อดทนด้วยปัญญา
กำลังโกรธ อดทนหรือเปล่าคะ เขาว่า บางคนก็ไม่โกรธค่ะ แต่บางคนแค่คำเดียวก็โกรธแล้ว ใครอดทน อาหารไม่อร่อย แค่จืดไปหน่อย บางคนก็ไม่เป็นไร รับประทานได้ แต่บางคนแค่นั้นก็บอกแล้ว ไม่อร่อย พูดทำไมคะ ใครๆ ก็รู้ แต่ก็ยังพูด เพราะไม่อดทน
เพราะฉะนั้น ความไม่อดทนนี่ จะกล่าวได้เลยว่า ไม่อดทนต่อสิ่งที่กำลังปรากฏ ทนไม่ได้ ก็มีการแสดงกิริยาอาการตามที่ไม่อดทน แต่ถ้าเห็นประโยชน์ว่า การพูดกับการไม่พูด อะไรเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ก็พูด แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ พูดทำไม
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าพูดแล้วไม่เป็นประโยชน์ ไม่พูดเสียไม่ดีกว่าหรือคะ เพราะจริงๆ แล้วบางคนพูดมาก ทำไมมากอย่างนั้นก็ไม่ทราบ คือ พูดแล้วก็ซ้ำอีก พูดแล้วก็เหมือนเดิม ก็ซ้ำอีก ก็ไม่ทราบว่า จะพูดทำไม ถ้าเข้าใจแล้วก็ยังย้ำอยู่นั่น ก็แสดงให้เห็นถึงว่า แต่ละอัธยาศัยก็ต่างกัน แต่ความอดทนที่สมควร คือ อดทนด้วยความรู้ ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้น เช่น ในขณะนี้ได้ยินได้ฟังว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงจะเปลี่ยนให้ไม่มีไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นจริงอย่างนั้น ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น แม้แต่ขณะเมื่อกี้นี้ก็มีสิ่งที่เป็นจริงหลายอย่างซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป ถึงขณะนี้ก็มีสิ่งที่กำลังเป็นจริง อดทนที่จะเข้าใจหรือเปล่าว่า ขณะนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากแต่ละ ๑ ซึ่งเป็นจริงเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงลักษณะของแต่ละ ๑ ไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไป อดทนที่จะเห็นว่าถูกต้อง และสามารถพิสูจน์ได้ เข้าใจได้หรือเปล่า
เมื่อกี้นี้ก็มีหลายท่าน มีทั้งกาแฟ ทั้งขนม ก็ได้ไปสนทนาด้วย ถามว่าเป็นธรรมหรือเปล่า กำลังอยู่ในห้องนี้ ได้ยินคำว่า “ธรรม” รู้ว่า เห็นขณะนี้เป็นธรรม ได้ยินขณะนี้เป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม ชอบเป็นธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็หมดไปๆ แต่ก็ลืม พอกำลังมีสิ่งที่อยู่ต่อหน้า รูปต่างๆ ถามว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า ลืมแล้ว
เพราะฉะนั้น แม้แต่ที่กำลังฟังแล้วเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่า นี่แหละคือธรรม ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลยจริงๆ แค่ลืมตาธรรมก็ปรากฏ จะอยู่ตรงไหนก็ตามแต่ ฟังเวลานี้เข้าใจ แต่พอถึงเวลาก็ลืม
เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังบ่อยๆ เพื่อที่จะไม่ลืมสิ่งที่เข้าใจว่า เป็นความจริงซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย ทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้น มิฉะนั้นก็จะไม่มีอะไรเลย เช่นที่ใช้คำว่า สังสารวัฏฏ์ สภาพที่เกิดสืบต่อวนเวียนไม่มีระหว่างคั่น ไม่หยุด เช่น เห็นแล้วก็ได้ยิน แล้วก็คิดนึก แล้วก็เห็น แล้วก็ได้กลิ่น เมื่อวานนี้ทั้งวัน จากตาไปหู ไปจมูก ไปลิ้น ไปกาย ไปใจ วันนี้ก็เหมือนเดิม ซ้ำแล้ว พรุ่งนี้ ชาติก่อน ชาติหน้าอย่างไร คือ เห็น แล้วคิดเรื่องที่เห็น ได้ยินก็คิดเรื่องที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ก็พัวพัน ผูกพันอยู่กับสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่รู้จบ ไม่มีระหว่างคั่นเลย นี่คือความหมายของสังสารวัฏฏ์