ความอยากที่ไม่มีวันจบ
อยากได้อะไรบ้างหรือเปล่า นั่งอยู่อย่างนี้อยากได้อะไรบ้างหรือเปล่า หรือไม่อยากได้ ความจริงอยากไม่จบ ลองดู อยากได้แล้วก็ได้ แล้วก็อยาก แล้วก็ได้ แล้วก็อยาก แล้วก็ได้ ไม่มีวันจบเลย ตั้งแต่เกิดไปเรื่อยๆ สู้รู้ความจริงไม่ดีกว่าหรือ แทนที่จะอยากได้ๆ ทุกขณะ ตลอดทั้งหมด อยากเห็นทางตา ทางหูอยากได้ยิน แล้วก็เพลินไปสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทั้งวันมีแต่อยาก แล้วก็ติดข้อง โดยไม่รู้ความจริง แล้วความอยากก็ไม่มีวันจบ แต่ถ้ารู้ความจริงยังจบได้ คือ จบอยาก ซึ่งไม่มีทางจะจบได้ โดยไม่รู้ความจริง
เพราะฉะนั้น การเข้าใจความจริง ไม่ใช่เรา ฝืนไม่ได้ ไม่อยากมีโลภะก็ไม่ได้ เพราะมีเหตุที่จะให้เกิด เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏด้วย ไม่ใช่สิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อยากรู้ใช่ไหมคะ สิ่งที่ยังไม่มาถึง อยากอีกใช่ไหม ยังไม่มา ยังไม่เกิดขึ้น แต่อยากแล้ว
เพราะฉะนั้น ก็จะมีแต่อยากในสิ่งที่กำลังปรากฏ ในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว และในสิ่งที่ยังไม่มาถึง วันหนึ่งๆ ก็เป็นอย่างนี้มานานแสนนาน แล้วก็ยังจะเป็นต่อไปไม่รู้จบ แต่ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นจะหมดความอยากทันที แต่ต้องเป็นไปตามลำดับ เมื่อเช้านี้ก็ยกตัวอย่างดอกไม้สวย จะไม่ชอบไม่ได้ ชอบเกิดแล้ว เกิดแล้วทันทีที่เห็น ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ แล้วก็เห็นอีก ก็ยังชอบต่อไปอีก เพราะไม่รู้ความจริง
เพราะฉะนั้น การรู้ความจริงแล้วหมดชอบทันที จะเป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การรู้ความจริง ความชอบ ความไม่ชอบก็เป็นความจริง ซึ่งไม่ใช่เราด้วย
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ให้เว้นความจริงทั้งหมดว่า รู้อันนี้ ไม่รู้อันนั้น แล้วสามารถละความติดข้องได้ แต่ต้องเห็นตามความเป็นจริงว่า เพราะไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว ที่ว่าเป็นดอกไม้ จะต้องมีสิ่งที่รวมกันจนกระทั่งปรากฏเป็นรูปร่างของกลีบดอกไม้ เกสรดอกไม้ ก้านดอกไม้ คิดดูซิคะ แต่ละหนึ่งที่ละเอียดมากมารวมกันแล้วก็เกิดดับ ปรากฏลวงให้เห็นเหมือนกับว่าไม่ดับเลย
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราจะหมดความยินดีทันทีที่รู้ความจริง แต่ไม่ยึดถือสิ่งนั้นว่า เป็นสิ่งที่เที่ยง และเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า “อนิจจัง” ไม่เที่ยง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ เพราะเหตุว่าการเกิดดับนั้นคงอยู่ไม่ได้ถ้าเกิดแล้วไม่ดับ ลักษณะที่เกิดดับนั้นไม่น่าจะยินดีว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หลงจำว่า มี เมื่อกี้นี้มีไหมคะ เมื่อกี้นี้ไปไหนมา เมื่อกี้นี้ทำอะไร มีหมดเลย เล่าได้ บอกได้ด้วย เหมือนกับว่ามีจริงๆ แต่ความจริงไม่มีเหลือเลย ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ลวงว่ายังอยู่แล้วยังจำว่ายังมี จำว่าเที่ยง เพราะไม่เห็นการเกิดดับ จึงมีคำว่า “นิจสัญญา” และ “อัตตสัญญา” และ “สุขสัญญา” ตรงกันข้ามกับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เพราะฉะนั้น โลกไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงแก่ผู้ไม่มีปัญญา การที่ผู้มีปัญญาจะมีความเห็นต่างกับผู้ไม่มีปัญญา ก็จะเหมือนกันไม่ได้เลย ผู้มีปัญญาก็เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ค่อยๆ เข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วรู้ว่า ถ้ายังคงไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เช่น ต้องเห็นก่อน แล้วก็มีนิมิตที่ทำให้จำได้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเมื่อจำแล้ว เหมือนกับว่า สิ่งนั้นไม่ได้ดับไปเลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นนิจสัญญา เหมือนมีเรา เมื่อกี้นี้ก็เป็นเรา ขณะที่กำลังนั่งอย่างนี้ก็เป็นเรา แต่ว่าตามความเป็นจริงแตกย่อยออกไปแล้ว รูปที่เล็กที่สุดจะเป็นเราได้อย่างไร แม้แต่ธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย เห็นแล้วก็ดับ ได้ยินแล้วก็ดับ จะเป็นเรา หรือจะเป็นใครได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เห็นดอกไม้ เห็นจริง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็จริง จำว่าเป็นดอกไม้ก็จริง ชอบดอกไม้ก็จริง เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ได้ว่า แต่ละหนึ่งเป็นธรรมซึ่งมีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่ให้เราไปทำ หรือว่าให้เราไปเสแสร้ง แต่ทันทีที่สิ่งนั้นเกิดแล้วก็รู้ตามความเป็นจริง