ต่างกันไปเพราะกรรม


    เพราะฉะนั้นชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งนามธรรม และรูปธรรม จากการตรัสรู้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติปัฏฐานไม่สามารถจะเข้าใจได้ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นจริงๆ เพราะว่าในพระศาสนาจะมีสุตมยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง ฟังแล้วก็คิด แล้วก็พิจารณา เข้าใจเมื่อไร ขณะนั้นเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา แต่เป็นเจตสิก เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิต พร้อมกับจิต ทันทีที่จิตเกิด ก็จะมีนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ชื่อว่า เจตสิก ใช้คำว่า เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต

    เพราะฉะนั้น จิตจะไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ หรือเจตสิกจะไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ เพราะว่าทั้ง ๒ อย่างอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เป็นปัจจัยโดยหลายปัจจัย เวลาที่ไปฟังสวด เวลาที่ได้ยินคำว่าปัจจัย จะได้ยินคำว่า เหตุปัจจโย อารัมมณปัจจโย เป็นเรื่องของปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นแต่ละปัจจัย เช่น จิตเป็นนามธาตุ ธาตุชนิดหนึ่ง ไม่มีเจ้าของ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นรู้ สิ่งที่ถูกรู้เป็นอารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่จิตรู้

    เพราะฉะนั้น อารมณ์นั้นแหละเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้น ชื่อว่าเป็นปัจจัย โดยเป็นอารมณ์ เป็นอารัมมาณปัจจัย นี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ ถ้าเข้าถึงความเป็นอนัตตา เข้าถึงความเป็นธรรม เข้าถึงความเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ว่าไม่สามารถจะมีใครไปเปลี่ยนแปลง ไปสร้าง ไปดลบันดาลได้ แต่ว่าต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มิฉะนั้นแล้วเราจะเจริญสติปัฏฐานทำไมคะ มรรคมีองค์ ๘ ทำทำไม มีอะไร อบรมไปทำไม ถ้าไม่มีการที่จะรู้ความจริงว่า เพราะธรรมเป็นอย่างนี้ จึงต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ความจริงอย่างนี้ โดยขั้นฟัง ขั้นแรก สุตมยปัญญา แล้วเวลาที่เราไม่ได้ยินได้ฟัง อย่างวันนี้ กลับไปบ้าน คิดถึงธรรมสักคำไหมคะ คิดถึงคำว่า อารัมมณะ สักหน่อยหนึ่งไหม คิดถึงรูป ๗ รูปที่เกิดปรากฏในชีวิตประจำวัน คิดได้แล้ว ใช่ไหมคะ ไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจความเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีนามธรรม รูปธรรม จะมีเราไหม จะมีสัตว์ บุคคลใดๆ ไหม รูปธรรมอะไรก็ไม่มีเลย โลกก็มีไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่ามีรูปธรรม และมีนามธรรม จึงมีโลกในหลายความหมาย สิ่งที่เราใช้กันบ่อยๆ คำที่เราใช้ เราใช้โดยที่เราไม่เข้าใจลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้น เพียงแต่เราคิดประมาณตามความคิดของเรา ตามความหมายที่เราคาดคะเนเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง แล้วก็พิจารณา แล้วก็เข้าใจถูกต้อง ขณะใดที่เข้าใจถูก เห็นถูก ไม่ใช่เรา เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เกิดแล้วดับ เข้าใจแล้ว เดี๋ยวก็ลืมแล้ว ไปคิดถึงเรื่องอื่นแล้ว จนกว่าจะได้ฟังอีกเมื่อไร ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น

    นอกจากสุตมยปัญญา จินตามยปัญญาแล้ว ก็มีภาวนามยปัญญา คือ การอบรมอีกระดับหนึ่งที่สามารถจะทำให้ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับเป็นพระอริยบุคคลได้ ไม่ใช่มีแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระอริยสาวกด้วย

    เพราะฉะนั้น ทุกคน พุทธบริษัท คิดว่าน่าจะเป็นอริยสาวกไหมคะ หรือว่าไม่ต้องเป็น เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ หรือยังไงคะ ฟังแล้วมีประโยชน์ที่รู้ว่าเราไม่รู้ เราควรจะรู้ขึ้น ถ้าเรารู้ขึ้น รู้ขึ้น ประโยชน์สูงสุด ก็คือสามารถรู้จริงๆ ในสิ่งที่กำลังพูดถึงว่าเป็นอนัตตา มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง อย่างจิต ขณะแรกที่เกิด ถ้าไม่มีจิตเกิดก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ก็เป็นแต่เพียงเนื้อ อาจจะเป็นเนื้องอกหรืออะไรก็ได้ แต่ที่จะเป็นสัตว์เป็นบุคคลได้เพราะมีจิตเกิดขึ้นพร้อมกับกัมมัชรูป หมายความว่ารูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน มิฉะนั้นแต่ละคนจะมีรูปร่างไม่ต่างกัน แต่เพราะว่ากรรมวิจิตรต่างกันมาก แม้รูปก็ต่างกันไปเพราะกรรม แล้วเพราะปฏิสนธิจิตด้วยว่า ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมอะไร ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็เกิดในสุคติภูมิ เช่นบนสวรรค์ ในสวรรค์ หรือว่าในมนุษย์ภูมิก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่รูปก็ยังต่างกันอีก ใช่ไหมคะ ก็ยังมีกรรมเล็กกรรมน้อยอีกจะให้ผลเมื่อไร ทางไหน อย่างไหน ก็ละเอียดมากเลย แต่ให้ทราบว่า ต้องมีจิตขณะแรกเกิดขึ้น ขณะหลังๆ จึงจะสืบต่อมาจนถึงขณะนี้ได้

    จิตขณะแรกที่เกิด ภาษาบาลีใช้คำว่า ปฏิสนธิจิต หมายความว่า สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จุติจิต คือจิตที่ทำให้เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลในชาตินั้น จะเป็นบุคคลนั้นต่อไปอีกไม่ได้เลย จิตขณะสุดท้ายของทุกชาติ ชื่อว่า จุติจิต เพราะว่าทำกิจเคลื่อนพ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนั้น แต่จิตเกิดดับสืบต่อไม่มีระหว่างคั่นเลยตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ฉันใด เวลาจุติจิตดับ กรรมหนึ่งก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที

    เพราะฉะนั้น ก็มีการที่เราเคยเป็นหนึ่งบุคคลใดในชาติก่อนซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ แต่สามารถจะรู้ได้ในชาตินี้ ซึ่งปฏิสนธิจิตเป็นผลของกุศลกรรมทำให้เกิดเป็นมนุษย์ แต่ว่าปฏิสนธิจิตของแต่ละคนก็ยังวิจิตรต่างกันไป เหมือนความคิดของแต่ละคนในวันนี้ซึ่งต่างกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมจะให้ผลก็ประมวลมาซึ่งแล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ในชาตินั้น


    หมายเลข 9729
    18 ส.ค. 2567