ที่เป็นอย่างนี้เพราะกรรม
ผู้ฟัง ที่ทราบมา คือว่า จิตจะตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ จิตไม่ตาม
ผู้ฟัง จิตไม่ตาม แต่ทำไมถึงว่า เมื่อเวลาเราทำกรรมใด มันจะส่งผลไปที่ภพอื่นชาติอื่นล่ะคะ
ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับ เจตสิกที่เกิดกับจิตดับพร้อมจิต แล้วเจตนาเจตสิกเป็นกรรมปัจจัย เป็นสภาพที่จงใจตั้งใจที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง
เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตดับไปแล้วก็จริง แต่ความจงใจตั้งใจที่ได้จงใจตั้งใจแล้ว ก็เป็นปัจจัยหนึ่งชื่อว่ากรรมปัจจัย ที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดเป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดเรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าเราไม่ศึกษาเราก็ใช้ความคิดของเรา แต่ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า เมื่อนามธรรมเป็นกรรม ผลของกรรมนั้นก็ต้องเป็นนามธรรมด้วย คือจิตนี่คะ จริงๆ แล้วก็ขอกล่าวถึงจิต ๔ ชาติ คือ กุศล ๑ เป็นชาติหนึ่งเกิดมาเป็นกุศล อีกชาติหนึ่งก็คือ อกุศล เกิดเป็นอกุศล ทั้ง ๒ อย่างเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากจิต คือจิตที่เป็นผล และอีกชาติหนึ่งก็คือ กิริยาจิต จิตที่ไม่ใช่เหตุ และไม่ใช่ผล
เพราะฉะนั้น จิต ๔ ชาติ คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ แล้วเราก็ควรจะทราบด้วยที่เราพูดเรื่องกรรมกับวิบาก ขณะไหนเป็นผลของกรรม ขณะแรกที่สุดคือปฏิสนธิจิต จิตที่เกิดขณะแรกเป็นผลของกรรมหนึ่ง เพราะว่าแต่ละคนทำกรรมไว้มากมาย แต่เราเลือกกรรมได้ไหมคะว่า ให้กรรมนี้ให้ผล ไม่มีทางเลย แล้วแต่กรรมใดพร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้นก็เกิดสืบต่อจากจุติจิต ทำกิจปฏิสนธิ นั่นเป็นขณะแรกของวิบาก คือผลของกรรมทำให้เกิด แต่ละคนเป็นอย่างนี้ เพราะกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นอย่างนี้ เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ตัวจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นประเภทวิบาก คือเป็นผลของกุศล และอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เป็นวิบาก ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ให้ตาย ให้เป็นอย่างนี้ จนกว่าวันไหนหมดกรรม ที่ภาษาไทยใช้คำว่า ถึงแก่กรรม หมายความว่าสิ้นสุดกรรมนั้นแล้ว ก็จะเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้ โดยจุติจิตเกิดทำหน้าที่เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ระหว่างยังไม่ตาย ก็ยังมีผลของกรรมด้วย คือขณะใดที่เห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นวิบากจิต ขณะที่ได้ยินเป็นวิบากจิต ขณะที่ได้กลิ่นเป็นวิบากจิต ขณะที่ลิ้มรสเป็นวิบากจิต ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบากจิต
เพราะฉะนั้น เรารู้กรรม และผลของกรรม เวลาที่วิบากจิตเกิด ป่วยไข้ได้เจ็บ สุขหรือทุกขเวทนา เป็นกายวิญญาณ เป็นผลของกรรมที่ให้ผล ทำให้ความรู้สึกเจ็บปวด หรือความรู้สึกสบายนั้นเกิดขึ้น เรารู้เลย ใครทำ เราเอง ไม่ใช่คนอื่นเลย ถ้ามีโจรผู้ร้ายยิงรันฟันแทง หรือว่าในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ใช้เลื่อย เลื่อยอวัยวะแขนขา ถ้าผู้ใดโกรธผู้นั้นไม่ใช่สาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้เรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าคนนั้นไม่ได้กระทำกรรมนั้นมา ไม่มีทางที่สิ่งนั้นจะเกิดกับเขาได้เลย ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผลอย่างนั้นเกิด
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราอ่านหนังสือพิมพ์ พบสิ่งที่เป็นข่าวร้ายต่างๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ให้ทราบว่า ถ้าเขาเหล่านั้นไม่ได้ทำกรรมที่จะให้ผลอย่างนั้นเกิด ใครก็ทำกรรมอย่างนั้นให้ไม่ได้ ไม่ทราบใครอ่านเรื่องคนที่ติดอยู่ในลิฟท์ ๓ ชั่วโมงบ้างหรือเปล่าคะ หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าว ติดอยู่ที่คอหรือไง ความวิจิตรของกรรมที่จะให้ผลขณะไหนเมื่อไร ไม่มีใครทำ แล้วกรรมก็ทำได้วิจิตรจริงๆ จะให้ผลแบบไหน ใครลองคิดดู กี่คนจะเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ก็แนบเนียนที่สุด ทำได้ตามกำลังความวิจิตรของกรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นทำให้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลกรรม แล้วทุกคนก็อยากที่จะได้ผลของ กุศลกรรมทั้งหมดเลย ทุกวัน แต่ว่าแล้วแต่กรรม เมื่อไรที่ได้สิ่งที่น่าพอใจ ก็รู้ว่าเพราะกรรมที่ได้ทำมา แต่สิ่งนี้ก็ไม่เที่ยง สักครู่หนึ่งก็อาจจะเป็นผลของอกุศลกรรมก็ได้ อย่างเวลารับประทานอาหารอร่อยๆ ประเดี๋ยวก็มีเผ็ดพริก ประเดี๋ยวก็มีก้อนกรวดเล็กๆ หรืออะไรก็ได้ก็ให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้จิตชนิดไหนเกิดได้เลย นอกจากเหตุในอดีตที่ได้ทำแล้ว ถึงกาลที่จะให้ผลเมื่อไร ผลนั้นก็ต้องเกิด ก็เป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม และ ผลของกรรม แล้วก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เลื่อนลอย คือพูดไปเฉยๆ ว่า แล้วแต่กรรม แล้วผลของกรรมก็คิดไปต่างๆ นาๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า ผลของกรรม คือ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะรูปที่จะเป็นทางให้ผลของกรรมเกิด คือ วิบากจิตเกิด รูปนั้นๆ เกิดจากกรรม กรรมทำให้ตาเกิดขึ้น หู จมูก ลิ้น กายเกิดขึ้นเป็นทางรับผลของกรรม