อิสสา_มัจฉริยะ


    อ.กุลวิไล จะเห็นได้ว่าโทสะมีทั้งโกรธ และถึงขั้นที่พยาบาทด้วย และก็ขุ่นเคืองใจด้วยซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่ทำร้าย ประทุษร้ายจิตใจสำหรับผู้ที่โกรธก็จะกระสับกระส่าย ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือสภาพธรรมที่มีเกิดกับเราในชีวิตประจำวันนั่นเอง

    อ.ธิดารัตน์ กล่าวถึงลักษณะของโทสะ ขณะที่มีอิสสาเกิดขึ้นร่วมด้วยกับโทสะ ลักษณะของอิสสากับมัจฉริยะจะมีความต่างกัน ถ้าเป็นอิสสาจะเป็นลักษณะที่ริษยาเป็นลักษณะ ถ้าเราไม่ยินดีในสมบัติของผู้อื่น อย่างเช่นเห็นผู้อื่นได้ลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ ก็เกิดความไม่พอใจ ก็เกิดร่วมกับโทสะด้วย ส่วนมัจฉริยะจะมีความต่างกันอยู่ มัจฉริยะ จะเป็นการปกปิดสมบัติของตนเป็นลักษณะ อย่างของที่เรามีอยู่ แล้วหวงแหน และไม่อยากให้ของนั้นกับผู้อื่น เป็นลักษณะของมัจฉริยะ

    การตระหนี่ท่านก็จะแยกออกเป็นลักษณะที่ว่าตระหนี่ที่อยู่ ที่นั่ง ที่นอนต่างๆ ถ้าใครมาใช้ เราก็จะเกิดความไม่พอใจ ไม่ต้องการให้เขามาใช้โต๊ะ เก้าอี้ ที่นั่ง ที่นอน อะไรต่างๆ อันนี้จะเป็นการตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูลก็คือไม่ต้องการให้บุคคลผู้อื่นมาสนิทสนมกับตระกูลอย่างเช่น ถ้าเป็นพระภิกษุก็จะหมายถึงตระกูลที่อุปฐากท่านอยู่ ท่านก็ไม่ต้องการให้ไปอุปฐากผู้อื่น หรือว่าถ้าเป็นคฤหัสถ์ ญาติพี่น้องของเรา หรือเพื่อนสนิทของเรา ก็ไม่อยากให้คนอื่นมาสนิทด้วย เรียกว่าหวงเพื่อน หวงญาติ อันนี้ก็เป็นตระหนี่ตระกูล อีกอย่างหนึ่งก็คือการตระหนี่ลาภๆ นี่ก็หมายถึงว่าไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ลาภเหมือนอย่างที่เราได้ เช่นเราได้อะไร ก็ไม่อยากให้ผู้อื่นนั้นได้ อันนี้ก็เป็นการตระหนี่ในลาภ

    ผู้ฟัง อะไรที่ไม่ได้เกิดกับเรา มันคิดยาก

    ท่านอาจารย์ เคยมีบางคนเขาบอกว่าเขาไม่อยากให้เพื่อที่เขาสนิทสนมคุ้นเคยไปสนิทสนมคุ้นเคยกับคนอื่น นี่สำหรับคฤหัสถ์ แต่ว่าถ้าเป็นบรรพชิตๆ ไม่มีญาติพี่น้อง แต่มีตระกูลอุปฐาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่ต้องการให้ตระกูลอุปฐากไปอุปฐากภิกษุอื่นก็เป็นการตระหนี่ตระกูล ต้องการให้เป็นของตนผู้เดียว ไม่ต้องการให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมด้วย

    อ.ธิดารัตน์ ก็จะมีอีกข้องหนึ่ง วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่ผิวพรรณ ตระหนี่คำสรรเสริญต่างๆ คือเป็นบุคคลที่คือพูดชมคนอื่นไม่ได้เลย อย่างเช่นคนอื่นเขามีรูปร่างสวยน่าดู น่าชม มีกิริยามารยาทเรียบร้อยต่างๆ ก็กล่าวชมเขาไม่ได้ ตรงนี้ก็ตระหนี่คำชม และก็ตระหนี่ธรรมก็มีอีกข้อหนึ่ง ธัมมมัจฉริยะหมายถึงปริยัติธรรม เรียนปริยัติต่างๆ อย่างจะอธิบายก็พูดนิดๆ หน่อยๆ ไม่พูดทั้งหมดกลัวเขาจะเข้าใจได้มากกว่าตัวหรือเท่าตัว อันนี้ก็เป็นการตระหนี่ธรรม ซึ่งจริงๆ อันนี้จะไม่เกิดกับพระอริยบุคคล เพราะพระอริยบุคคลไม่มีการตระหนี่ในธรรม


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151


    หมายเลข 9693
    31 ส.ค. 2567