กรุณาขยายความคำว่า “ปัญญา”
ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์กรุณาขยายความคำว่า “ปัญญา” สักนิดหนึ่งขอบคุณค่ะ
ท่านอาจารย์ ปัญญามีจริง ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาของพระสาวก ปัญญาที่เกิดจากการฟังแล้วเข้าใจ เวลาที่เราใช้คำภาษาบาลี โดยมากเราไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองถึงสภาพธรรมเลย เราเพียงแต่ขอยืมคำมาใช้ แล้วก็เข้าใจว่าเข้าใจคำนั้นแล้ว อย่างเด็กนักเรียนจะบอกว่ามีสติปัญญา แต่ไม่ใช่สติ และปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติเจตสิกเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล เป็นไปในทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต เป็นไปในการอบรมเจริญความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง นั่นถึงจะเป็นสติ ส่วนปัญญาเป็นความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งต้องมีตั้งแต่ขั้นฟัง ถ้าฟังแล้วไม่ไตร่ตรองเลย เข้าใจหรือเปล่าคะ ก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจ จะเปลี่ยนความเข้าใจถูกให้เป็นความเข้าใจผิดได้ไหม ถ้ารู้ว่าจิตมีลักษณะอย่างไร เจตสิกมีลักษณะอย่างไร จะเปลี่ยนไปเข้าใจว่า เจตสิกเป็นจิต และจิตเป็นเจตสิกได้ไหมคะ ถ้าเป็นความเห็นถูกต้อง จะไม่ผิดเลย
เพราะฉะนั้น แม้แต่ขั้นการฟังอย่างธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม มีลักษณะเฉพาะธรรมแต่ละอย่างๆ เช่น โลภะ ความติดข้อง ก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่นั้น ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ที่ไหน เด็กผู้ใหญ่อย่างไรก็ตาม ลักษณะของความติดข้องปรากฏ เพราะเหตุว่าโลภะเกิดขึ้นทำหน้าที่ของโลภะ เวลาที่โทสะเกิด ความขุ่นเคืองไม่สบายใจแม้นิดเดียว เพียงแค่ขุ่นใจ ลักษณะนั้นก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ของโทสเจตสิก ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างนี้ว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง จะเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นไหม ขั้นเข้าใจ นี่คือปัญญา คือความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้น ปัญญาก็คือความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วก็จะเจริญขึ้น จนกระทั่งมีคำอีกหลายคำ เช่นคำว่า ญาณ เป็นต้น หรือว่า วิปัสสนาญาณ พวกนี้ก็เป็นปัญญาระดับขั้นต่างๆ แต่ต้องมีลักษณะของความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เป็นมูล ที่จะอบรมเจริญขึ้นเป็นขั้นต้น เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นขันธ์อะไรคะ ปัญญาเจตสิก เป็นขันธ์อะไรคะ สังขารขันธ์ ยกตัวอย่างสังขารขันธ์เองได้ไหมคะ ลองคิดถึงวันหนึ่งๆ จะมีสังขารขันธ์อะไรอีก ชื่อยากๆ ไปหมดแล้วคะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ ชื่อยากๆ ไปหมดแล้ว วิริยะ เคยได้ยินไหมคะ ความ เพียร มีจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นธรรม เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เป็น นามธรรม เป็นจิต หรือเป็นเจตสิกคะ เป็นเจตสิก เป็นขันธ์อะไรคะ สังขารขันธ์
ไม่ลำบาก ไม่ยากเลย เรื่องของธรรม ถ้าเราศึกษาตรง เราก็จะเข้าใจได้ถูกต้อง แต่จะมีคำที่ใช้ในที่ต่างๆ อย่างคำว่า “สังขารธรรม” หรือว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คำนี้ไม่ได้หมายความถึง สังขารขันธ์ แต่หมายความถึง สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ
เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม นิพพานไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานเป็นวิสังขารธรรม ปราศจากปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจความหมายของสังขารธรรมกับสังขารขันธ์ ถ้าสังขารธรรมก็กว้าง สภาพธรรมใดๆ ที่เกิดดับ ได้แก่จิต เจตสิก รูป ทั้งหมด แต่พอพูดถึงสังขารขันธ์ แคบเข้ามาอีก เพราะว่าพูดโดยนัยของขันธ์ ๕ ก็ต้องได้แต่เจตสิก เพียง ๕๐ ดวงเท่านั้น