พอใจที่จะโกรธ


    อ.วิชัย เกี่ยวกับที่แสดงลักษณะของโทสะว่ามีรากเป็นพิษ มียอดหวาน ถ้ากล่าวถึงรากเป็นพิษก็เห็นโทษของลักษณะของโทสะ ถ้าแสดงถึงยอดหวาน ซึ่งโทสะเกิดมีความพอใจด้วย และส่วนมากจะพิจารณาว่าจะไม่ชอบโทสะ

    ท่านอาจารย์ แต่ส่วนมากพอใจที่จะมี

    อ.วิชัย คือลักษณะของโทสะเป็นสภาพที่ไม่พอใจตามที่ท่านอาจารย์กล่าว แต่ว่ามีฉันทะด้วย รู้สึกว่าจะขัดๆ กัน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วสภาพธรรมที่เกิดไม่มีใครยับยั้งได้ แม้แต่ที่ทรงแสดงว่าเวลาที่โทสะเกิดกับจิตก็จะมีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ก็แสดงว่าบุคคลนั้นยังมีฉันทะในโทสะที่จะเกิด มิฉะนั้นแล้วก็ต้องถึงการที่จะดับโทสะเป็นสมุจเฉท เวลาที่โกรธ ชอบ ไม่หยุดเลย ใช่ไหม โกรธนึดหนึ่ง ต่อไปอีก ต่อไปอีกด้วยฉันทะ ก็แสดงว่าต้องมีความชอบในลักษณะนั้นที่จะให้เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เท่าที่พิจารณาตอนโกรธ ก็ไม่ค่อยได้คิดว่ามีความพอใจในโกรธขณะนั้น แต่ภายหลังก็จะคิดว่าไม่น่าจะเป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าคน ๒ คนแสดงความคิดเห็น ถ้าความเห็นนั้นต่างกัน ไม่จบ ถ้าจบ คำเดียวที่เป็นโทสะก็หยุดแล้ว แต่ยังมีโทสะที่จะกล่าวถึง แสดงความคิดเห็นด้วยความขุ่นข้องใจต่อไปอีก ต่อไปอีกๆ นั่นคือฉันทะในโทสะ

    ผู้ฟัง ถ้าพอใจที่จะโกรธ ก็คิดว่ามีกำลังมากกว่าโกรธธรรมดา จะสะใจ นึกถึงเวลาที่สะใจที่จะว่าใครสักอย่าง กำลังของโทสะจะมากกว่าธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดง คือให้เห็นความจริงว่าเวลาที่เรามีอกุศลเกิดขึ้นเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า แม้มีฉันทะในอกุศลก็ไม่รู้ แล้วหิริโอตตัปปะจะมาจากไหน เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าหิริโอตตัปปะของเราน้อยมากเพียงขั้นไม่ล่วงศีล ในขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะที่สามารถจะวิรัติจากทุจริต เว้นจากสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำ หรือขณะที่กำลังเกิดจาริตศีลคือความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่สมควรจะกระทำ ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามีหิริโอตตัปปะที่ถ้าไม่ทำเราก็รู้สึกว่าไม่สมควร จึงกระทำสิ่งที่สมควรต่อผู้ที่สมควรได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150


    หมายเลข 9679
    31 ส.ค. 2567