อารมณ์คืออะไร


    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ก็เป็นเรื่องของจิต

    เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างของสภาพธรรม ๒ อย่าง นามธาตุไม่ใช่รูปธาตุ โดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาด โดยประการทั้งปวง นามธาตุซึ่งเป็นสภาพรู้จะกลายเป็นรูปซึ่งไม่รู้อะไรไม่ได้ แล้วรูปซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ก็จะกลับกลายเป็นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่ได้ รูปก็เป็นรูป นามก็เป็นนาม แต่ที่ร่างกายของแต่ละคน ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ขอใช้คำก้าวหน้าไปนิดหนึ่ง แต่ก็อาจจะเคยได้ยิน ให้ชินหูไว้ก่อนก็ได้ เป็นภูมิที่มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม ทั้ง ๒ อย่าง มีอยู่ในภูมิ ๔ ภูมิ ซึ่งไม่มีรูปเลย คือ อรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ เป็นด้วยกำลังของอรูปฌาน

    เพราะฉะนั้น ภูมิอื่นๆ ก็จะมีนามธรรม และรูปธรรม มี ๑ ภูมิที่ไม่มีนามธรรมเลย คือ อสัญญสัตตาพรหม เป็นผลของการอบรมเจริญฌานจนกระทั่งถึง ปัญจมฌาน ให้เข้าใจเรื่องของธรรม นามธรรม รูปธรรม แล้วก็นามธรรมก็เป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ขณะใดที่จิตเกิดจะไม่รู้อะไรได้ไหมคะ ไม่ได้ เพราะว่าลักษณะของธาตุชนิดนี้เป็นสภาพรู้ เมื่อลักษณะของธาตุชนิดนี้เป็นสภาพรู้ ทุกครั้งที่เกิดต้องรู้

    ทางภาษาบาลีจะมีคำว่า “อารัมมณะ” หมายความว่าสิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ สิ่งที่จิตกำลังรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ ถ้ามีจิต ไม่มีอารัมมณะ หรือ อาลัมพะ ได้ไหมคะ ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จิตรู้ ภาษาไทยใช้คำว่าอารมณ์ เราตัดข้างหลังออกหมดเลย แทนที่จะพูด อารัมมณะ ก็เป็นอารมณ์ แต่ว่าอารมณ์จริงๆ ในภาษาไทยที่ใช้กันไม่ถูกตามพระพุทธศาสนา แต่เป็นปลายเหตุ เช่นบอกว่าวันนี้อารมณ์ดี หมายความว่าอย่างไรคะ เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี จิตใจสบายดี ก็บอกว่าอารมณ์ดี แต่อารมณ์จริงๆ ต้องเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ เสียง ขณะนี้มี เสียงใดที่จิตรู้ เสียงนั้นเป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยินเสียง แต่เสียงที่จิตไม่รู้ ขณะนั้นถึงเป็นเสียงก็ไม่ใช่อารมณ์

    เพราะฉะนั้น คำว่าอารมณ์ต้องคู่กันกับจิต ต่อไปนี้เวลาพบกัน รู้แล้ว ใช่ไหมคะ อารมณ์คืออะไร อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ถ้ามีจิตแล้วไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ถ้าจิตได้ยินเกิด อะไรเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน จิตได้ยินเกิด เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน ถ้ากลิ่นปรากฏ กลิ่นเป็นอารมณ์ของจิตอะไรคะ ของจิตที่รู้กลิ่น ขณะนั้นต้องมีสภาพรู้ กลิ่นจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ กลิ่นปรากฏไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตมา มีจิตกับอารมณ์ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เราสนใจในอารมณ์ ลืมว่าต้องมีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่ต้องเกิด แล้วก็กำลังรู้สิ่งนั้น มิฉะนั้นสิ่งนั้นก็ปรากฏไม่ได้ คุณสุภีร์ช่วยให้ความหมายของคำว่า อารัมมณะ กับ อาลัมพนะ ค่ะ

    อ.สุภีร์ คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ โดยอรรถ โดยคำอธิบาย ท่านอาจารย์ก็ได้ให้ความหมายไปแล้วว่า คือสิ่งที่จิตรู้นั่นเอง แต่โดยศัพท์ก็คือคำว่า อารัมมณะ หมายถึงสิ่งที่มายินดีของจิต จิตนี้จะไม่ยินดีที่ไหนหรอก เกิดขึ้นก็ต้องรู้อารมณ์ ฉะนั้นจึงใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ หมายถึงสิ่งที่เป็นที่มายินดีของจิต ถ้าจิตเกิดต้องมีอันนี้แหละเป็นที่ยินดีของจิต เรียกว่า อารัมมณะ หรือว่า อาลัมพนะ

    ท่านอาจารย์ เริ่มเห็นความต่างของภาษาไทยที่เราใช้กับความหมายจริงๆ ในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น จะแปลเอาเองตามใจชอบไม่ได้เลย ต้องศึกษาจึงจะเข้าใจได้ถูกต้อง


    หมายเลข 9727
    18 ส.ค. 2567