มีกำลังกล้า-มีกำลังอ่อน
อ.กุลวิไล สำหรับถีน (ถีนะ) ท่านกล่าวว่าถีนเป็นไฉน ความที่จิตไม่ข้อง ไม่ควรแก่การงานชื่อว่าถีน ส่วนมิทธะเป็นไฉน ความที่กายไม่ข้องไม่ควรแก่การงานชื่อมิทธะ สิ่งนี้จะเห็นความต่างของอสังขาริกกับสสังขาริก
ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมละเอียด และลึกซึ้ง แม้ว่าจะกล่าวไว้แสดงไว้โดยประการต่างๆ แต่การที่เราจะเข้าถึงความหมาย เราจะเข้าใจได้แค่ไหน เช่นคำว่า “มีกำลังกล้า” กับ “กำลังอ่อน” เพียงเท่านี้ ๒ คำ ก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองว่าจริงๆ แล้วหมายความถึงอย่างไร มีกำลังกล้ามากถึงขณะดุร้าย หรือมีกำลังกล้าเพราะว่าสะสมมาที่สามารถจะเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่อาศัยการชักจูง เช่น ขณะที่ทุกคนกำลังนั่งอยู่ที่นี่ กำลังฟัง มีโทสะบ้างไหม เห็นไหมแค่นี้ จะรู้ไหม เพียงขณะที่กำลังอยู่ที่นี่ เพราะว่าธรรมเป็นชีวิตจริงๆ ถ้าจะเข้าใจธรรมก็คือว่ามีสภาพธรรมจริงๆ ถ้าเข้าใจตรงนี้ได้ก็สามารถที่จะเข้าใจข้อความอื่นได้ด้วย แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยตามกำลังของสติปัญญา เช่นคำว่า “มีกำลังกล้า” กับ “ไม่มีกำลัง” ๒ คำนี่ต้องเข้าใจถึงความหมายว่า “กล้า” หมายความว่าอย่างไร “มีกำลังอ่อน” หมายความว่าอย่างไร แต่อย่างไรทั้ง ๒ ประเภทเกิดแล้ว เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ถามว่าขณะที่กำลังนั่งมีโทสะบ้างไหม ใครบอกว่าไม่มี หรือใครคิดว่ามีด้วย มีไหม ขณะที่กำลังนั่งตั้งนาน มีโทสะเกิดขึ้นบ้างไหม ต้องมี เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็มี เกิดแล้วมีใครไปชักจูงหรือไม่ หรือว่ามีกำลังพอที่จะเกิดตามการสะสม แต่เป็นประเภทที่แม้ว่าจะเป็นความรำคาญ เช่น ผมที่จะปรกลงมาที่หน้าผากสักเส้นหนึ่งหรือสองเส้น ความรำคาญเกิดแล้วเป็นจิตประเภทไหน เป็นโทสมูลจิต เวทนาขณะนั้นเกือบจะไม่รู้ว่าเป็นโทมนัส แต่ความไม่สบายใจแม้เพียงนิดเดียวนั่นก็ใช่แล้วคือต้องเป็นโทสมูลจิต แล้วก็มีกำลังหรือไม่มีกำลังเพราะว่าเกิดแล้วโดยไม่มีใครมาชักจูง แต่เกิดแล้ว
เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงคำเราก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าจริงๆ แล้วมุ่งหมายอย่างไร มีปัจจัยที่จะเกิด หรือต้องอาศัยการชักจูงคือขณะแรกๆ ก็ไม่เกิด แต่ขณะหลังๆ ก็เกิดได้ เช่น ถ้าเห็นสิ่งหนึ่งยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไร กลัวไหม ยังไม่รู้เลย ตัวดำๆ อยู่ที่ดิน ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ขณะนั้นจะกลัวหรือยัง หรือว่ากลัวแล้ว แค่นั้นก็กลัวแล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีปัจจัยที่จะให้โทสะเกิด แต่ดูไปดูมาเป็นงู ตกใจไหม เพราะฉะนั้นความที่ครั้งแรกยังไม่เกิด และภายหลังก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นจากการดู จากการไตร่ตรอง จะกล่าวว่าเป็นอสังขาริกหรือสสังขาริก นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้ารู้ขณะจิตก็สามารถจะบอกได้ แต่ถ้าไม่รู้เราก็คงจะคิดว่าขณะไหนเป็นสสังขาริก และขณะไหนเป็นอสังขาริก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ขณะที่เราสามารถจะเจาะจงตอบคำถามทุกคำถามได้ว่า ขณะนี้อย่างนี้เป็นสสังขาริกหรือว่าเป็นอสังขาริก แต่ว่าให้ทราบว่าการที่ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตเกิดได้ก็จะต่างกัน โดยที่มีกำลังกล้ามีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเอง หรือว่าไม่มีปัจจัยในตอนแรก แต่อาศัยการชักจูง หลังๆ เกิดขึ้นพิจารณาหรือใคร่ครวญ หรือคิดไปคิดมาก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นก็เป็นฝ่ายของที่เป็นสสังขาริก เพราะเหตุว่าอาศัยสังขารคือการที่คิดแล้วคิดอีกก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นสสังขาริกตลอดไปหรือว่าจะเป็นอสังขาริกตลอดไป นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะรู้ แต่ว่าถ้าเราไม่ติด ๒ คำนี้ คือไม่ติดที่คำว่า “สสังขาริก” หรือ “อสังขาริก” ก็สบายใช่ไหม ไม่เดือดร้อน ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เกิดแล้วมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏแล้ว เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับตามกำลังที่สามารถจะรู้ได้ เข้าใจได้ ก็จะทำให้เราไม่อึดอัด ไม่เดือดร้อนไม่กังวล เพราะเหตุว่า การเข้าใจธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย สามารถที่จะรู้ว่าเป็นบุญที่ได้มีโอกาสได้ฟัง และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจจริงๆ ไปได้ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าสามารถประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องละ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำให้เราเกิดสงสัยอยากรู้ และกระวนกระวาย และก็เดือดร้อน ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศลจิต
ที่มา ...