ความหมายของโลก


    ท่านอาจารย์ คนไทยเราใช้คำภาษาบาลีมาก แต่เวลาศึกษาธรรมต้องเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะคำภาษาบาลีเป็นคำที่ใช้แทนสภาพธรรมที่มีจริง อย่างคำว่าปัญญา ถ้าเรายังไม่รู้ว่า ปัญญารู้อะไร ปัญญาคืออะไร แต่เราก็ใช้คำว่าปัญญา แต่ที่ใช้คำว่า ปัญญาแทนสภาพธรรม หมายความถึงคำนี้มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ซึ่งปัญญานี้จะมีหลายระดับ แล้วก็มีชื่อต่างๆ กันไปด้วย จนกระทั่งถึงโลกุตตรปัญญา คือปัญญาที่สามารถจะประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับสภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นโลก ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้าศึกษาพระธรรม แล้วก็มีความเข้าใจในคำที่ได้ยินได้ฟังถูกต้อง ก็จะมีความเข้าใจชัดขึ้นในคำที่เราใช้ในภาษาไทย เช่นคำว่า “โลก” ในภาษาไทย ไม่มีทางที่จะเห็นถูกตามพระธรรมที่ทรงแสดง เพราะเราไม่ได้ศึกษาว่า คำนี้หมายความว่าอะไร แต่คำว่าโลก หรือ โล กะ หมายความถึงสิ่งที่แตกดับ คือ เกิดแล้วดับ มีอะไรบ้างในโลกซึ่งไม่ดับ เราเห็นแต่สิ่งนั้นเกิดขึ้น แต่ตอนเกิดก็ไม่เห็น เหมือนสิ่งนั้นปรากฏ แต่ความจริงเมื่อจะปรากฏก็คือต้องเกิดจึงปรากฏได้ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วมาก

    นี่คือลักษณะของโลก หรือสภาพทั้งหมดที่เป็นโลก ตอนนี้มีข้อสงสัยไหมคะในคำนี้ อยู่บนโลก อยู่ในโลก แล้วโลกนี้ โลกอะไร เชิญคุณสุภีร์ให้ความหมายของโลกค่ะ

    อ.สุภีร์ คำว่า โลก ก็มาจากคำว่า โล กะ นั่นเอง โล กะ ก็คือ เขียนเหมือนภาษาไทยเลย แต่ว่าอ่านผิดกันนิดหน่อย คำว่า โล กะ แปลว่า แตกดับ ก็คือมีการเกิดขึ้นแล้วมีการดับไป ทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่มีจริงเป็นโลก เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป นี่เป็นโลก สิ่งต่างๆ ที่เราได้ฟังไปเมื่อวานนี้ อย่างจิต เจตสิก และรูป ก็ตาม ก็เป็นโลกนั่นเอง เพราะเหตุว่ามีการเกิดขึ้นแล้วก็มีการดับไป สภาพธรรมอันหนึ่งที่เหนือโลกก็คือ พระนิพพาน เรียกว่า โลกุตตระ ก็มาจากคำว่า โลก บวกกับ อุตตร อุตตร แปลว่า เหนือ ก็คือไม่ใช่โลก เกินยิ่งกว่าโลกขึ้นไป เรียกว่า โลกุตตร ก็คือพระนิพพาน มีพระนิพพานอย่างเดียวที่เป็นโลกุตตระจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการดับไป ส่วนธรรมอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี หรือว่าจิตเห็นก็ดี ก็เป็นโลก เพราะว่าเห็นแล้วก็ดับไป เวลาเห็นกับได้ยินตอนนี้เป็นคนละขณะกัน เห็นต้องเกิดแล้วดับไปก่อน ได้ยินจึงเกิด ได้ยินตอนหลังอีกที สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเรียกว่าโลก ที่เป็นโลกจริงๆ ก็คือ เป็นสิ่งที่เกิดแล้วดับ แต่เวลาแสดงโลก แสดงโลก ๓ อย่าง

    ต่อไปจะกล่าวโลก ๓ อย่าง ก็คือ มี ๑ โอกาสโลก ๒ สัตวโลก ๓ สังขารโลก โลกที่เรากล่าวไปถึงเมื่อกี้ว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดดับด้วย เป็นลักษณะของสังขารโลก ก็คือ สังขารธรรมทุกประการ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่างนี้เรียกว่า สังขารโลก ส่วนโอกาสโลก เป็นสถานที่อยู่ของหมู่สัตว์ที่ไปเกิด ถ้าอธิบายเรียงลำดับอย่างนี้ จะเข้าใจง่ายขึ้น คือ สิ่งที่มีจริง และเกิดดับ เรียกว่าสังขารโลก สิ่งที่มีจริงแล้วเกิดดับด้วย ก็คือทุกอย่างที่ตอนนี้ จิต เจตสิก รูป ที่เราได้ศึกษาไป เวลาจิต เจตสิก รูป เกิด แล้วก็ มีเป็นคน เป็นสัตว์ มานั่งอยู่ตรงนี้ หรือว่าเป็นนกบินอยู่บนอากาศ อะไรก็ตามแต่ เป็นปลา เป็นอะไรอย่างนี้ คือจิต เจตสิก รูป หรือว่าขันธ์ ๕ เราก็สมมติเรียกกันว่า เป็นสัตว์ชนิดนั้นชนิดนี้ ว่าเป็นนก ว่าเป็นปลา ว่าเป็นมนุษย์ ว่าเป็นแมว เป็นสุนัข อะไรอย่างนี้ เป็นกลุ่มๆ ไป อย่างนี้เรียกว่าสัตวโลก ซึ่งการที่สัตวโลกจะมี ก็เพราะว่ามีสังขารโลกนั่นเอง ก็สมมติเรียกต่างๆ กันไปว่าเป็นสัตว์ชนิดนั้น สัตว์ชนิดนี้ อย่างนี้เรียกว่า สัตวโลก ส่วนสถานที่ที่เป็นที่อยู่ของสัตวโลก เรียกว่า โอกาสโลก ภูมิมนุษย์เราเป็นที่อยู่ของมนุษย์ สัตว์เดรัจฉานหลายๆ ประการ เรียกว่าโอกาสโลกประเภทหนึ่ง ทุกท่านอาจจะเคยได้ยินว่า มีนรก มีภูมิเปรต มีภูมิของ อสุรกาย หรือว่ามีเทวดาตั้ง ๖ ชั้น สถานที่ต่างๆ เหล่านั้นเป็นโอกาสโลก สัตว์บุคคลที่ไปเกิดอย่างเช่น พวกเทวดา อะไรอย่างนั้นเป็นสัตว์โลก แต่จริงๆ แล้วการที่จะมีสัตวโลก มีโอกาสโลก ก็เพราะว่ามีสังขารโลกนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ พระอาทิตย์เป็นโลกหรือเปล่าคะ เป็นหรือไม่เป็นคะ พระจันทร์เป็นโลกหรือเปล่าคะ ดาวเป็นโลกหรือเปล่าคะ โลกอะไร โลกมี ๓ ค่ะ เป็นโลกอะไรคะ สังขารโลก หรืออะไรอีกคะ โอกาสโลก ถ้าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็เป็นสัตวโลก แล้วทุกอย่างเป็นสังขารโลก เพราะโลกคือเกิดดับ แล้วก็สิ่งที่เกิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิก รูป เป็นสังขารทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น คำว่าสังขารในภาษาไทย เราบอกว่า สังขารไม่เที่ยง เราคิดถึงแต่ร่างกาย คิดถึงแต่รูป แต่ความจริงสภาพธรรมทั้งหมด ไม่เว้นเลย ที่เกิดแล้วดับเป็นสังขารธรรม


    หมายเลข 9757
    18 ส.ค. 2567