เข้าใจธรรมเมื่อพิจารณามากขึ้น


    ผู้ฟัง คำว่า “พิจารณา” จะมี ความหมายมากน้อยประการใด เป็นการแสดงถึงการปฏิบัติด้วยหรือเปล่า การพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีตั้งแต่ขั้นฟัง แล้วก็สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง ถึงแม้ว่าเป็นคำธรรมดา แต่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นยากต่อการที่จะเข้าใจหรือเปล่า ไม่ใช่พอฟังแล้วก็เข้าใจได้ ประจักษ์แจ้งสภาพธรรม หรือสิ่งที่เรากำลังพูดได้เลยทันที

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำว่า “พิจารณา” ก็หมายความว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ต้องไตร่ตรอง ต้องคิดจนกระทั่งเป็นความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น เพราะว่าอย่างบอกว่า ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ แค่นี้ค่ะ คนใหม่ๆ ก็งง สิ่งที่มีจริงๆ อะไร ก็ดูมันมีทั้งนั้น แต่ไม่รู้ว่าอะไรจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงแต่เราได้ยินแค่นี้ เราต้องคิดนานมากกว่าเราจะเข้าใจ แล้วก็ต้องพิจารณาด้วย อย่างบอกว่า ขณะนี้จริงหรือเปล่า แค่นี้ก็ต้องคิดอีกว่า ขณะนี้ คือไม่รู้ว่าตรงไหน เมื่อไร เพียงแค่ขณะนี้อะไรจริง แค่นี้เราก็ต้องคิดแล้ว ถ้าไม่พิจารณาจะตอบได้ไหม ขณะนี้อะไรจริง เห็นนี้จริงไหม พอแนะนิดหนึ่งให้คิดว่า เห็นจริงไหม เพราะว่าทีแรกหาไม่ถูก ไม่รู้จะไปหาอะไร ขณะนี้อะไรจริง เหมือนกับคำถามนี้ใหม่มาก คิดไม่ออก แต่ถ้าบอกว่าขณะนี้เห็น กำลังเห็น จริงไหม มีจริงๆ หรือเปล่า ได้ยิน มีจริงๆ หรือเปล่า คิดนึกมีจริงๆ หรือเปล่า ทีนี้ตอบได้หมดเลยว่า ทุกอย่างที่กำลังมี อย่างเห็น ได้ยินพวกนี้จริงทั้งนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เริ่มเข้ามาสู่ความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงว่า สิ่งที่มีจริงที่ใช้คำว่าเป็นธรรม หรือว่าเป็นธาตุ ธาตุ ธา ตุ หมายความว่า เป็นสิ่งที่มีโดยที่ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ว่าสิ่งนี้มีปัจจัยก็เกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด ขณะนี้ใครโกรธบ้างคะ มีไหมคะ มีหรือไม่มี มี เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ในขณะนี้จะเกิดปรากฏว่ามี ต่อเมื่อมีเหตุหรือมีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น จึงเป็นธรรม และก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    เพราะฉะนั้น ถ้าได้ฟังอย่างนี้ แล้วก็เริ่มศึกษาพระไตรปิฎก ก็จะทราบได้เลยว่า ทุกอย่างที่มีจริง พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นธรรมซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถบันดาลให้เกิดขึ้นตามใจชอบ แต่ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วโกรธทำไมไม่อยู่ตลอดเวลาอยู่ตลอดเวลาได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ทรมาน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งที่เกิดดับหมดเลยทันที แต่เร็วมาก นี่คือคำที่เราได้ยินบ่อยๆ สัพเพ สังขารา อนิจจา หรือภาษาไทยเราก็บอกสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารที่นี่ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะร่างกายอย่างที่เราเคยเข้าใจว่า ร่างกายของเราเห็นชัดๆ เลย ตอนเป็นเด็กก็เกิดมาอย่างหนึ่ง ค่อยๆ เจริญเติบโต ค่อยๆ แก่ ค่อยๆ เจ็บ ค่อยๆ เป็นโรคภัยต่างๆ แสดงว่าเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างที่เกิด ดับทันที เร็วมาก เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงไว้แน่นอนว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิด สิ่งนั้นดับเร็ว แต่ว่าสิ่งที่ดับ ดับจริงๆ ไม่มีเหลือ เป็นปัจจัยให้สิ่งอื่นต่อไปเกิดสืบต่อ จนกระทั่งไม่เห็นว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดดับ เพราะทุกอย่างที่เกิด ดับเร็วมาก แล้วก็เกิดสืบต่อเร็วมาก แล้วก็ดับเร็วมากอยู่ทุกขณะ จนกระทั่งไม่ปรากฏว่าดับ นี่คือตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก เชื่อไหมคะ

    ผู้ฟัง เชื่อค่ะ

    ท่านอาจารย์ เชื่อ เพราะอะไรถึงเชื่อคะ

    ผู้ฟัง เพราะเป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ ทำไมว่าเป็นความจริง

