ฟังมากก็เข้าใจมาก


    มีข้อความในพระสูตร ๆ หนึ่ง ที่กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคเสด็จไปโปรดพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีศรัทธาในตอนต้นเลย โดยการที่พระองค์เสด็จไปบิณฑบาตตอนเช้า พราหมณ์นั้นก็ไม่ได้อยากจะให้เลย แต่ว่าเกรงว่าถ้าไม่ให้ คนอื่นก็จะว่าได้

    เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้นก็ถวายอาหารบิณฑบาต รับบาตรมาบรรจุอาหารแล้วก็ถวาย ซึ่งเป็นสมัยก่อนก็จะรับบาตร แล้วก็ใส่อาหารในบาตร แล้วก็ถวายแก่พระภิกษุไป วันที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็เสด็จไปอีก ที่พราหมณ์คนนั้น พราหมณ์คนนั้นก็จำต้องถวายอีกเป็นครั้งที่ ๒ พอถึงครั้งที่ ๓ วันรุ่งขึ้นวันที่ ๓ พราหมณ์ทนไม่ได้เลย ก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงติดรสอาหารของพราหมณ์ จึงได้เสด็จมาถึง ๓ ครั้ง ไม่เข้าใจในพระมหากรุณา ที่พระองค์รู้ว่าพราหมณ์ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว มีโอกาสที่จะเลื่อมใสในคำสอนซึ่งเป็นความจริง คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำจริงทุกคำ คำที่ไม่จริงจะไม่ตรัสเลย แล้วถึงแม้ว่าจะเป็นคำจริง ก็จะดูว่า เป็นคำที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เพราะว่าถึงแม้ว่าคำนั้นเป็นคำจริง ไพเราะน่าฟัง แต่ไม่มีประโยชน์ ในกาลนั้น ขณะนั้น ก็ไม่ใช่กาลที่สมควรที่จะพูดคำที่ว่าแม้มีประโยชน์ เพราะว่าคำที่มีประโยชน์ แต่ไม่เหมาะกับกาล ไม่เหมาะกับบุคคล ไม่เหมาะกับสถานที่ คำนั้นกลายเป็นคำที่ไม่มีประโยชน์เลย เช่น คนที่ไม่มีศรัทธาในทาน แล้วไปพูดเรื่องทาน เขาก็จะฟังด้วยความรำคาญใจ หรือว่าคนที่ไม่มีจิตใจสะสมมาในเรื่องของศีล ความสงบทางกาย ทางวาจา ถ้าเราไปบอกเขาเรื่องของศีล เขาก็จะไม่เห็นด้วย ไม่อยากฟัง โดยเฉพาะในเรื่องของปัญญา การที่จะสะสมความเห็นถูกต่างๆ ก็ต้องแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นมีศรัทธา สะสมมาที่จะน้อมใจไปสู่การที่จะเห็นประโยชน์ของการฟังเรื่องของความจริงมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าคนที่ไม่เห็นประโยชน์ เราพูดก็ไม่ฟังเลย หรือว่าวิทยุเปิดแล้วในบ้าน ก็จะมีคนฟังคนหนึ่ง หรือ ๒ คน อีกหลายๆ คนก็ผ่านไปผ่านมาก็ไม่สนใจเลย

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ด้วย ถึงแม้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นความจริง ก็ต้องแล้วแต่กาล แล้วแต่บุคคล ในวันที่ ๑ ในวันที่ ๒ พราหมณ์ไม่ได้กล่าวอะไรเลย พระผู้มีพระภาคคอยโอกาส วันที่ ๓ ซึ่งพราหมณ์ก็กล่าวว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่บ้านของตนเพราะติดในรสอาหาร แล้วเมื่อได้ฟังพระธรรม พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำแรกก่อนว่า พราหมณ์เพียงแค่ ๓ ครั้งเท่านี้ พราหมณ์ก็ไม่มีความอดทนแล้ว วันที่ ๑ ไม่พูด วันที่ ๒ ไม่พูด วันที่ ๓ ไม่พูด แต่ว่าทรงแสดงเรื่องของการที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้น ให้ผลเต็มที่ ต้องไม่ใช่เพียงครั้งเดียว หรือ ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง ทรงแสดงเรื่องของการไถนา หรือว่าการปลูกข้าว ก็ต้องฝนตกบ่อยๆ ถ้าฝนตกครั้งเดียว ๒ ครั้ง ๓ ครั้งก็ไม่พอ ฉันใด การที่จะฟังพระธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความเข้าใจเลยว่า มีโอกาสได้ฟังครั้งที่ ๑ ไม่ควรคิดว่าจะเพียงพอ ถ้าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทุกครั้งที่มีโอกาสจะได้ฟัง จะได้อ่าน จะได้สนทนาธรรม จะได้ไตร่ตรอง เป็นสิ่งที่จะทำให้เห็นความต่างของการที่ได้ฟังครั้งแรก กับการฟังครั้งต่อๆ ไปว่า ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น แล้วก็จะทำให้ไม่ท้อถอย เพราะว่าไม่ได้หวังประโยชน์อะไร แต่รู้ว่าเพราะเกิดมาไม่มีความเข้าใจ จะแสวงหาความเข้าใจนี้ที่ไหน ตามโรงเรียนก็สอนความรู้ทางโลก

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน โรงเรียนใดที่มีการสอนให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ควรที่จะได้สนใจที่จะได้ฟัง แล้วก็จะได้มีความเป็นพหูสูตร หรือพหูสูตร คือผู้ที่มีการฟังมาก ก็เข้าใจมาก


    หมายเลข 9749
    18 ส.ค. 2567