รู้จริงต้องรู้แต่ละหนึ่ง


    เมื่อวานนี้ทำอะไรบ้างคะ แต่ละคนก็รู้ ใช่ไหมคะว่าทำอะไรบ้าง เห็นหรือเปล่าคะเมื่อวานนี้ ได้ยินหรือเปล่า รับประทานอาหารมีรสต่างๆ ปรากฏหรือเปล่า กระทบหมอนที่นอน อ่อนแข็ง เย็นร้อน หรือเปล่า แล้วก็คิด เมื่อวานนี้เป็นอย่างนี้ เมื่อวันก่อนก็เหมือนอย่างนี้ วันนี้ก็จะต้องเป็นอย่างนี้อีก เพราะเหตุว่ากำลังเห็น กำลังได้ยิน และกำลังคิดด้วย พรุ่งนี้ก็เป็นอย่างนี้ แต่ละวันมีใครไม่ให้เกิดขึ้นเป็นไปได้บ้าง เกิดมาแล้วต้องเป็นไป เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่มีเราเลย แต่มีสิ่งที่มีปัจจัยเกิดขึ้นทีละ ๑ เป็นแต่ละ ๑ แต่ว่ามากมายเหลือเกินค่ะ เมื่อวานนี้ถ้าจะกล่าวถึงทีละ ๑ ขณะ ก็สามารถเข้าใจว่า ที่เราบอกว่า เราไปที่ไหนมา เรารับประทานอะไร เราพบใคร เราสุข เราทุกข์อย่างไร เป็นเรื่องใหญ่ เป็น็นเรื่องหยาบ เป็นเรื่องยาว แต่ถ้าไม่มีทีละ ๑ ขณะของชีวิต เรื่องต่างๆ เหล่านั้นก็มีไม่ได้ ปรากฏไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น เป็นผู้ละเอียดก็สามารถจะรู้ว่า ทุกวันก็เป็นอย่างนี้ เมื่อวานนี้เห็น ที่บ้านมีต้นไม้อะไร เหมือนเดิมใช่ไหมคะ พรุ่งนี้ก็อยู่บ้านนั้นแหละ แล้วก็เห็นสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นบ้าน มีต้นไม้ มีดอกไม้อะไรเหมือนเดิม ซ้ำไปซ้ำมา แต่ต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้ เท่านี้เอง

    เพราะฉะนั้น ก็ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ละเอียดที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องยาว แต่ละวัน ย่อเป็นตอนเช้าบ้าง ตอนกลางวันบ้าง เป็นตอนเย็นบ้าง ตอนค่ำบ้าง เดี๋ยวดูโทรทัศน์ เดี๋ยวอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ทั้งหมดก็ต้องมาจากแต่ละ ๑ ขณะ

    เพราะฉะนั้น การจะเข้าใจทุกอย่างจริงๆ โดยถูกต้อง ไม่ใช่เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดยาวๆ แล้วคิดว่าเข้าใจ แต่ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ก็จะต้องเป็นความละเอียดที่จะรู้ว่า ได้ฟังเรื่องจริง วาจาสัจจะ เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริง จนกระทั่งมีความเข้าใจว่า สิ่งนั้นต้องเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เป็นอริยสัจจะ แต่กว่าจะเข้าใจวาจาสัจจะ แล้วก็รู้ว่า เป็นอริยสัจจะ ความจริงของผู้ประเสริฐ ผู้ประเสริฐ คือ ผู้รู้ ไม่รู้จะประเสริฐได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น การที่บุคคลใดก็ตามที่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ ถูกต้องไหมคะ ชื่อว่า ผู้นั้นรู้จริงๆ ในสิ่งนั้นหรือเปล่า จึงสามารถกล่าวได้ว่า สิ่งที่มีจริง ๑ นั้นคืออะไร แต่ละ ๑ แต่ละ ๑

    ในขณะนี้เหมือนมีคนหลายคนนั่งอยู่ในห้อง ซึ่งมีหลายอย่าง แต่ความจริงต้องเป็นแต่ละ ๑ เท่านั้นเอง จะเป็นหลายๆ อย่างพร้อมกันไม่ได้เลย อย่างสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ มีไหมคะเดี๋ยวนี้ ปรากฏให้เห็นได้ ใช้คำว่า “เห็น” ก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย ความจริงของสิ่งนี้ก็คือว่า เมื่อมีตา ภาษาบาลีใช้คำว่า “จักขุปสาท” รูปพิเศษ ถ้าไม่มีรูปนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไม่ได้เลย ไม่ใช่เราอยากจะมี เราไม่อยากจะมี เราเลือกได้ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย สิ่งต่างๆ ทุกอย่างเกิดแล้ว โดยไม่รู้เลยว่า เกิดแล้วเพราะอะไร แต่ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมที่จะให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนี้ไม่ได้เลย ทุกคนอยากจะมีความสุข แต่ความสุขก็ไม่เกิด อยากเท่าไรก็ไม่เกิด ไม่มีเหตุที่จะให้ความสุขเกิด คนตาบอดก็อยากจะเห็น ไม่ใช่ไม่อยากเห็น แต่ว่าอยากเท่าไรก็เห็นไม่ได้ เพราะว่าไม่มีปัจจัยที่จะให้เห็นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีปรากฏเกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป้นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้น การศึกษาสิ่งที่มีจริงๆ เพียงแต่ละ ๑ แต่ว่าเข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้ความรู้ค่อยๆ รู้ทั่วตามความเป็นจริงของทุกสิ่งที่มี

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทุกคนเห็น มีจริงๆ เพียง ๑ ไม่ใช่คิด ไม่เห็นก็ชอบสิ่งที่เคยเห็น ยังจำได้ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ความชอบต้องไม่ใช่เห็น แต่ชอบสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เคยลิ้มรส เคยกระทบสัมผัส ถ้าถามทุกคนก็จะตอบได้ว่า ชอบอะไรบ้าง ชอบรับประทานอะไรคะ ปู หรือกุ้ง หรือหมู หรือเนื้อ ถ้าไม่เคยรู้รสนั้นเลย จะตอบได้ไหมคะว่า ชอบ

    เพราะฉะนั้น ชอบไม่ต้องเห็นก็ได้ หรือกำลังเห็นก็ชอบในสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นก็ได้ แต่ความละเอียดก็คือ ชอบไม่ใช่เห็น เพราะว่าชอบ ไม่ใช่ชอบแต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ชอบเสียงไหมคะ ก็ได้ ชอบกลิ่นก็ได้

    เพราะฉะนั้น ชอบเป็น ๑ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นเราหรือเปล่า หรือว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าดู ไม่ชอบเลย เสียงที่ไม่เพราะ ไม่ใช่เสียงชม หรือไม่ใช่เสียงที่น่าฟัง จะให้ชอบก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่จะชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็หมดไป ไม่ใช่มีแต่ชอบหรือไม่ชอบสิ่งนั้นอยู่ทั้งวันทั้งคืน ก็ต้องมีอย่างอื่นเกิด

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดว่า ถ้าเข้าใจธรรมในชีวิตจริงๆ เพียงแต่ละ ๑ ก็จะเริ่มเห็นว่า สิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ๔๕ พรรษาเป็นความจริงทุกกาลสมัยที่สามารถจะเข้าใจได้


    หมายเลข 9592
    19 ก.พ. 2567