    ผู้ฟัง ก็เวลาโกรธ แล้วเวลาหาย ก็หายไปเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่กลับมาอีก

    ผู้ฟัง ไม่กลับมาอีก นอกจากรอบข้างทำให้เกิด หูได้ยินในสิ่งที่ขัดหู ก็จะเกิดอีก เพราะว่าตัดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วรอบข้าง หมายความว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง ลูกหลาน ลูกเต้า

    ท่านอาจารย์ แล้วลูกหลานนั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง ลูกก็คือคำพูดลูก ไปมองกิริยาลูก คิดว่าลูกรังเกียจ คิดไปเอง แล้วก็คิดโกรธ มันบอกไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ความจริงที่เราคิดหรือเข้าใจว่าเป็นลูก เป็นหลาน เป็นเพื่อน เป็นคน ก็เพราะเหตุว่าเรามีตาเห็น แล้วก็มีหูได้ยินเสียง มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีใจคิดนึก ทั้งหมดที่เห็น ที่ได้ยิน มารวมเป็นเสียงลูกหลาน แต่ความจริงถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลูกหลานไม่มี ไม่มีความคิดนึกว่าเสียงนั้นเป็นอะไร แต่เพราะเหตุว่าความไม่รู้ของเรา ที่เราว่ารอบข้าง ต้องหมายความถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีลูก มีหลาน ไหมคะ ไม่มี ความคิดว่าจะมีลูกมีหลาน สิ่งที่ปรากฏรอบกายก็เป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นเพื่อน แล้วเราก็เกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง จากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า สิ่งที่เกิด มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ทั้งเห็นก็ดับไปแล้ว ขณะที่ได้ยินก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น ขณะที่เจ็บก็ไม่ใช่ขณะที่คิด ลักษณะที่เจ็บกับคิด คนละอย่าง ก็แสดงให้เห็นว่า ที่เคยเป็นเราทั้งหมดทุกอย่าง แท้ที่จริงก็เป็นธรรมแต่ละชนิด ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใครซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “อนัตตา” หมายความว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ก็ตรงกับ อนิจจัง ไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

    เพราะฉะนั้นจะเป็นสุขจริงๆ ไม่ได้เลย เกิดมาทำหน้าที่แต่ละอย่างๆ ชั่วขณะ ปรากฏชั่วขณะนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ดับไปหมด ไม่มีอะไร เหลือ จะกล่าวว่าเป็นสุขจริงๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตา ตรงกับคำที่เราใช้เสมอ ๓ คำ “ไตรลักษณ์” อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยากฟังอยากเรียนไหมคะ หรือว่าแย่ ไม่เอาแล้ว ตัวตนก็ไม่มี

    ผู้ฟัง อยากฟัง เป็นคนชอบอ่านหนังสือธรรม อ่านเรื่องเวรกรรม ชอบไปซื้อหนังสือ ตายแล้วไปไหน ทำบุญแล้วใครได้รับ แต่ความโกรธมันดับไม่ได้ สับสนแล้วทรมาน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีเรา ถึงได้มีทุกข์

    ผู้ฟัง ใช่ ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสภาพธรรม ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ มีเหตุ ถ้าเราหยั่งรู้ถึงเหตุ เราจะเบาขึ้น สบายขึ้น เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วทุกอย่างใครจะห้ามไม่ให้เกิดได้ ไม่มีใครต้องการสภาพที่ไม่ดี แต่ว่าสิ่งนั้นก็เกิดมีเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครต้องการกลิ่นไม่ดี สีสันไม่ดี เสียงไม่ดี แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นก็เกิด เพราะฉะนั้น ก็บังคับไม่ได้เลย แต่เกิดแล้วก็หมดไป เกิดแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ว่า ไม่มีเราเลยสักขณะเดียว มีแต่สภาพธรรม เพียงเข้าใจคำว่า “ธรรม” ต้องไตร่ตรองแค่ไหน คุณทศพร นี่คือความหมายของพิจารณา ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ เพราะว่าเราพิจารณาไม่พอ แต่พอพิจารณามากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เราก็รู้ว่า ความเข้าใจนั้นมาจากการไตร่ตรอง การคิดการพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วต้องเป็นอย่างนี้ตลอด เพราะว่าพระธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจง่ายๆ เป็นของธรรมดา แต่ลึกซึ้ง อย่างการเกิดดับของสภาพธรรม ใครว่าไม่จริง แม้ว่าจะกล่าวว่าจริง แต่ก็ยังไม่ประจักษ์ ก็แสดงว่าต้องมีปัญญาหรือความรู้เพิ่มขึ้นมากขึ้นจนถึงระดับขั้นที่สามารถประจักษ์แจ้งได้


    หมายเลข 9570
    18 ส.ค. 2567