อุปาทาน ๔
กว่าจะออกจากความไม่รู้ได้ ต้องเป็นผู้ตรงที่ว่า เข้าใจสิ่งที่ฟัง อย่าข้าม แต่ค่อยๆ เข้าใจ และสามารถรู้ได้ว่า เป็นชีวิตประจำวันซึ่งเป็นธรรมทั้งหมด ถ้ายังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น ไม่มีการละการติดข้องในสิ่งที่มีจริงๆ ได้ ยังคงเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ด้วยเหตุนี้จึงได้ทรงแสดงพระธรรมไว้มากใน ๔๕ พรรษา ขอยกคำว่า “อุปาทาน” ความยึดมั่น ไม่ใช่ติดเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ใช้คำว่า “อุปาทาน” ยึดมั่น มี ๔ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตวาทุปาทาน ใช้คำภาษาบาลี แต่ก็คือชีวิตประจำวัน เช่น กามุปาทาน ความติดข้องในกาม คือ รูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีตาต้องเห็น มีหูต้องได้ยิน มีจมูกต้องได้กลิ่น มีลิ้นต้องลิ้มรส มีกายต้องกระทบสัมผัส เท่านี้เอง มีเพื่อจะรู้สิ่งที่สามารถปรากฏให้รู้ได้ แต่เพราะการที่สิ่งนั้นเกิดดับอย่างเร็ว แล้วไม่รู้ความจริง จึงยึดมั่นในนิมิตของสิ่งที่เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก
นี่คือชีวิตประจำวัน กำลังเห็นรูปดอกไม้สวย เป็นดอกไม้แล้วก็ติดข้อง ต้องการสิ่งที่ปรากฏ ต้องการเห็นอีก
นี่แสดงให้เห็นว่า ติดข้องทุกสิ่งทุกอย่างที่มี เป็นอารมณ์ที่น่าพอใจสำหรับโลภะ ความติดข้องจะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น กามุปาทานมากไหมคะ ใครพ้น ไม่มีทางพ้นไปได้เลย ไม่ชอบในรูปก็ในเสียง ไม่ชอบในรูป ในเสียง ก็ในกลิ่น ไม่ชอบในรูป ในเสียง ในกลิ่น ก็ในรส เด็กเล็กๆ เกิดมาก็ติดรสแล้ว โตขึ้นก็ยิ่งติด จนกระทั่งจะจากโลกนี้ไปก็ยังติดรส บางคนมีโรคประจำตัวที่แปลก แพ้เครื่องไฟฟ้า มีชีวิตที่ต้องห่างจากสิ่งเหล่านี้ แต่เขาก็ยังติดในรส จะไม่ให้ติดได้อย่างไร ก็สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีแล้วปรากฏ อร่อยก็ต้องรสอร่อยอะไร ก็ติดแล้วในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น อยู่ในโลกของสิ่งที่มีจริง แต่เพราะไม่รู้ความจริง จึงติดข้องในนิมิตของสิ่งที่มีจริง เหมือนการอยู่ในโลกของนิมิตตั้งแต่เกิดจนตาย โดยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏให้เห็น แท้จริงคืออะไร อย่างดอกไม้ว่า สวยก็ต้องมีธาตุดิน แข็งนี่หรือคะสวย ไฟ อุ่นนี่หรือสวย ก็ไม่ใช่ แต่มีสิ่งหนึ่งเกิดอยู่ที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมที่สามารถกระทบตา ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็จะไม่รู้เลยว่า พ้นกามุปาทานได้ไหม เพียงหนึ่ง อะไรก็ตามที่เป็นที่น่ายินดี ที่พอใจ ติดข้องอย่างมั่นคงมาก อีก ๓ ที่เหลือ เป็นเรื่องของทิฏฐิ ความเห็นผิด แสดงว่าไม่รู้ความจริงจนเข้าใจผิด และยึดมั่นในความเห็นผิดๆ เช่น ยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นอัตวาทุปาทาน ตรงกันข้ามกับอนัตตา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วจะไม่ชอบ ไม่พอใจได้อย่างไร ไม่ว่าจะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วเมื่อติดข้องว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็นำมาสู่ความเห็นผิดเพราะไม่รู้ ก็เข้าใจว่า มีผู้สร้างให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนั้นเป็นไปตามอำนาจของบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพราะไม่รู้ความจริงว่า มีสิ่งที่ทำให้สิ่งนั้นเพียงเกิดแล้วก็ดับไป ยับยั้งไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดมีมาก เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็แล้วแต่ว่า ความเห็นผิดนั้นจะเห็นผิดในเรื่องใด เห็นผิดว่าเที่ยง เห็นผิดว่าตายแล้วสูญ แล้วแต่ความเห็นของแต่ละคนที่สะสมมาผิดๆ
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า นอกจากจะไม่รู้ความจริงแล้วยังเห็นผิดเพิ่มขึ้น ทำให้ปฏิบัติผิด คิดว่าหนทางนั้นเป็นหนทางที่ดับกิเลสได้
ด้วยเหตุนี้พระธรรมทั้งหมดก็สอดคล้องกัน เป็นความจริง แต่ความจริงแต่ละหนึ่ง ต้องเข้าใจให้ชัดเจน มิฉะนั้นก็เหมือนเข้าใจ ถ้าศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป เหมือนเข้าใจ แล้วก็ศึกษาจนครบอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ก็เหมือนเข้าใจ แต่ว่าเดี๋ยวนี้อะไรกำลังปรากฏ สิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิตของอะไร ของสิ่งที่สามารถกระทบตา และความจริงก็คือสิ่งนั้นหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลืออีกเลย สิ่งที่เหลือคือนิมิตที่จำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น การฟังที่จะละความเห็นผิด ไม่ติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะของทุกสิ่งทุกอย่าง ก็คือว่า ต้องเห็นถูก เข้าใจถูก