เจตสิกที่ทั่วไปกับจิต


    ผู้ฟัง ที่บอกว่าเวลาที่จิตเกิด ๑ ครั้ง จะมีเจตสิกร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ประเภท ยกตัวอย่างมีอะไรบ้างใน ๗ ประเภทนี้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณสุภีร์ค่ะ

    อ.สุภีร์ เจตสิกมีมากมายหลายประการด้วยกัน เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต เหล่านี้มี ๕๒ ประเภทด้วยกัน ที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เวลาจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดมีเจตสิกประกอบร่วมด้วย ๗ ประเภท ซึ่งจริงๆ แล้ว เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เจตสิกที่เกิดอย่างน้อย ๗ ประเภท เรียกว่า สัพพจิตสาธารณเจตสิก สัพพ แปลว่า ทั้งหมด จิตตะ คือ จิตนั่นเอง ที่เราศึกษาไปแล้วว่าเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ สัพพจิตสาธารณะ ก็คือ ทั่วไป สัพพ จิต สาธารณะ เจตสิก ก็คือเจตสิกที่ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ก็คือเกิดกับจิตทุกดวง เวลาจิตดวงใดเกิดขึ้น อย่างน้อยต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทนี้เกิดร่วมด้วย เรียกว่าสัพพจิตสาธารณเจตสิก มี ๗ ประเภทด้วยกัน ซึ่งทั้ง ๗ ประเภท ขอกล่าวย่อๆ ก็มี ผัสสเจตสิก เจตสิกที่กระทบกับอารมณ์ เวลาเราเห็น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น ผัสสเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทำหน้าที่กระทบกับสิ่งที่จิตเห็น เวทนาเจตสิกทำหน้าที่รู้สึกกับอารมณ์

    ต่อไปประเภทที่ ๓ สัญญาเจตสิก สัญญาเจตสิก เป็นการจำอารมณ์ หรือจำสิ่งที่ปรากฏ อย่างตาเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา สัญญาเจตสิกเกิดขึ้นจำ จำสิ่งที่ปรากฏทางตา เอกัคคตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เวลาเราเห็นก็มีเจตสิกอันนี้ทำหน้าที่ตั้งมั่นในสิ่งที่เห็นนั้น ที่เราเรียกกันว่า สมาธิๆ ก็คือเอกัคคตาเจตสิกนั่นเอง ซึ่งเอกัคคตาเจตสิกเป็น ๑ ในสัพพจิตสาธารณเจตสิก ก็คือเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภทเลย เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิกก็คือสมาธิที่เราใช้กัน ที่เราบอกว่า สมาธิ อะไรต่างๆ ก็คือเจตสิกดวงนี้ ก็คือ เอกัคคตาเจตสิก

    ประเภทที่ ๕ เจตนาเจตสิก เจตนาเจตสิก ท่านอาจารย์ได้กล่าวไปแล้วว่า เวลาเราตั้งใจจะทำอะไร นี่เป็นเจตนา เจตนา นี่แหละเป็นกรรม แต่ว่าเจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตสาธารณเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ฉะนั้นเวลาเห็น เจตนาก็เกิดร่วมด้วย แต่เจตนาที่จะให้ผลต่อไปก็คือเกิดร่วมกับกุศล และอกุศล ก็คือเป็นการจงใจตั้งใจที่จะทำกุศล อกุศล นี่เป็นประเภทที่ ๕ เจตนาเจตสิก เจตนาเป็นกรรม ก็คือ เจตสิกนั่นเอง เวลาเรากล่าวถึงกรรม ก็คือกล่าวถึงเจตสิกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า เจตนาเจตสิก

    ต่อไปเป็นเจตสิกประเภทที่ ๖ ที่อยู่ในนี้ คือ ชีวิตินทรียเจตสิก ชีวิตินทรียเจตสิก เป็นเจตสิกที่หล่อเลี้ยง หรือว่าบำรุงจิตเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยให้ทำหน้าที่ครบ ก็คืออย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวไปแล้วว่า จิตมีอนุขณะ ๓ อนุขณะ มีขณะอุปาท เกิดขึ้น ฐิติ ตั้งอยู่ ภังคะ ดับไป ชีวิตินทรียเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เขาหล่อเลี้ยงให้จิต และเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้นทำหน้าที่ให้ครบทั้ง ๓ อนุขณะนั้น นี่เป็นประเภทที่ ๖

    ต่อไปประเภทที่ ๗ มนสิการเจตสิก เจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ เวลาเห็น จิตเห็นทำหน้าที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น มนสิการเจตสิกทำหน้าที่ใส่ใจในสิ่งที่เห็น ทั้ง ๗ ประเภท เรียกว่า สัพพจิตสาธารณเจตสิก เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกๆ ประเภทเลย มี ๗ ประเภท เชิญครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็ขอทบทวนมาถึงเจตสิกแล้ว อยู่ที่ตัวทุกคนหรือเปล่าคะ ที่ไหนมีจิตที่นั่นต้องมีเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท แต่จริงๆ แล้วมีมากกว่านั้น ๗ ประเภท เฉพาะจิต ๑๐ ดวงเท่านั้น แสดงว่าในจิตทั้งหมดที่มี ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท เฉพาะจิต ๑๐ ดวงมีเจตสิกแค่ ๗ นอกจากนั้นมีมากกว่านี้ ก็ลองคิดดูถึงสภาพธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น และดับไปชั่วขณะที่แสนสั้น


    หมายเลข 9735
    18 ส.ค. 2567