สิ่งที่ประกอบกับจิต


    ท่านอาจารย์ มีใครคิดเองเรื่องเจตสิกบ้างหรือยัง เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง มีจริงๆ แล้วก็ต้องเกิดกับจิตแล้วก็ดับพร้อมจิต แล้วก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต ถ้าจะมีจิตโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย หรือจะมีเจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ จิต ๑ ขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ประเภท

    อ.สุภีร์ ความหมายของเจตสิก ภาษาบาลีมีว่า เจตสิ นิยุตตัง เจตสิกัง ก็คือ สิ่งทีประกอบกับจิต สิ่งที่ประกอบกับจิตก็คือเกิดด้วยกัน เกิดที่ที่เดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แล้วก็รู้สิ่งเดียวกันด้วย นี่เป็นความหมายของเจตสิก ในภาษาบาลี มาจากคำว่า เจตสิ นิยุตตัง เจตสิกัง สิ่งที่ประกอบร่วมกับจิต ชื่อว่า เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ภาษาไทยใช้คำว่า จิต แล้วยังแถมคำว่า ใจ ด้วยใช่ไหมคะ จิตใจ คนนี้ใจดี เจตสิกดี เกิดร่วมกับจิต คนนี้ใจร้าย คนนี้เมตตา ล้วนแต่เป็นลักษณะของเจตสิกทั้งนั้นเลย เพราะเหตุว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่รู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ การเห็น การได้ยินพวกนี้ เป็นหน้าที่ของจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่หน้าที่อื่นๆ เป็นหน้าที่ของเจตสิกแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงคนแต่ละคน เขามีจิตจริง แต่ว่าจิตของเขาหลากหลายตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ความโกรธ เป็นจิตหรือเจตสิกคะ เป็นเจตสิก ชื่ออื่นทั้งหมดเป็นเจตสิกหมดเลย กรุณา เป็นจิตหรือเจตสิกคะ เป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็นเพียงธาตุรู้หรือสภาพรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ คือรู้แจ้งในอารมณ์เท่านั้น เหมือนพระราชา แล้วก็มีอำมาตย์ทำหน้าที่ต่างๆ

    วิตกเจตสิก ภาษาไทยใช้คำว่า วิตก กังวลเดือดร้อน ไม่สบาย แต่วิตกเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ตรึกหรือคิด หรือจรดในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดตามประเภท ตามสภาพของเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย แต่คนก็บอกว่า จิตคิด ใช่ไหมคะ แต่ถ้าไม่มีเจตสิกเหล่านั้นทำหน้าที่ ก็จะไม่มีสภาพของจิตที่คิดเรื่องต่างๆ คิดถึงสิ่งที่ไม่ดีได้ไหมคะ คิดแล้วเป็นทุกข์ คิดแล้วเป็นสุข ก็แล้วแต่วิตกเจตสิกขณะนั้นจะตรึก หรือจะนึกถึงเรื่องใด แต่ถ้ากล่าวรวม ก็พูดถึง จิตเป็นหัวหน้าเป็นประธาน แต่ว่าความจริงแล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    มีอีกคำหนึ่งในภาษาบาลี คือคำว่า จิตตุปาท หมายความถึงขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องรวมเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ได้ยินว่าจิต ก็ต้องหมายด้วยว่า ขณะนั้นก็มีเจตสิกอื่นๆ เกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกันด้วย


    หมายเลข 9734
    18 ส.ค. 2567