อภิธรรม - ปรมัตถธรรม


    ท่านอาจารย์ เพียงได้ยินคำว่า “อภิธรรม” ชักจะเบื่อหรือยังคะ อภิ ธรรมนี้คะ เชิญคุณสุภีร์ค่ะ

    อ.สุภีร์ คำว่า “อภิ ธรรม” คำว่า “ธรรม” คำเดียว หมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริง ในโลกเรานี้ ที่เราเห็นๆ กันอยู่ หรือว่าสัมผัสอะไรกันอยู่อย่างนี้ มีทั้งสิ่งที่มีจริงด้วย ทั้งสิ่งที่ไม่มีจริงด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรม จะกล่าวถึงเฉพาะสิ่งที่มีจริงเท่านั้น สิ่งที่มีจริงจะเรียกชื่ออะไรก็ตาม หรือไม่เรียกชื่ออะไรก็ตาม สิ่งนั้นก็ยังคงมีอยู่เสมอ สิ่งนั้นก็ยังเป็นอย่างนั้นแหละ อย่างนี้นะครับ สิ่งนี้เรียกว่า ธรรม ซึ่งเดี๋ยวท่านอาจารย์ก็คงจะกล่าวว่าธรรมแต่ละประการๆ มีอะไรบ้าง แล้วก็มีข้อสังเกตอย่างไร ซึ่งคำว่าธรรมคำเดียวหมายความถึงสิ่งที่มีอยู่จริงๆ ส่วนคำว่า อภิ เป็นการแสดงธรรมอีกนัยหนึ่ง ที่แสดงโดยละเอียดมาก เพราะเหตุว่าพระวินัยปิฎกแสดงข้อปฏิบัติทางกาย ทางวาจา โดยเฉพาะเน้นที่เพศบรรพชิตก็คือพระภิกษุ แต่พระสูตรก็แสดงตามกาละ ตามบุคคล ที่แต่ละอัธยาศัยต่างๆ กัน ก็จะแสดงเป็นชื่อบุคคลนั้น บุคคลนี้ แต่ถ้าเป็นการแสดงในพระอภิธรรม เป็นการแสดงนัยที่ละเอียดกว่านั้น คำว่า อภิ แปลว่า ละเอียด ละเอียดยิ่งกว่าพระวินัย แล้วก็พระสูตร เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว สิ่งที่มีจริงๆ ที่เราควรจะรู้ว่ามีอะไรบ้าง จริงๆ แสดงไว้ในพระอภิธรรมทั้งหมด

    ฉะนั้น คำว่า อภิ ธรรม หมายถึง ธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เมื่อเราเข้าใจแล้วก็จะเข้าใจความจริงว่า ความจริงที่มีอยู่นั้นเป็นอย่างไร จริงอยู่ว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีอยู่จริง แต่ว่าเวลาแสดงใน อภิ ธรรม ก็คือแสดงสิ่งที่มีอยู่จริงนั่นแหละโดยละเอียดอย่างยิ่งเลย อันนี้เป็นความหมายครับ

    ท่านอาจารย์ นอกจากคำว่า อภิธรรม ก็ยังมีคำว่า ปรมัตถธรรม คู่กันด้วย คะ ขอเชิญคุณสุภีร์

    อ.สุภีร์ คำว่า “ปรมัตถธรรม” ธรรม เราก็ทราบความหมายแล้วว่า เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเป็นของตนๆ ธรรม ส่วนคำว่า ปรมัตถธรรม มาจาก ๓ คำรวมกัน ก็คือ ปรม บวกกับ อัตถ บวกกับ ธรรม คำว่า ปรม แปลว่า ยิ่ง หรือว่า ไม่มีการวิปริต แปรปรวนไปเป็นอย่างอื่น คือ สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น อย่างเช่น ยกตัวอย่างอย่างหนึ่ง เวลาเราพูดถึง เช่นว่าเราโกรธขึ้นมา ความโกรธจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า ปรม ก็คืออย่างยิ่ง หรือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ส่วนคำว่า อัตถะ หมายถึงมีลักษณะ สภาพธรรมที่มีจริง สภาพธรรมที่มีจริงจะมีลักษณะของเขาเอง สิ่งที่ไม่มีจริงจะไม่มีลักษณะ แต่ว่าสิ่งที่มีจริงจะมีลักษณะ ฉะนั้น จึงมีคำว่า อัตถะ ปรม นี่คืออย่างยิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง อัตถะ ก็คือลักษณะ ธรรม ก็คือ ธรรมที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้

    ฉะนั้น คำว่า ปรมัตถธรรม เวลาแปลรวมความทั้งหมดแล้ว จะได้ความว่า ธรรมที่มีลักษณะ ไม่วิปริตเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จะใช้คำพูดหรือไม่ใช้คำอะไรเลยก็ได้ ธรรมก็ยังเป็นธรรมอยู่อย่างนั้นแหละ เชิญท่านอาจารย์ครับ


    หมายเลข 9587
    18 ส.ค. 2567