วันนี้หวงอะไรบ้างหรือเปล่า


    ผู้ฟัง มัจฉริยะ สำหรับบางคนมีทรัพย์สินเงินทองพอที่จะใช้จ่ายโดยซื้อเสื้อผ้าดีๆ อาหารที่มีคุณภาพดีมารับประทาน บางคนนี่ไม่ยอม ถึงแม้จะมีเงินแต่ไม่ยอมใช้ จะเอาของที่เก็บจนใกล้จะเสียมารับประทานเสียก่อน อันนี้นับเป็นมัจฉริยะหรือเปล่า ถึงเขาจะมีเงินก็ไม่ได้มีโอกาสได้ใช้ของดีหรือได้รับประทานของดีเลย

    อ.อรรณพ คนที่เขามีสมบัติข้าวของมากมายแต่เขาไม่น้อมไปที่จะใช้สมบัติของเขา หรือความตระหนี่เป็นอย่างยิ่ง ตระหนี่แม้กระทั่งตัวเองที่จะไม่ใช้สอย ไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่มี ก็เป็นความตระหนี่ที่มากมาย ในขณะที่เขาได้รับวิบากที่ดีก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่ในขณะที่เขาแม้ว่าจะมีสิ่งที่เอื้อให้เขาพร้อมที่จะได้รับวิบากที่ดี แต่ด้วยการสะสมของกิเลสของเขา ให้เขาน้อมไปที่จะไม่ใช้สิ่งที่พร้อมที่จะให้เขาได้รับวิบากที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เขาไม่น้อมไปที่จะได้สิ่งนั้น ดังนั้นเขาจึงไม่ได้รับวิบากที่ดี

    ผู้ฟัง อันนี้จะนับเป็นโลภะด้วยหรือเปล่า

    อ.อรรณพ สลับกัน ความติดข้องนี่ต้องมี ถ้าไม่มีความติดข้องเป็นพื้นฐาน มัจฉริยะก็ไม่มี แต่ว่ามัจฉริยะนั้นไม่ได้เกิดร่วมกับโลภะ แต่เกิดร่วมกับโทสะ แต่เพราะว่ามีความติดข้องเป็นพื้นอยู่จึงมีความตระหนี่ในสิ่งที่ตัวเองติดข้อง

    อ.วิชัย เรียนถามท่านอาจารย์ ที่ท่านอัฏฐกถาได้กล่าวลักษณะของมัจฉริยะ และไม่ใช่มัจฉริยะ อย่างเช่นท่านอัฏฐกถากล่าวว่าบุคคลที่ทุศีลไม่ให้เขามาอยู่ในอาวาสต่างๆ อันนี้ก็ชื่อว่าไม่มัจฉริยะ อันนี้จะพิจารณายังไง อย่างเช่นสมมติบ้านเรารู้ว่าบุคคลนี้ไม่ดี ถ้าเข้ามาทำความเดือดร้อน แต่การเข้ามาก็ทำให้เราไม่พอใจ อันนี้จะเป็นลักษณะของมัจฉริยะหรือไม่ มัจฉริยะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องราวทั้งหมดเลย เวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้นเราไม่รู้ เพราะว่าเราอาจจะคิดถึงชื่อว่า เอ๊ะ เป็นอะไร นี่จะเป็นลาภมัจฉริยะ หรือกุลมัจฉริยะหรืออะไรต่างๆ แต่ว่าตามความเป็นจริงสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยคำใด เรื่องราวใด แต่ก็ต้องรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่าเรื่องของอกุศลที่เป็นโทสมูลจิตก็เป็นขณะที่แม้มีอาจจะวันหนึ่งบ่อย ก็ไม่ได้สังเกตเลย นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกอื่นจะเกิดกับโทสมูลจิตได้ แต่ให้ทราบว่าอกุศลปกติมีมากเป็นประจำ ไม่รู้ อย่างโลภะเกิดกับความรู้สึกเฉยๆ จะรู้ได้ยังไง ในเมื่อตื่นขึ้นมาก็เป็นโลภะไปเรื่อยเลย ตั้งแต่เริ่มตื่นนอนจนกระทั่งรับประทานอาหาร แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีลักษณะของโสมนัสเวทนา หรือว่าลักษณะของอุเบกขาเวทนา แต่ถ้าเป็นอกุศลประเภทหนึ่งซึ่งต่างกับโลภะ จะประกอบด้วยเวทนาที่พอจะรู้สึกได้ คือเปลี่ยนจากปกติซึ่งเคยไม่รู้ด้วยความเฉยๆ หรือว่าด้วยความโสมนัสพอสมควรที่เป็นชีวิตประจำวัน แต่มากลับกลายเป็นลักษณะของสภาพความรู้สึกอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นความไม่พอใจ หรือว่าเป็นความไม่สบายใจ วันหนึ่งๆ เราไม่ได้สังเกตเลย ถ้าความไม่สบายใจนั้นเล็กน้อยมากจากการแปรสภาพของความรู้สึกเฉยๆ มาเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจแม้เพียงเล็กน้อย อย่างแม้ในขณะนี้มีความไม่สบายใจบ้างไหม แม้เพียงนิดเดียว ชั่วขณะเพียงเล็กน้อย อาจจะไม่ได้สังเกตเลย เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เป็นความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวง หรือความโทมนัส แต่ก็เพียงนิดเดียว มีไหมแถวนี้ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นใจ หรือว่าไม่สบายใจ แต่ก็ไม่ได้สังเกตเลย ถ้าลักษณะนั้นไม่มากพอก็ไม่ สามารถที่จะรู้ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของมัจฉริยะซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกซึ่งเกิดกับโทสะ ไม่ได้เกิดกับโลภะ นี่เป็นสิ่งที่เราจะค่อยๆ เข้าใจเวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วไม่รู้ ก็ไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร ก็มีแต่เพียงชื่อที่กำลังค้นคว้าว่าขณะนั้นเป็นอะไร แต่ให้ทราบว่า ถ้าเป็นเรื่องของมัจฉริยะก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลอื่น เป็นความตระหนี่ ความหวงแหน เพราะเหตุว่า ทุกคนมีโลภะแน่นอน มีความพอใจในสิ่งของๆ ตน แล้วแต่ว่าจะพอใจมาก ทะนุถนอมไม่ค่อยใช้ หรือว่าจะใช้บ่อยๆ หรือว่าแม้แต่ใช้ ก็ใช้ด้วยความระมัดระวัง ด้วยการทะนุถนอมมากมาย นั่นก็เป็นเรื่องของความติดข้อง แต่ก็ยังไม่เกี่ยวกับมัจฉริยะ เพราะเหตุว่า ยังไม่มีบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้สึกหวงในภาษาไทยธรรมดา ถ้าจะเข้าใจความหมายของมัจฉริยะ ก็คือ หวงๆ นี่เรารู้ใช่ไหม แต่พอพูดถึงมัจฉริยะ ก็เป็นคำอีกคำหนึ่งซึ่งลักษณะเป็นยังไง เกิดโทสมูล จิตเป็นเรื่องราวต่างๆ แต่วันหนึ่งๆ เราหวงอะไรบ้างหรือเปล่า หรือไม่หวงเลย อาหารอร่อยหวงไหม ให้ใครรับประทาน เรารับประทานด้วย โลภะ ลูกหลานมาก่อน แล้วก็แล้วแต่ว่าคนในบ้านระดับไหน นี่เป็นความหวงหรือเปล่า

