ขันธ์ ๕ - ปรมัตถธรรม ๓


    สิ่งที่เกิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิก รูป เป็นสังขารทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น คำว่าสังขารในภาษาไทย เราบอกว่า สังขารไม่เที่ยง เราคิดถึงแต่ร่างกาย คิดถึงแต่รูป แต่ความจริงสภาพธรรมทั้งหมด ไม่เว้นเลย ที่เกิดแล้วดับเป็นสังขารธรรม แต่ไม่ใช่สังขารขันธ์ทั้งหมด ที่เป็นสังขารขันธ์เฉพาะอะไรคะ จิตเป็นสังขารขันธ์ได้ไหมคะ ไม่ได้ เพราะอะไรคะ จิตเป็นวิญญาณขันธ์

    สิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่เปลี่ยน จิตเป็นวิญญาณขันธ์ แต่จิตจะไปเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ไม่ได้ สิ่งใดที่ตรัสรู้ สิ่งนั้นเป็นความจริง ที่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนได้ สำหรับเวทนา เป็นปรมัตถธรรมอะไร เพราะว่าปรมัตถธรรมมี ๔ ถ้าพูดถึงปรมัตถ์ ได้แก่ ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน คนโบราณช่างย่อ เป็น จิ เจ รุ นิ คล้ายๆ เป็นคาถา แต่ว่าถ้าใครไม่รู้ ก็เลยไปท่อง คิดว่าเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ของท่านในความหมายนั้นก็คือ จิ ได้แก่ จิต เจ ได้แก่ เจตสิก รุ ได้แก่รูป และก็นิ ได้แก่ นิพพาน แต่ถ้าเราไม่รู้ ๔ คำ เราไปจำเฉยๆ เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่พอรู้ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เราย่อเองได้ไหมคะ เหมือนคนสมัยก่อนที่ท่านย่อ เราก็ จิ เจ รู นิ ก็เป็นคำที่ง่าย และก็รู้ความหมายด้วยว่า หมายความถึงปรมัตถธรรม

    เวทนาเป็นสภาพความรู้สึกที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรมอะไร ถ้าถามต้องตอบให้ตรงกับคำถาม ถ้าถามว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร จะตอบว่าอย่างไรคะ ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าความรู้สึกที่ใช้คำว่า เวทนา ในภาษาบาลี ไม่ใช่ เว ทะ นา ภาษาไทย ใช้ เวดทะนา หมายความว่าสงสารมาก น่าสงสารเหลือเกิน แต่ภาษาบาลีไม่มีคำนั้น มีแต่เวทนา เป็นสภาพที่รู้สึก จะรู้สึกดีใจ เสียใจ ทุกข์ สุข ประการใดๆ เฉยๆ ก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น สภาพความรู้สึกที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรมอะไรคะ เจตสิกปรมัตถ์

    นี่ค่ะมีความมั่นใจ เพราะว่าต้องมี ๔ อย่าง ศึกษาธรรมแล้วต้องรู้ว่าได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไร เพราะว่าสิ่งที่มีจริงแท้ในโลกนี้ หรือว่าจะรวมนิพพานด้วย ซึ่งเหนือโลก ก็มีเพียง ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จะเรียกชื่อว่าอะไร โดยฐานะของศาสตร์ไหนก็ตาม แต่ทั้งหมดต้องเป็น ๑ ใน ๔ คือ จิต หรือเจตสิก หรือรูป หรือนิพพาน ซึ่งความจริง นิพพานพ้นไปจากการเกิดดับ ไม่มีการปรากฏกับโลภะ หรืออวิชชา หรือความไม่รู้ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ก็เท่าที่มีอยู่ขณะนี้คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ว่าเวทนาเป็นปรมัตถธรรม คือเจตสิก เป็นขันธ์อะไรคะ เวทนาขันธ์ เพราะว่าขันธ์ มี ๕ รูปทุกชนิด ทุกประเภท ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน อนาคต หรือต่อไป ก็ต้องเป็นรูป จะเป็นอื่นไม่ได้ รูปทั้งหมดแม้แต่รูปๆ เดียว ไม่ใช่ต้องมารวมกันเป็นกอง รูปนั้นแหละก็เป็นรูปขันธ์ เวทนาทุกชนิด ไม่ว่าเป็นความรู้สึกชนิดใด ในอดีต หรือปัจจุบัน อนาคต ก็เป็นเวทนาขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เหลืออะไรอีกคะ เหลืออีก ๒ ขันธ์ ใช่ไหมคะ การที่เราจะไม่ต้องตามลำดับ จะเป็นเครื่องส่องถึงความเข้าใจของเรา ก่อนว่าเป็นอย่างไร ส่วนการจะเรียงลำดับนั้นก็ทีหลังได้ แต่ว่าเราต้องมีความเข้าใจจริงๆ เหลืออีกกี่ขันธ์คะ ขันธ์ ๕ ที่กล่าวถึงแล้ว คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ แล้วก็วิญญาณขันธ์ เหลือสัญญาขันธ์ กับสังขารขันธ์

    สัญญาขันธ์เป็นปรมัตถ์อะไรคะ ต้องกับมาหาปรมัตถ์ทุกครั้ง เจตสิกปรมัตถ์ แล้วก็สังขารขันธ์เป็นปรมัตถ์อะไร เจตสิกเท่าไรคะ มีจำนวนขึ้นมานิดหน่อย เพราะว่าเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ ทุกเจตสิกเป็นสังขารขันธ์

    โทสะเป็นขันธ์อะไรคะ สังขารขันธ์

    ปัญญาเป็นขันธ์อะไรคะ สังขารขันธ์

    สติ เป็นขันธ์อะไรคะ สังขารขันธ์ เป็นปรมัตถ์อะไรคะ เจตสิกปรมัตถ์

    ไม่ยากเลย แล้วทุกอย่างมีอยู่ที่ตัว ถึงไม่เรียกชื่อ ขณะนี้เราไม่ต้องเรียกอะไรเลย แต่สภาพธรรมก็เกิดแล้ว ทำกิจการงานของสภาพธรรมอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย กำลังเห็นก็เป็นจิตพร้อมเจตสิกที่เกิดขึ้น ในขณะที่เห็นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท


    หมายเลข 9758
    18 ส.ค. 2567