ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติมีอารมณ์เดียวกัน
ผู้ฟัง จิตขณะหลับสนิทกับขณะฝันมีความแตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ แตกต่างกันค่ะ เพราะว่าถ้าใช้คำว่าหลับสนิท เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขณะนั้น ขอเทียบให้ฟังว่า ไม่รู้อะไรเลย ขณะแรกที่จิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร เกิดบนสวรรค์ก็ไม่รู้ เกิดในนรก เกิดเป็นพรหม ก็ไม่รู้ เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แต่จิตมีอารมณ์สืบเนื่องมาจากใกล้จุติของชาติก่อน ด้วยอำนาจของกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย ทำให้จิตใกล้จะตายมีอารมณ์นั้น แล้วเมื่อจุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน
ด้วยเหตุนี้อารมณ์นั้นจึงไม่ปรากฏในโลกนี้เลย เพราะว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ ๑ ขณะ ปฏิสนธิจิตขณะเดียวสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้สืบต่อจากปฏิสนธิจิต แต่กรรมทำให้จิตซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิเกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น
เพราะฉะนั้น จิตขณะที่ ๒ ต่อจากปฏิสนธิจิต จึงทำภวังคกิจ ที่เราใช้คำว่า ภวังค์ๆ ต้องหมายความว่า ขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดไม่ฝัน ไม่อะไรทั้งหมด คือนอนหลับสนิทจริงๆ อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏ ขณะนั้นชื่ออะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ พ่อแม่พี่น้องวงศาคณาญาติก็ไม่รู้หมด ในขณะที่เป็นภวังค์ แต่เมื่อตื่นก็มีการเห็น มีการจำ มีการรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็เป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งคืนนี้ก็เหมือนเดิม คือไม่รู้อะไรอีก เวลาที่เป็นภวังค์ ทั้งวันที่ผ่านมาก็ดับไป ดับไป ดับไป ไม่เหลืออะไรเลย ทุกชาติ เราจะไปรู้สึกอย่างนี้ตอนที่เราจะจากโลกนี้ไปว่า เราไม่สามารถที่จะเอาทรัพย์สมบัติใดๆ พี่น้องวงศาคณาญาติ ลาภ ยศ ตามไปได้เลยสักอย่างเดียว เพราะเหตุว่าขณะนั้นสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ทุกอย่างต้องอยู่ในโลกนี้ แล้วก็กรรมก็ทำให้เกิดในภพต่อไป แล้วแต่ว่าจะเห็น ได้ยิน อะไรต่อไป เหมือนจากโลกก่อนมาสู่โลกนี้ ก็มีการเห็นการได้ยินของโลกนี้
เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเป็นปฏิสนธิจิต เป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อีกขณะหนึ่งก็คือ จุติจิต จิตที่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จิต ๓ อย่าง ๓ กิจนี้ ไม่รู้อารมณ์เลย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้แต่อารมณ์ของปฏิสนธิ อารมณ์เดียวกัน ซึ่งเป็นอารมณ์ใกล้จุติของชาติก่อน