตนได้อย่างไร ถ้าปัญญาไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง แต่เพราะฟังธรรม ไม่ได้เพียงแต่ทำดี ก็จะเข้าใจถูก เห็นถูกจนกระทั่งละความเห็นแก่ตัว เพราะรู้ว่าไม่มีตัว แต่มีธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ทุกวันนี้พิสูจน์แล้วว่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยทั้งหมด

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ข้อความสั้นๆ ว่า ทำดี และศึกษาพระธรรม จึงกว้างขวาง และยาวนานมาก ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่จบ จนกว่าเสร็จกิจ กิจที่ควรกระทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นยิ่งกว่านี้ไม่มี คือ กิจที่จะเข้าใจความเป็นจริงของธรรมจนดับกิเลสได้หมดเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น ใครที่มีอกุศลมาก ไม่อยากมีเลย แต่ไม่เข้าใจธรรมเลย กำลังอยากนั่นก็เป็นอกุศลแล้วก็ไม่รู้

    อ.คำปั่น จะทำดีโดยไม่เข้าใจพระธรรมเลยก็ไม่ได้ หรือมุ่งจะศึกษาพระธรรมอย่างเดียวก็ไม่ได้ ก็ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ด้วย ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ แม้แต่ขณะนี้กิเลสมากเหลือเกิน ถ้ามองดูเหมือนกับอยากจะผ่าออกมาอีก ก็มืดสนิทด้วยอวิชชา และอะไรจะเป็นเครื่องค่อยๆ ขัดเกลา อยากจะมีปัญญา แต่ถ้าไม่มีคุณความดีอื่นๆ เลย จะไหวไหม จะเอาปัญญามาจากไหน ถ้าถูกกลุ้มรุมด้วยความไม่ดีหรือความต้องการอยู่ตลอด ด้วยเหตุนี้ไม่ประมาทในกุศลทุกประการ และกุศลนั้นก็คือบารมี เป็นเครื่องนำไปสู่การมีจิตเบาสบาย ปลอดโปร่ง ไม่ต้องกังวลเดือดร้อนด้วยอกุศลซึ่งพัวพันทำให้สามารถฟังธรรมก็เข้าใจ แต่ลองคิดดู เวลานี้ฟังธรรมแล้วเข้าใจแค่ไหน ระหว่างที่ไม่เข้าใจ เพราะอะไร ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล เบื่อไหม ซ้ำๆ ง่วงหรือเปล่า ตอนนี้ไม่ต้องเข้าใจ ไปคิดตอนที่เราอยากรู้แล้วมาถามดีกว่า จะได้เข้าใจตรงที่อยากจะรู้ ใช่ไหมคะ ทั้งหมดเป็นความดีพร้อมหรือเปล่าที่ทำให้เข้าใจธรรม เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว การเป็นผู้ตรงต่อความจริงว่า การฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจด้วยตัวเองได้ แต่ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง ไม่ใช่ความเข้าใจของคนอื่นที่จะบอกว่า ถูกไหม อย่างนี้ดีไหม หรืออะไรเป็นต้น

    นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดต้องมีปัจจัยพร้อมที่จะทำให้แม้ฟังขณะนี้ เข้าใจแค่ไหน บุญเก่าที่ได้กระทำแล้วนำมาจนถึงการได้ฟังธรรม แต่ก็ยังมีอุปสรรคได้ เพราะเหตุว่าอกุศลก็มากมายที่สะสมมาก็พร้อมที่จะเป็นปัจจัยเกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้มั่นคงแล้วตรง แล้วเห็นประโยชน์จริงๆ


    หมายเลข 9557
    19 ก.พ. 2567