สุขเท่าไหร่ก็ไม่พอ


    ดีแล้ว ดีแต่ไม่เข้าใจพระธรรม ความดีนั้นไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่าดีอย่างไรก็ยังไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีเรา แต่มีธรรมฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้น ปัญญาสามารถเห็นถูกว่า ดีเป็นดี ชั่วเป็นชั่ว แล้วมีหรือที่ปัญญาจะเลือกทางชั่ว

    เพราะฉะนั้น เริ่มอย่างไร ก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ซึ่งเด็กทุกคนเกิดมาเขาเห็นถูกหรือเปล่า ไม่ได้ยินได้ฟังอะไรเลย แต่เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็สามารถไตร่ตรองพิจารณาได้ ก็แล้วแต่กำลังของสติปัญญา อย่างบางคนก็บอกว่า เขาชอบความสุขเหลือเกิน ใครบ้างไม่ชอบ ยิ่งสุขยิ่งชอบ ก็ถามเขาว่า ถ้าความสุขนั้นไม่เกิดเสียเลย จะไม่ดีกว่าหรือ เพราะเหตุว่าเกิดแล้วต้องชอบ แล้วไม่พอ ยิ่งสุขก็ยิ่งชอบ จะถึงจุดจบหรือที่สุดของความสุขไหม ในเมื่อเท่าไรก็ไม่พอ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนที่ฉลาด และรู้ความจริง อาจหาญที่จะรู้ว่า ถ้าความสุขนั้นไม่เกิดขึ้นเสียเลย จะไม่ดีกว่าหรือ เพราะฉะนั้น ต้องอาจหาญมากที่จะรู้ว่า หนทางที่จะไม่เกิดมี เพราะฉะนั้น ฟังธรรมทั้งหมดแม้แต่ทุกขอริยสัจจะ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา มรรคมีองค์ ๘ จะได้ไปรู้ความจริงซึ่งเป็นทุกข์ เป็นเหตุของทุกข์ จะได้ถึงการดับทุกข์ ถึงนิโรธ และรู้ว่าหนทางนั้นคืออะไร

    เพราะฉะนั้น หนทางนั้นคือไม่ต้องเกิดอีกเลย แม้แต่ความสุขที่ต้องการ สุขเท่าไรก็ไม่พอ อยากสุขอีก สุขอีก แต่ก็ต้องรู้ว่า ถ้าไม่สุข หรือสุขนั้นไม่เกิดเสียเลย จะไม่ดีกว่าหรือ นี่คือสุข แล้วทุกข์ล่ะ ยิ่งไม่ต้องเกิดเสียเลย

    เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี เพียงชั่วคราวจริงๆ อย่างที่เคยยกตัวอย่างอาหารอร่อย ทุกคนรับประทานอาหารอร่อย พอใจมาก กำลังเป็นสาระเหลือเกิน แล้วก็ลืม มีใครบ้างไม่ลืม เมื่อวานนี้คงมีหลายคนรับประทานอาหารอร่อย มื้อเที่ยง มื้อเย็น รับประทานอะไรบ้างคะ รสอะไรที่ว่าอะไร เป็นสูปะ หรือเป็นพยัญชนะ โดยศัพท์ของพระวินัย เวลารับประทานอาหารต้องมีแกง ส่วนใหญ่ ทานข้าวแกง อาหารหลักคือข้าวกับแกง แต่ก็ยังมีพยัญชนะ อาหารประกอบอีกมากมาย เพราะฉะนั้น เวลาที่บริโภคอาหารก็ไม่มีเพียงข้าวกับแกง แต่ก็ต้องมีอาหารอื่นประกอบด้วย คือทั้งแกง และอาหารอื่นๆ เป็นสูปพยัญชนะ

    เมื่อวานนี้อร่อยไหม อะไรอร่อย สูปะอร่อย หรือพยัญชนะอร่อย รสชาติเป็นอย่างไรคะ อาหารที่เป็นพยัญชนะที่ว่าอร่อยหลายหลาก และสูปะอร่อยเป็นอย่างไร ลืมหมด ไม่มีความสำคัญใดๆ เลย เพราะลืมแล้ว

    เพราะฉะนั้น สุขอย่างไรก็ตามแต่ ถ้าไม่เกิดเสียเลยจะไม่ดีกว่าหรือ

    เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดสำหรับไตร่ตรอง สัจจะ ความจริง เป็นความจริง แต่สามารถเข้าใจความจริงในขั้นฟังก่อน แค่ไหน และในขั้นฟังไม่ใช่สามารถจะเป็นอย่างที่เข้าใจได้เลย แต่ต้องอบรม ปัญญาสามารถเจริญขึ้น เพราะว่าอวิชชาไม่เห็นเลย อวิชชาไม่รู้ เป็นเหตุให้เกิดโลภะความติดข้อง แต่ปัญญาเป็นความรู้ เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ได้ทำให้ติดข้องเลย ปัญญาทำให้สละ ละสิ่งที่เคยติดข้องได้ แม้จะเคยติดข้องมานานแสนนานสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังสามารถดับ และสละคืนหมดเลย ไม่ต้องการอีกแล้วได้


    หมายเลข 9606
    19 ก.พ. 2567