ธรรมทั้งหมดไม่มีง่ายเลย
ผู้ฟัง เมื่อกี้ได้ยินอาจารย์ว่า ถ้ารากแก้วไม่ดี ในการที่จะไปศึกษาอื่น หรืออันอื่นก็จะแปรเปลี่ยนไปด้วย ไม่ดีตามไปด้วย ตรงนี้จะมีวิธีการสอดแทรกอย่างไรถึงจะสอนอภิธรรมให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้เรียนรู้พร้อมๆ กับจริยศาสตร์ด้วยครับ
ท่านอาจารย์ จริงๆ อภิธรรมก็เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ถ้ามีเหตุการณ์หนึ่ง เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นเราก็อาจจะชี้ไปถึงอภิธรรมก็ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ แล้วเราก็อาจจะเติมคำว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล กรรม คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา เราก็อาจจะค่อยๆ ให้เขาคุ้นเคยกับเหตุผลในทางธรรม
ถ้าเรามีหลักพื้นฐานที่มั่นคง เราก็จะช่วยคนอื่น เมื่อถึงกาลที่พิจารณาว่า คนนี้ควรที่จะได้รับฟังคำสอนระดับไหน เรื่องสมาธิเมื่อกี้นี้ ก็คงจะเข้าใจว่า ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก เจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ถ้าไม่มีเอกัคคตาเจตสิกก็จะไม่มีลักษณะของสมาธิ แต่เพราะเหตุว่าเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ถ้าตั้งมั่นบ่อยๆ นานเข้า ก็จะทำให้ลักษณะของสมาธิปรากฏ แล้วแต่ว่าจะเป็นมิจฉาสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ โทษของมิจฉาสมาธิมีไหนคะ อะไรที่ผิดๆ ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งนั้นถูก แต่ต้องอาศัยการศึกษา และการเป็นผู้ตรงต่อธรรม ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูก ก็อย่าเก็บไว้ ไม่มีประโยชน์เลย รีบทิ้งๆ ไป แล้วก็จะได้มีความเห็นที่ถูกตรงยิ่งขึ้น เพราะว่าการศึกษาธรรมไม่ใช่เพื่อประโยชน์อื่นเลย ถ้าเราอยากได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ สุข เราทำอย่างอื่นก็ได้ แต่ว่าเรื่องของการศึกษาธรรม เพื่อละความติดข้อง ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยติด เพราะเหตุว่าถ้าเรายังคงติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราก็จะต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ เหมือนกับที่เราได้มาอยู่ถึงจุดนี้ ก็เพราะความติดข้อง แล้วแต่ว่าจะมีความต้องการชนิดไหนเกิดขึ้น เป็นเหตุที่จะให้ทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ มีศัพท์ คำว่า “อายตนะ” แล้วกระผมชอบเอามาสอนนักศึกษาว่า ทวารทั้ง ๖ ทวาร นี้เป็นหัวใจ เป็นด่านสำคัญ สอนวิธีให้เขาจัดการ อยากจะให้อาจารย์แนะนำว่า เราจะสอนวิธีการจัดการกับอายตนะอย่างง่ายๆ ได้อย่างไร สอนกับเด็กอย่างไร เพราะว่าตัวนี้ทำความเห็น ความเข้าใจ คิดว่า ถ้าเราจัดการตรงนี้ได้อย่างง่ายๆ แล้ว ก็จะเป็นช่องทางในการตัดอะไรอื่นๆ ที่จะเกิดอกุศลต่อไปได้อีก
ท่านอาจารย์ ค่ะ เราก็คงจะต้องเปลี่ยนใหม่ คือ ธรรมทั้งหมดไม่มีง่ายเลย ถูกหรือผิดคะ ถ้าพูดว่ายาก เป็นการสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สรรเสริญพระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แต่ว่าไม่ใช่ยากเกินไปค่ะ ถ้าเราสามารถที่จะทำให้เข้าเริ่มเข้าใจ ตามวัย ตามกาลด้วย เด็กเล็กๆ นี้เราก็อาจจะสอนเขาได้ ตามควร พอโตขึ้นแล้วก็ค่อยๆ สอน จนกระทั่งเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็สอนให้เขารู้ได้ อาจจะเริ่มตั้งแต่กุศล อกุศลก่อนก็ได้ แต่อย่าหวังอะไรมากมายที่คิดว่าคนอื่นจะต้อง เข้าใจธรรมได้เพียงได้ฟังเรื่องนั้น หรือได้ฟังเรื่องนี้ แต่ว่าความเข้าใจจริงๆ ต้องเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ เพราะว่าความจริง เพราะสิ่งนี้มี จึงได้ทรงแสดงตามความเป็นจริงของสิ่งนี้ที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ เช่น อายตนะ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีตาจะมีอะไรมากระทบไหมคะ สีสันวัณณะจะกระทบตาได้ไหมคะ ไม่ได้ ถ้าไม่มีหู เสียงจะมากระทบได้ไหมคะ จะกระทบอะไรก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นอายตนะก็หมายความถึงสภาพธรรมที่มี แล้วก็มีการประชุมรวมกันของสภาพธรรมหลายอย่าง ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น การได้ยินเกิดขึ้น การได้กลิ่นเกิดขึ้น สภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นก็ต้องมีอายตนะ ลองคิดถึงขณะที่กำลังหลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่พอตื่น ทำไมเห็น ถ้าเป็นคนตาบอดจะเห็นไหมคะ ไม่เห็น เพราะไม่มีจักขวายตนะ ไม่มีจักขุปสาท แต่เมื่อมีจักขวายตนะ จะเห็นหรือไม่เห็น แล้วแต่กรรม กำลังนอนหลับสนิท ตาบอดหรือเปล่าคะ ไม่บอด เพราะกรรมทำให้จักขุปสาทเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอด แม้ว่าจะไม่มีสิ่งใดมากระทบ จิตเห็นยังไม่เกิด แต่กรรก็ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด รวมทั้งกายปสาททั่วตัว รูปที่เกิดจากกรรม กรรมจะทำให้เกิดอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นเราก็ต้องหายไปหมดในระหว่างที่หลับสนิท แต่ความจริงกรรมทำให้รูปต่างๆ เกิด รูปที่เกิดเพราะกรรม ชื่อว่า กัมมชรูป ช แปลว่าเกิด รูปที่เกิดจากกรรม เป็นกัมมชรูป เราทำได้ไหม ไม่ได้ แต่กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูปเกิด แม้จะนอนหลับสนิท จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ก็เกิดเพราะกรรม แต่จะเห็นหรือว่าจะได้ยิน หรือจะได้กลิ่น หรือจะลิ้มรส หรือจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือจะคิดนึก ก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น การศึกษาสภาพธรรม โดยไม่ได้ใช้ศัพท์ “อายตนะ” ในชีวิตประจำวัน ก็คงจะทำให้เข้าใจได้ แต่ว่าเวลาที่เราใช้ศัพท์ เราก็ต้องอธิบายว่าต้องมีการประชุมรวมกันของสภาพธรรมที่กระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย กระทบใจ สภาพรู้ก็เกิดขึ้นรู้ในขณะนั้นตามสมควร
แต่จริงๆ พระพุทธศาสนายังไม่ต้องสนใจในเรื่องศัพท์สูงๆ หรือว่าสิ่งซึ่งเราอาจจะได้ยินแต่ชื่อ แต่ว่ายังไม่รู้พื้นฐานว่า แท้ที่จริงก็เป็นธรรมซึ่งไม่พ้นจาก จิต เจตสิก รูป ไม่ว่าอริยสัจ จะพ้นจากจิต เจตสิก รูป ได้ไหมคะ อริยสัจ ๔ พ้นจากจิต เจตสิก รูป ได้ไหมคะ ไม่ได้ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป ก็ไม่ต้องมีอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาทพ้นจากจิต เจตสิก รูป ได้ไหมคะ ไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น พื้นจริงๆ ก็คือจิต เจตสิก รูป ซึ่งมีจริง แต่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ ที่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งจะละเอียด แล้วเห็นความไม่ใช่ตัวตนยิ่งขึ้น