สติไม่มีกำลังพอ


    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เข้าใจธรรมที่ละเอียด หมายความว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้นในลักษณะที่เป็นนามธรรม รูปธรรม เวลานี้

    ผู้ฟัง คือเข้าใจขณะนี้ที่ฟังท่านอาจารย์ด้วย ใช่ไหมคะ พร้อมกันนั้นก็มีการพิจารณาถึงเรื่องราวที่ฟัง เพราะว่ามีในส่วนของพระอภิธรรมเอง ก็มีอะไรที่ต้องศึกษาเยอะ เพราะว่าดิฉันเองเท่าที่ศึกษามาบ้าง คือถ้าหากว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับพระอภิธรรมเลย ก็ไม่เข้าใจตรงนี้เพิ่มมากขึ้น แล้วถ้าหากว่าท่านอื่นไม่เข้าใจตรงธรรมในส่วนละเอียด การที่จะมาให้เข้าใจถึงเดี๋ยวนี้ ท่านอาจารย์ มันก็ยาก ที่เราจะเข้าใจ มันเข้าใจทีละน้อยได้ แต่ว่าด้วยความอยากจะรู้ ท่านอาจารย์คะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่า การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดแล้วก็มีธรรมตัวจริง ข้อสำคัญที่สุดคือมีธรรมตัวจริง แต่เราเรียนเรื่องราวของธรรมตัวจริงนั้น จนกว่าเราจะรู้ว่าตัวจริงๆ กำลังมีเมื่อไรที่มีการปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น คือ ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ หรือว่าลักษณะที่ไม่ใช่สภาพรู้ ค่อยๆ ไปทีละเล็กละน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าด้วยความต้องการที่อยากจะรู้มาก จนกระทั่งรอวันรอคืน เมื่อไรจะเกิด ตอนนี้จะเกิดไหม เราไปอยู่ตรงนั้นถ้าจะดี หรือว่า อ่านตรงนี้อีกหน่อย แล้วสติปัฏฐานจะเกิด นั่นคือความหวัง หรือความต้องการ ไม่ใช่การละคลาย

    เพราะฉะนั้น หนทางนี้เป็นหนทางที่ยาวนาน เพราะถ้าเราจะทราบว่า เราติด มากมายสักแค่ไหน โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่า นี่คือเครื่องกั้น เฉพาะแค่ทางตา เราติดมากมายเหลือเกิน สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องเป็นสีนั้นสีนี้ วันนี้เราส่องกระจกกี่ครั้ง เราดูอะไรๆ ก็ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นอะไรนิดๆ หน่อยๆ แม้แต่จะอย่างนี้ เรารู้หรือเปล่าคะ ว่าเราติดสี เฉพาะสีอย่างเดียว ทางตาที่ปรากฏ ก็ติดเสียมากมายเหลือเกิน แล้วก็ทางหูไปอีก ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยเฉพาะทางใจที่เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นตัวเราทั้งวัน เรื่องราวของเราทั้งวัน

    เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ว่า เมื่อไรที่ความรู้จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ ทางตา ละความสงสัย อย่างที่วันก่อนพูด พอบอกว่าเห็นคน ไม่เห็นมีใครสงสัยเลย แต่บอกว่าเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สงสัยไหมคะ เป็นอย่างไร ซึ่งความจริง จริงแน่นอนเลย เห็นต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็ยังมีความจำ ความคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาอีกยาวมากเลย ไม่ใช่วันนี้วันเดียว ทุกวันมาแล้วกี่ชาติ

    เพราะฉะนั้น กว่าเราจะเข้าใจสภาพธรรมจนกระทั่งสติปัฏฐาน ค่อยๆ เกิด ก็คงจะไม่ได้เกิดทันทีติดต่อกันรวดเร็วมากมาย นอกจากผู้นั้นถึงกาลที่ได้ฟังกถานิดเดียว สภาพธรรมก็สามารถที่จะปรากฏกับปัญญาซึ่งประจักษ์จริงๆ ในความเป็นจริงของสิ่งที่ฟัง เพราะแม้ขณะนี้ มีคิดในเสียงที่ได้ยิน มีเห็นด้วยในสิ่งที่ปรากฏ แค่นี้แยกหรือยัง แค่นี้เองยังไม่แยก เพราะฉะนั้น จะไปประจักษ์ความจริงของการเกิดดับของสภาพธรรมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ความรู้จะเพิ่มขึ้นซึ่งคลายความต้องการ แต่ว่าคลายยากมาก เพราะเหตุว่าแม้แต่เพียงสติเกิด ก็หวังแล้ว อยากแล้ว จนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า อริยสัจที่ ๒ คือ ละ ถ้าไม่ละก็คือกั้น

