ความรู้ไม่มั่นคงพอที่จะสละความเป็นเรา


    คุณอุไรวรรณ ขณะฟังธรรม และเข้าใจธรรมที่ฟังนั้นก็เป็นการเจริญปัญญาทีละเล็กทีละน้อย ทีละขั้น ทีละตอน คุณธีรพันธ์มีโทสะมากหรือน้อยคะ

    อ.ธีรพันธ์ มีมากแน่นอน แต่ว่าต้องอาศัยการฟังพระธรรมว่าที่มีมากเพราะอะไร อย่างเช่นลักษณะของโทสะกับโลภะก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากเหมือนกัน ถ้าไม่ได้ศึกษาสภาพธรรมก็จะเข้าใจว่าโลภะเป็นโทสะก็ได้ หรือว่าโทสะเป็นโลภะก็ได้ฉะนั้นการศึกษาพระอภิธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา และพิจารณาความลึกซึ้งของความเป็นอภิธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องละเอียด แม้คำเดียวคือคำว่า "ธรรม” ฟังกี่ปีถึงจะถึงความเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลหรือยัง นี่คือเราข้าม คือเวลาที่ธรรมเกิด เรารู้ว่าเป็นอกุศลก็มีความขุ่นเคืองใจด้วยความเป็นเราคือขณะนั้นจะขาดความเข้าใจธรรม ลักษณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นเพียงสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าเกิดไม่หยุด สมมติว่าเกิดเสียจนมากมายก็คือมีปัจจัยที่จะเกิดอย่างนั้น แต่ความมั่นคงของเราที่จะเข้าใจ มั่นคงว่าขณะนั้นเป็นธรรมเพียงพอหรือเปล่าที่จะสละความเป็นเรากับอกุศลที่กำลังเป็นขณะนั้น นี่คือการที่จะเห็นความต่างของกุศลกับอกุศลๆ ก็ยับยั้งไม่ได้ ไม่อยากให้เกิดเลยแต่ก็เกิด กุศลก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อยากให้เกิดมากๆ ก็ไม่เกิด โดยเฉพาะที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เราเลย

    จะเห็นได้ว่าต้องอาศัยการฟัง การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ จากการที่ก่อนฟังไม่เคยฟังเลย และเริ่มเข้าใจขึ้น คนที่มีกิเลสทั้งวันก็ไม่รู้ว่ามีกิเลส บางทีอาจจะไม่มีกุศลเลยก็ได้ในวันนั้น ไม่มีการให้แต่ก็ไม่ได้มีการที่จะวิรัติกายวาจาที่ไม่ควร เพราะว่าเป็นเรื่องของกายวาจาที่ควรด้วย พูดจาก็ยังเหมือนเดิม เสียงแข็ง กระด้างทำให้คนอื่นไม่สบายใจอย่างไรก็อย่างนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องของสภาพธรรมเป็นจริง แต่ว่าไม่รู้ กับเมื่อเริ่มรู้ก็เห็นสิ่งที่เป็นจริง ไม่ได้ต่างจากที่เคยเป็นเลย แต่ว่าเริ่มรู้ แต่ว่าความรู้นั้นไม่มั่นคงพอที่จะสละความเป็นเราจากอกุศลทั้งหลายที่กำลังปรากฏ มิหนำซ้ำยังมีความเห็นผิดที่จะทำ ให้ทำอย่างอื่นที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับแล้วในขณะนั้นด้วย

    ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงต้องไม่ลืมว่าเป็นความละเอียด เป็นการที่ลึกซึ้งทุกคำเป็นจริง แต่ว่าปัญญาที่จะค่อยๆ ถึงลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจนั้นระดับไหน ระดับขั้นเพียงฟังหรือว่าระดับขั้นที่เริ่มจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่มักจะถูกโลภะหลอกลวงหลงกลพาไปทางอื่น คือทางที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเข้าใจว่าถ้าทำอย่างอื่นจะง่ายกว่า จะเร็วกว่า ก็เลยคิดว่าต้องมีหนทางอื่น แต่จริงๆ แล้วทรงแสดงไว้ว่าต้องมีหนทางเดียวคือการรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะ และค่อยๆ เข้าใจในความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตนจนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง เราก็แค่คิดว่าไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ แต่เรากำลังคิดว่าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ใช่ เรากำลังคิดว่าไม่ใช่เราๆ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเราก็ติดข้องอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ ฟังไปอีกๆ เพราะว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่มีหนทางอื่น และก็จะเห็นจริงๆ ว่ายากมากเหมือนกับการจับด้ามมีด ขณะนี้ไม่ทราบว่าจับไปแล้วกี่ครั้ง แต่การสึกของด้ามมีดก็ยังไม่ปรากฏเลย แต่ว่าความรู้ค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะฉะนั้น เราหวังอะไร เราหวังเกินหวังหรือเปล่า เกินความเป็นจริงที่สมควรหวังหรือเปล่า คือหวังไม่ให้มีอกุศล หวังไม่ให้มีโลภะ โทสะ โมหะ หวังให้ปัญญาเกิด หวังให้กุศลเกิด ทำไมไม่เพียงให้ละความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าถ้ายังมีความไม่รู้อยู่จะดับอะไรได้ ดับอะไรไม่ได้เลย ดับกิเลสทั้งหลายไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น คือการละความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ได้มุ่งหวังอะไรเลย เพราะว่านี่เป็นหนทางเดียวที่จะละความไม่รู้ด้วยการเจริญความรู้ขึ้น

    ผู้ฟัง มันเป็นเรื่องยากมาก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องๆ ไม่มีใครสักคนบอกว่าง่าย

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราบอกว่าเราฟังธรรมแล้ว และเราเข้าใจ แต่จริงๆ ก็ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมด และเราก็บอกว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าการที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ ก็คือ ฟังจนกระทั่งสังขารขันธ์ปรุงแต่งค่อยๆ เพิ่มขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152


    หมายเลข 9700
    31 ส.ค. 2567