โทษของโลภะ ----- ๒๑๖


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๒๑๖


    ผู้ฟัง อยากขอให้ท่านอาจารย์ขยายหน่อยครับ โทษของโลภะ แล้วอาการที่เราควรสังเกต คิดพิจารณาบ่อยๆ ถึงโทษของเขา ทั้งโลภะ ทิฏฐิ มานะ เป็นเครื่องเนิ่นช้า ต่อปัญญาอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ อย่างอวิชชา เรารู้ไหมคะว่า ชื่อมี แต่เมื่อไร ที่เป็นอวิชชา ทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล จะต้องมีอวิชชานี่แน่นอน และอวิชชาที่เราพอจะรู้ได้ ก็คือกำลังเห็น เข้าใจถูก ว่าเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นปัญญาหรือเป็นอวิชชา ไม่ไกลตัวเลย ปฏิจจสมุปบาท หรืออะไรก็แล้วแต่ อวิชชาก็ไม่ไกล สภาพธรรมก็ปรากฏทั้งวัน ก็ไม่รู้ทั้งวัน เพราะฉะนั้น อวิชชาก็คือ อวิชชาในสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาก็คือปัญญา เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าเราไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยจริงๆ อย่างเห็นอย่างนี้ ถ้าตาบอดไม่มีจักขุปสาท เห็นก็เกิดไม่ได้เลย เราไม่เคยคิดเลย เพราะเหตุว่าเรามีเห็นอยู่ตลอด แต่ถ้าคิดว่า สักวันหรือเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าเกิดตาบอดไป สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะปรากฏไม่ได้เลย เมื่อนั้นจะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็คือแค่เห็น ไม่ใช่คิด เพราะว่าถ้าตาบอด สิ่งนี้ไม่ปรากฏเลย ยังไม่ต้องไปพูดเรื่องคิด พูดถึงสิ่งนี้ที่กำลังปรากฏ แต่กว่าเราจะรู้ว่าเป็นอย่างนี้ ขณะใดที่เราหลงลืม ขณะนั้นก็คืออวิชชาที่ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า นี่เป็นธรรม ที่เพียงเกิดแล้วก็ปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาท จึงมีการเห็นเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วก็ดับไป นี่คืออวิชชา แล้วก็เพราะความไม่รู้ เราติดทันที เห็นมีใครบ้างที่ไม่อยากเห็น เหมือนอย่างจิต มีอารมณ์ อารัมมณะ หมายความว่า สิ่งที่ถูกจิตรู้ เป็นที่มายินดีของจิต เพราะจิตจะปราศจากอารมณ์ไม่ได้เลย เมื่อมีจิตต้องมีอารมณ์ ความที่เขาคุ้นเคยกัน การที่จะต้องมีพร้อมกัน การที่ต้องรู้สิ่งนั้น ก็คือสิ่งนั้นเป็นที่มายินดีของจิต จิตจึงเกิดขึ้น มีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์

    นี่ก็คือ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าอะไรจะกระทบตา เกิดความพอใจ กระทบหู พอใจ ทุกคนเห็นแล้วก็อยากเห็น ได้ยินแล้วก็อยากได้ยิน ถ้าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเลย จะอยากอะไร แต่เมื่อมีสิ่งนี้ จึงอยากในสิ่งนี้ อย่างรูปขันธ์ รูปมีทั้งหมด ๒๘ รูป แต่รูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวันจริงๆ ๗ รูป ในพระไตรปิฎก ใช้คำว่า โคจร หรือ วิสยะ หรือบางทีก็ใช้ โคจรวิสยรูป หมายความถึงรูปที่ปรากฏเป็นประจำ แค่ ๗ เราก็ติดเสียหนักหนา ติดสิ่งที่ปรากฏทางตามาก ใครว่าน้อย ทุกอย่างต้องสวย เป็นที่พอใจไม่ว่าจะเป็นผม เป็นหน้า เป็นทรัพย์สิ่งของใดๆ ทั้งนั้นที่ปรากฏแก่ตา ติดทันที อย่างนี้ค่ะ ฉาบทา เนิ่นช้า นี่เฉพาะในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ถ้าเป็นในเรื่องความเห็นผิด จะเนิ่นช้าสักเท่าไหน ตราบใดไม่มีความเห็นถูกเกิดขึ้น ความเห็นผิดก็ยิ่งลึก และยิ่งแน่นขึ้น เป็นอุปาทาน เป็นทิฏฐุปาทาน การยึดมั่นในความเห็น ทำไมเราไม่ทิ้งความเห็นผิด เพราะเราติดในความเห็นนั้นมานานแสนนาน

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทิ้งยาก แม้ว่าจะเห็นผิดก็ยังทิ้งยาก อย่างบางคนเขาก็ฟังธรรม แล้วเขาก็รู้ว่า ธรรมก็คือปัญญาที่สามารถรู้ถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ แต่เขาก็ไปนั่งทำสมาธิ แล้วอย่างนี้ยังไงคะ ฉาบทาหรือเปล่า โลภะฉาบทาไม่ให้เห็นถูก แล้วยังมีอุปาทานยึดมั่นในสิ่งนั้นด้วย ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเรารู้จักตัวเราจริงๆ อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดยิบ เราจะรู้ว่า มันคือสิ่งที่แย่มากเลย ทั้งสกปรก ทั้งเน่า ทั้งอะไรสารพัดอย่างด้วยอกุศล แล้วกว่าจะรักษาสภาพของจิตที่มากด้วยอกุศล ให้ค่อยๆ จางจากอกุศล จึงจะไม่มีที่เนิ่นช้าได้ เพราะเหตุว่าอย่างที่คุณแจ๊คกล่าวถึง เป็นเราโดยตัณหา โดยมานะ โดยทิฏฐิ


    หมายเลข 9568
    21 ส.ค. 2567