สัญญาที่มั่นคง เป็นแบบไหน
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๒๑๒
ผู้ฟัง เรียนท่านอาจารย์ เคยได้ยินบอกว่า สัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติปัฏฐาน สัญญามั่นคงแบบไหนคะ
ท่านอาจารย์ สัญญาเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกชนิด ทุกขณะ ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าจิตเกิดแล้วจะไม่มีสัญญาเจตสิกเกิดไม่ได้เลย ต้องมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สัญญามีทั้งจำผิด และจำถูก มีทั้งกุศล และอกุศล ถ้าไม่ฟังเรื่องธรรมแล้วเราจะเอาสัญญาอะไรมาเป็นเหตุใกล้ให้สติสัมปชัญญะเกิด เพราะฉะนั้น เพียงแค่ได้ยินว่า สัญญาที่มั่นคง เรารู้แล้ว ต้องเป็นสัญญาที่มั่นคงจากการฟังธรรม และเข้าใจ ไม่ใช่สัญญาอื่น มิฉะนั้นสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ได้อย่างไร ถึงแม้ไม่กล่าว แต่ความหมายต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน เหมือนกับสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกมีหลายระดับ กำลังฟังธรรม ขณะนี้เข้าใจก็เป็นปัญญาเจตสิก เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดร่วมกับสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ถ้าระดับนั้นก็คือว่าระลึกลักษณะของธรรม ไม่ใช่เพียงพอธรรมปรากฏก็เป็นเรื่องเป็นราว แต่พอมีธรรมปรากฏก็รู้ลักษณะ ระลึกลักษณะไม่ใช่ระลึกเรื่อง รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง อันนั้นเป็นสัญญาอันหนึ่งใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท แล้วแต่ว่าจิตนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่ได้ฟังธรรม จะเอาสัญญาที่เข้าใจธรรมมาจากไหน
ผู้ฟัง อันนั้นนับว่าเป็นสัญญาที่มั่นคง
ท่านอาจารย์ สัญญาที่มั่นคง คือสัญญาที่เข้าใจธรรมอย่างมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม สติจึงจะระลึกขณะนี้ เพราะว่าเป็นธรรม ถึงแม้ไม่ได้กล่าว โดยเหตุผลต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน จะเป็นอื่นไปไม่ได้ หรือแม้แต่สมาธิ สัมมาสมาธิ ไม่ใช่สมาธิอื่น ไม่ใช่ไปนั่งทำสมาธิอื่นแล้วมาเข้าใจลักษณะของนามธรรม รูปธรรม ไม่ใช่ ต้องสัมมาสมาธิที่เกิดร่วมกับสัมมาสติ พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจากการฟัง จากการเข้าใจจากการฟังอย่างมั่นคง ก็เป็นปัจจัยให้สัมมาสติระลึกพร้อมกัน สัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ อันอื่น ไม่ต้องมีใครไปทำอะไรเลย อย่างในขณะนี้กำลังเห็น ไม่ต้องมีใครไปทำอะไรกับเจตสิก ๗ ดวงให้เกิดขึ้น ขณะเห็น เจตสิกก็เกิดพร้อมจิตแล้ว ๗ ประเภท เวลาที่โทสะเกิด ก็ไม่ต้องมีใครไปทำให้อวิชชาเกิด ก็ต้องมีโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุจธัจจะเกิดแล้ว ไม่มีใครต้องไปทำอะไรสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เวลาที่สัมมาสติเกิด ก็ไม่ต้องมีใครไปทำให้สัมมาวายามะเกิด ไม่ต้องไปพากเพียรอะไรต่างหาก เพราะขณะนั้นสติเกิด ก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว แล้วก็มีสัมมาสมาธิเกิดร่วมด้วยแน่นอน ไม่มีใครไปทำอะไร เป็นหน้าที่ของมรรคแต่ละองค์