ไม่สามารถจะคาดคะเนได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป


    ผู้ฟัง สติก็เกิดรู้ไม่ประมาท อันนี้ควรจะอย่างนั้น ควรจะอย่างนี้ ดิฉันกำลังจะเข้าไปถึงคำว่าสติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะไปซื้อของๆ แพงมาก กับของที่ไม่แพงมาก แต่เราก็พอใจที่จะซื้อเพราะเราอยากจะได้สิ่งนั้น เพราะว่าเราไปซื้อของก็หมายความว่าเราอยากได้ของ เพราะฉะนั้น เวลาที่ซื้อ ราคาพอสมควรขณะนั้นเป็นโลภะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น มันก็คนละขณะจิต ในขณะที่เขามีปัญญารู้ด้วยเหตุด้วยผล ขณะจิตนั้นปัญญาก็เกิดด้วยเหตุด้วยผล

    ท่านอาจารย์ ปัญญามีหลายระดับขั้น ไม่ซื้อของถูกเลย ซื้อของแพงมากเพราะอยากได้ แต่สติสัมปชัญญะสามารถที่จะรู้สภาพธรรมในขณะนั้นได้ไหม นี่ก็อีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น ไม่มีการตายตัวที่จะเป็นกฏเกณฑ์เลย

    พระพุทธศาสนาก็คือคำสอนที่สอนให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ตามปัจจัยอย่างรวดเร็วมาก แต่ละกาลเราไม่สามารถจะคาดคะเนได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่เมื่อเกิด รู้ได้ว่ามีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าค่านิยมของสังคมไทยในปัจจุบันมันน่ากลัวเหมือนกัน เราพูดคำว่า มัธยัสถ์กับตระหนี่ จะช่วยสังคมได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วดิฉันคิดว่าทุกคนนิยมความดี กระแสอาจจะไปทางหนึ่ง แต่ใจจริงๆ จะพ้นการเห็นสิ่งที่ดีว่าดีไม่ได้เลย ต้องเห็นว่าดีเป็นดี ไม่ดีเป็นไม่ดี อันนี้ก็แน่นอน ไม่ว่าจะสูงศักดิ์ สูงส่ง ลาภยศสรรเสริญสักเท่าไหร่ แต่ถ้ากาย วาจาไม่ดี คนอื่นจะบอกว่าดีได้ไหม เปลี่ยนไม่ได้เลย ความจริงเป็นยังไงก็ต้องเป็นอย่างนั้น หรือคนที่ไม่มีอะไรเลย สมบัติพัศฐานอะไรก็ไม่มี แต่ว่าเป็นคนใจดีมีเมตตากรุณาช่วยเหลือบุคคลอื่น แบ่งปันสิ่งที่มีอยู่น้อยยังสามารถที่จะให้คนอื่นได้ คนอื่นก็ต้องชื่นชมอนุโมทนา

    เพราะฉะนั้น ความดีอยู่ที่ไหน คนอื่นก็ต้องเห็น เราคงไม่ต้องไปตามกระแสเรื่องของค่านิยมต่างๆ เพราะเหตุว่าลึกลงไปจริงๆ ทุกคนชื่นชมในคุณงามความดี ก็ขอกล่าวถึงท่านผู้หนึ่ง ท่านก็เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินมาก แรกเริ่มเดิมทีท่านก็มีกระเป๋าหนังอย่างดี ก็ราคาแพง ต่างประเทศ เดี๋ยวนี้ท่านก็ถือย่าม สบายจะตายไป เบาออก ไม่เดือดร้อนเลย ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนว่าใครจะคิดยังไงถ้าเรามีความพอใจ เราไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ได้ไปว่ากล่าวใคร ไม่ได้ไปอิจฉาริษยาใคร


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152


    หมายเลข 9702
    31 ส.ค. 2567