    ผู้ฟัง อาจารย์คะ ชีวิตในปัจจุบันในทุกขณะ มันเป็นทุกข์ค่ะ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คิดว่าเป็นทุกข์ แต่ตัวทุกข์ปรากฏหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แต่คิดว่า เป็นทุกข์ ใช่ไหมคะ มันไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง บางครั้งเรามีทุกขเวทนา ท่านอาจารย์ บางครั้งเราอาจจะถูกแมลงกัด

    ท่านอาจารย์ หายามาทา

    ผู้ฟัง ก็บางทีมันก็รบกวน เกิดความไม่สบายใจขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเอาอย่างไรกับสังสารวัฏฏ์ ไม่ให้ยุงกัด ไม่ให้มีอะไรมาไต่ตอมหรืออย่างไรคะ

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์คะว่า ตรงนี้ท่านอาจารย์จะแนะนำอย่างไรดีคะ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเป็นเราที่คิด ถ้าเอาเราไม่ออก ยังเป็นเราอยู่ คิดอย่างไรๆ ก็ได้แค่นี้ค่ะ ทำไมต้องไปคิดเรื่องทุกข์เหมือนกับบังคับ พยายามที่จะให้เข้าไปใกล้อริยสัจจธรรม บางคนก็อาจจะบอกว่าคิดก็ให้คิดเรื่องนี้ แต่มันไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น เราทำอะไรคะ ในเมื่อจริงๆ แล้วปัญญาจะต้องสามารถรู้ จริงๆ ในลักษณะแต่ละอย่างๆ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ถ้าสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า เห็นขณะนี้เป็นสภาพรู้ที่เฉพาะเห็น พอถึงทางหู เป็นสภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ปะปนกันเลย เห็นกับได้ยินไม่ปะปนกัน เกิดต่างขณะ แล้วก็ห่างไกลกันด้วย แต่ว่าความรวดเร็วก็ทำให้เห็นเหมือนกับว่าพร้อมกัน หน้าที่ของเราก็คือว่า ฟังให้เข้าใจ จนกระทั่งมีการค่อยๆ รู้ คือ สติเกิด ตามรู้ลักษณะของสภาพธรรม มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แล้วขณะนั้นเรารู้ว่า ต่างกับหลงลืมสติ เราจะรู้เลยว่า ถ้าสามารถจะตามรู้ได้ ทุกอย่าง ลองดูสิคะว่า เป็นธรรมทั้งหมด ใช่ไหม แต่ว่าสติเขาไม่ได้เกิดอย่างนั้น เพราะว่าเขาไม่ได้มีกำลังพอ มีตัวอยากเข้ามาแซงอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง กว่าจะค่อยๆ สังเกตว่า มีสติกับหลงลืมสติ ตรงนี้ก็ยาก ลำบากมากๆ ทีเดียว

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้เมื่อไรก็คือ ตั้งต้นเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง จะมีการสังเกตอย่างไรคะ ในลักษณะที่สังเกตลักษณะที่มีสติกับหลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้มีลักษณะอะไรที่ปรากฏบ้างคะ

    ผู้ฟัง มีลักษณะแข็ง

    ท่านอาจารย์ แข็ง นั่นแหละค่ะ คือขณะที่กำลังรู้ลักษณะนั้น นั่นแหละ คือ สติ

    ผู้ฟัง รู้ได้เฉพาะที่สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ ปกติอยู่บ้านก็ลืม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าสติเกิดไม่บ่อย ตั้งกี่ชาติมาแล้วที่เรามีแต่โลภะ โทสะ โมหะ กับความเป็นเรา พอถึงชาตินี้จะให้เราเก่งมาก สติรู้ไปหมดได้อย่างไรคะ

    ผู้ฟัง จริงค่ะ คือ ความอยากก็อยากรู้ รู้ ฟังมาว่าอยากไปก็เท่านั้น ไม่รู้ ไม่รู้อะไรแน่เลย มันก็สลับกันไป สลับกันมา

    ท่านอาจารย์ ถึงได้ว่ายากไงคะ

    ผู้ฟัง แล้วก็ต้องมีวิริยะมาก

    ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ เพราะฉะนั้น คนที่ฟังพระธรรมแล้วก็จะเข้าใจความหมายของ ขันติ ซาบซึ้งเลย เป็นตบะอย่างยิ่ง อดทนไม่มีอะไรจะอดทนเท่ากับอดทนที่จะศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรม อดทนที่สัมมาสติจะเกิด จะระลึก อดทนที่ปัญญาจะค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจ อดทนจนกว่าจะมีปัญญาที่มากขึ้น จนสามารถที่จะละคลายความไม่รู้ไปเรื่อยๆ


    หมายเลข 9579
    18 ส.ค. 2567