    แต่ว่าจริงๆ แล้วสำหรับผู้ที่เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมมีความสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นผู้ที่ไม่มีอคติในการที่จะให้หรือไม่ให้ อย่างคำถามของคุณวิชัย ก็แสดงให้เห็นว่าก็มีความรู้สึกที่เป็นอกุศลมากมายหลายระดับโดยที่ไม่รู้เลย ถ้าคิดถึงชื่อ แต่ถ้าคิดถึงความจริงว่าวันนี้หวงอะไรบ้างหรือเปล่า ใครมาแตะมาต้องอะไรของเราบางสิ่งบางอย่างได้หรือเปล่า หรือว่าบางอย่างก็จับได้ ใช้ได้ แต่บางอย่างก็หวง อย่างนี้ไม่ให้ใช้ตรงนี้ ต้องใช้ตรงนั้น ใช้บนบ้าน ใช้ในครัวไม่ได้ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของธรรมดา แล้วแต่ว่าจะเป็นการที่มีความติดข้องด้วยความติดข้อง หรือว่าด้วยความตระหนี่ ถ้าเวลาที่เกิดความตระหนี่ขึ้น ให้ทราบว่าขณะนั้นต้องเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ แต่ถ้าไม่เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ เป็นแต่เพียงความติดข้อง ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่ตระหนี่ เป็นแต่การรักของทะนุถนอมของด้วยความติดที่อยากจะให้สิ่งนั้นไม่เสียหาย เพราะฉะนั้น ถ้ามีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็จะเข้าใจลักษณะของความหวงหรือความตระหนี่ เพราะว่าจะตระหนี่กับผู้ไม่เป็นที่รักเท่านั้น ถ้าผู้เป็นที่รักจะตระหนี่บ้างไหม มีอะไรก็ให้หมด ถึงแม้ว่าจะเป็นของที่รักมากก็ให้ได้ นี่คือขณะนั้นกับบุคคลที่รักจะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความตระหนี่ แต่ถ้าเกิดความหวงบุคคลใดก็ควรจะได้พิจารณาว่าขณะนั้นมีเมตตาในบุคคลนั้นหรือเปล่า หรือว่าเพื่อประโยชน์ อย่างคำถามของคุณวิชัยที่ว่าบ้านเรือนถ้าเขามาอยู่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ กับคนในบ้าน หรือว่าความเดือดร้อนต่างๆ กับคนในบ้าน เราคิดเพื่อป้องกัน เพื่อไม่ให้อกุศลจิตเกิดด้วยความถูกต้อง หรือว่าเราก็ได้ยินคำนี้ก็เลยกลัว เดี๋ยวจะกลายเป็นตระหนี่ก็เลยยอมๆ ไปไม่ว่าใคร อย่างนั้นไม่ได้ ต้องเป็นความถูกต้อง ต้องเป็นคนที่มีเหตุผล และเข้าใจลักษณะของสภาพจิตในขณะนั้นด้วยว่าสภาพจิตในขณะนั้นเป็นอะไร

    อ.ธิดารัตน์ อย่างนี้หมายความว่าอย่างที่ท่านแสดงว่าอย่างเช่นใช่มัจฉริยะ หรือไม่ใช่มัจฉริยะ อย่างตัวอย่างที่ไม่ใช่หมายถึงว่าเป็นการพิจารณาโดยความถูกต้อง รู้เหตุรู้ผล


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151


    หมายเลข 9695
    31 ส.ค. 2567