กรรม - วิบากกรรม ๑
ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบาก เป็นชาติวิบาก คือ เป็นผลของกรรม ตอนนี้เราไม่ต้องไปหาผลของกรรมที่ไหนเลย ใช่ไหมคะ ลืมตาขึ้นมาเห็นก็ผลของกรรมแล้ว กำลังได้ยิน จะได้ยินเสียงที่ไพเราะหรือไม่น่าไพเราะ ก็ผลของกรรมแล้ว
เพราะฉะนั้น การที่พูดถึงกรรม และผลของกรรม ต้องมีความชัดเจน ไมใช่พูดเลื่อนลอย สามารถที่จะกล่าวได้ แสดงได้โดยละเอียดว่า ขณะไหนเป็นกรรม ขณะไหนเป็นผลของกรรม
รู้จักกรรมแล้วเมื่อวานนี้ใช่ไหมคะ กรรมเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็นคะ ต้องเป็น สิ่งที่มีจริงต้องเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็ดูว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไรใน ๔ ปรมัตถธรรม
กรรมได้แก่เจตนาเจตสิก ต้องไม่ลืม อย่างภาษาไทยเราพูดว่า ไม่ได้เจตนา แต่ความจริงเจตนาเกิดแล้วกับจิตทุกขณะ เพียงแต่ว่าเจตนานั้นเป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนา หรือไม่ใช่กุศลเจตนา ไม่ใช่อกุศลเจตนา แต่เป็นเจตนาที่เกิดกับจิตเพราะเป็นผลของกรรม ที่ทำให้เจตนานั้นต้องเกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกันกับจิตอื่น เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส พวกนี้ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ขณะนั้นเป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เจตนา ความจงใจที่จะเป็นอกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม แต่ขณะใดที่มีความจงใจที่จะกระทำกุศล เจตนานั้นเป็นกุศลกรรม ขณะใดจงใจที่จะทำอกุศล เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นอกุศลกรรม ถ้ากระทำสำเร็จเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดผลคือเกิดเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เกิดเป็นเปรตก็ได้ เกิดเป็นอสุรกายก็ได้ เกิดในนรกก็ได้ นั่นคือผลของกรรมที่เป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นผลกุศลกรรมที่ทำสำเร็จไปแล้ว เลือกไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะว่ากุศลกรรมที่เราทำไม่เท่ากัน กุศลบางประเภทเราก็ทำด้วยจิตที่ปีติ ผ่องใส โสมนัส บางประเภทก็เฉยๆ เพราะฉะนั้น ผลของกรรมก็ต่างกันไป
ด้วยเหตุนี้แม้ว่าทุกคนจะเกิดมาในโลกนี้ เป็นผลของกุศลกรรมที่เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม แต่ก็จำแนกให้แต่ละคนต่างกันไป กรรมบางอย่างที่กระทำ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้คนนั้นเกิด แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมจนถึงระดับขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะว่าผู้ที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับปฏิสนธิจิต ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังอีก ได้เข้าใจอีก ได้อบรมปัญญาอีก ก็ไม่สามารถที่ปัญญาเจริญจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
นี่ก็เป็นเหตุกับผลที่จะต้องรู้ว่า ทุกคำที่ได้ยิน จะต้องมีความเข้าใจชัดเจนถูกต้อง ว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร อย่างเจตนา ก็เวลาที่เราได้ยินคำว่ากรรม ในพระไตรปิฎกจะกล่าวว่า กรรมได้แก่เจตนา ถ้าเราเหยียบมดตาย ไม่ได้ตั้งใจเลย เดินไปก็ไปเหยียบเข้า แล้วมดก็ตาย เป็นอกุศลกรรมบถหรือเปล่า
นี่เป็นความละเอียดที่ต่อไปจะเพิ่มขึ้นว่า อกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมบถก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก ตามวัฏฏะ ๓ ที่เราเคยได้ยินได้ฟัง กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากวัฏฏ์ แต่ถ้าจงใจตั้งใจฆ่ามด เป็นอกุศลกรรมบถไหมคะ เป็น เพราะขณะนั้นเจตนาเป็นอกุศล ถึงความเป็นกรรมบถที่ต้องการจะฆ่า แต่เวลาเดินไป ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นจิตเป็นอะไรคะ กำลังเดินไป ไม่ใช่กุศลที่เดิน จิตขณะที่เดิน ไม่ใช่กุศลจิต จิตที่ทำให้มีการเคลื่อนไหว ให้รูปเคลื่อนไหวเดินไปเป็นจิตอะไร เป็นอกุศลจิต แต่ถ้าไม่มีเจตนาที่จะประทุษร้าย ก็เป็นอกุศลจิตที่มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่ระดับที่จงใจที่จะฆ่า
เพราะฉะนั้น ก็มีความต่างขั้นของสภาพธรรมทุกระดับ ขณะนี้ที่กำลังฟังธรรมเป็นกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา