ความรวดเร็วของจิต


    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญคือให้ทราบว่าทางตา พวกวิถีจิตต่างๆ ซึ่งเกิดแต่ละวาระ เช่น ทางตาที่กำลังเห็นมีจิตที่เป็นวิถีหลายประเภท และก็หลายขณะ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจักขุวิญญาณเท่านั้น ยังมีจิตอื่นซึ่งเกิดต่อด้วย แต่เราไม่มีโอกาสจะทราบลักษณะ แล้วก็กิจการงานของจิตต่างๆ เหล่านั้น เพราะเหตุว่าเป็นไปเพียงขณะเดียวอย่างรวดเร็ว เช่นจักขุวิญญาณจะเกิด ๒ ขณะในวาระหนึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เวลาที่รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ กระทบกับจักขุปสาทรูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ เกิดก็ล่วงไปแล้ว ๑ ขณะ แล้วก็ยังกระทบกับภวังค์ เป็นอตีตภวังค์ แล้วก็ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ ให้เห็นว่า จิตที่เกิดขึ้นทำกิจแต่ละขณะนี้สั้นมากทีเดียว อย่างจักขุวิญญาณที่เราคิดว่า กำลังเห็นตลอดเวลา แท้ที่จริงเพียงขณะจิตเดียว แล้วเมื่อจักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้น แล้วใครจะรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิต หรือว่าจิตซึ่งเกิดต่อ ซึ่งทำกิจเพียงขณะเดียว

    นี่แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นปัญญาของผู้ที่ตรัสรู้ จริงๆ ที่สามารถที่จะแสดงให้เห็น ให้เข้าใจได้ว่า การเห็นซึ่งเราคิดว่าสืบต่อนานมาก ให้เห็นอายุที่สั้นของจิต ซึ่งเราคิดว่าแต่ละคนมีอายุยืนยาวมาก แต่ความจริงจิตทุกขณะมีอายุเท่ากัน คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ไม่ว่าจะเป็นจิตในมนุษย์ หรือว่าเกิดเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย หรือว่าเป็นเทพ เป็นพรหมก็ตาม จักขุวิญญาณหรือจิตอื่นๆ จะมีอายุที่สั้นแสนสั้น

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาให้เห็นลักษณะจริงๆ ของจิต เพื่อที่จะได้เห็น ความเป็นอนัตตา แม้แต่จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้ เราก็อาจจะคิดว่ามีความสำคัญเหลือเกิน แต่ความจริงให้ทราบว่าจักขุวิญญาณต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย สัมปฏิจฉันนะก็ต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ใครจะรู้หรือไม่รู้ จะให้มีแต่จักขุวิญญาณ หรือคิดว่าเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้นที่เห็นในขณะนี้ ก็ผิด เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณสั้นมาก แล้วสัมปฏิจฉันนะซึ่งเป็นวิบากจิตก็ต้องเกิดสืบต่อตามเหตุตามปัจจัย เพราะเหตุว่ากรรมทำให้วิบากจิตทั้งหลายเกิดสืบต่อกัน แต่ในความรู้สึกของเราซึ่งไม่รู้ ความจริงของสภาพธรรม ตัวสำคัญก็คือความติดในวิบากจิต เช่น จิตที่เห็นสิ่งต่างๆ หรือจิตที่ได้ยินเสียงต่างๆ ให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วถ้ารู้ความจริงว่า เป็นผลของกรรมซึ่งต้องเกิดทำกิจการงานยับยั้งไม่ได้ เพียงแต่ละขณะเท่านั้น แล้วก็ซ้ำไปซ้ำมาในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเห็นมานานแสนนาน ถึงใครจะจุติ ปฏิสนธิ เกิดอีกก็เห็นอีก สืบต่ออย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้น ทำกิจเห็นสืบต่อมานานแสนนาน บ่อยแสนบ่อยในสังสารวัฏฏ์ ก็เป็นสิ่งซึ่ง เราควรจะได้ทราบความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วความติดหรือความต้องการซึ่งเป็นกิเลสวัฏฏ์ ต่อจากวิบากวัฏฏ์ ทำให้สังสารวัฏฏ์ไม่สิ้นสุด

    เพราะฉะนั้น การที่เราจะศึกษาเรื่องความละเอียดของจิต ก็เพื่อให้เข้าใจความไม่ใช่ตัวตน เพื่อที่จะให้สติปัฏฐานมีการระลึกได้มากขึ้นหรือว่าบ่อยขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ในขณะนี้เรายังไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิตได้ก็ไม่เป็นไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ในขณะนี้ ไม่มีทาง เพราะว่าเพียงชั่วขณะเดียว จะสั้นสักแค่ไหน เวลานี้เหมือนกับว่าจิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกัน ทำไมถึงเสมือนอย่างนั้นได้ ก็เป็นเพราะว่าความรวดเร็วของจิต แต่ให้ทราบว่าไม่ใช่ความรวดเร็วของจิต ๒ ดวงหรือ ๒ ขณะ แต่ความรวดเร็วของจิตมากมายกว่านั้น เพราะเหตุว่าในระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน ก็จะต้องมีจิตอื่นเกิด แม้แต่ในวาระเดียวกันเมื่อจักขุวิญญาณดับ ก็ต้องมีสัมปฏิจฉันนจิตเกิด เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่ใครจะไปรู้เรื่องของสัมปฏิจฉันนจิตได้

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ


    หมายเลข 9569
    18 ส.ค. 2567