กรรมพันธุ์ หรือ กรรมสัมพันธ์ - มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์


    ผู้ฟัง ขอสนทนาร่วมครับ เมื่อคืนนี้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันว่า ต่างสถาบัน ต่างที่ จะนำสิ่งที่ได้ความรู้ประสบการณ์แลกเปลี่ยนกัน จะไปพัฒนาจริยธรรมอย่างไร เพราะว่าธรรมชาติของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน พอมาฟังอาจารย์ตรงนี้เหมือนกับว่า มีคนๆ หนึ่งมาถามอาจารย์ว่า จะให้เงินมูลนิธิก็ทำ จะให้เงินการศึกษาดีไหม ให้โรงพยาบาล อาจารย์ก็ตอบว่า ถ้าให้ในส่วนที่เป็นจากไม่รู้สู่รู้ จนกระทั่งสุดท้ายคือปัญญา การที่เราจะกลับไปพัฒนาให้ได้จริยธรรมอย่างไร นั่นแปลว่ากิจกรรมนั้น ท่านมุ่งไปสู่ปัญญาน่าจะดีที่สุด ใช่หรือไม่ครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ในขณะเดียวกันก่อนที่เขาจะมีปัญญา ก่อนที่เขาจะมีชีวิตต่อไปเพื่อได้ฟังพระธรรม ก็ต้องรักษาโรคเขาก่อน ใช่ไหมคะ ความทุกข์อื่นๆ ก็ช่วยด้วย แต่อย่าลืม สิ่งสำคัญที่สุด อย่าช่วยเฉพาะปลายเหตุ ถ้ามีคนเจ็บอยู่ต่อหน้าแล้วเราไปนั่งสอนให้เขารู้จักสภาพธรรม เขาคงรับไม่ได้ ใช่ไหมคะ หรือคนที่ไม่มีอาหารเลย ยากจน แล้วเราไม่ช่วยเขา หรือเด็กที่ยังไม่มีการศึกษา ต้องไปทำงานช่วยพ่อแม่ ต่างๆ เหล่านี้ เขาก็ไม่อาจที่จะได้ฟังธรรม

    เพราะฉะนั้น โอกาสคือเฉพาะหน้า สิ่งใดที่กำลังมีที่จะช่วย ช่วยทันทีด้วย แล้วก็คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้วย อย่าช่วยเพียงปลายเหตุ

    เพราะฉะนั้น ก็ต่างคนต่างทัศนะ อย่างท่านที่มาปรึกษา ท่านจะช่วยอย่างไร ใช่ไหมคะ ดิฉันก็บอกว่า ตามอัธยาศัยที่ท่านเห็นสมควร แต่อีกท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าท่านช่วยมาหมดแล้ว แต่ว่าผู้ที่ถูกช่วยเหลือก็เหมือนเดิม แต่ถ้าช่วยให้เขาเข้าใจพระธรรมก็จะเปลี่ยนจิตใจของเขาได้ เหตุที่จะทำให้เขาพ้นจากวิบากที่ไม่ดีก็จะน้อยลง ถ้าไม่มีความรู้อย่างนี้ สติ คืออะไร ปัฏฐาน คืออะไร อบรมไปเพื่ออะไร ก็ไม่มีความเข้าใจเลย เพียงแต่พูดถึงชื่อเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นสติปัฏฐานซึ่งเป็นขั้นสูง จะมีความเข้าใจจริงๆ ได้ ต่อเมื่อมีพื้นฐานขั้นต้นที่ถูกต้องจริงๆ ถ้าพื้นฐานไม่มี จะได้ยินได้ฟังเพียงชื่อ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าข้อที่ ๑ พูดถึงเรื่องกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้สติคืออะไร เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นเราหรือเปล่า เป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นขันธ์อะไร ก็ยังไม่ทราบ ต่อเมื่อไรทราบ ก็รู้ว่า กว่าจะถึงสติปัฏฐาน ต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นอีก แค่นี้ไม่พอ เพียงแค่วันนี้ ไม่พอ แต่สามารถที่จะเข้าใจความหมายได้

    เชิญคุณสุภีร์ ให้ความหมายของคำว่า “สติปัฏฐาน”

    อ.สุภีร์ ก่อนที่จะให้ความหมายของคำว่า “สติปัฏฐาน” ขอให้ความหมายของที่คุณพี่ได้ถามเรื่องกรรมสัมพันธ์นิดหนึ่ง ทุกท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ จริงๆ คำว่า กรรมพันธุ์ หรือกรรมสัมพันธ์ มาจากคำว่า กรรมพันธุแปลเป็นภาษาไทยเขาแปลว่า มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือได้รับผลตามที่สมควรแก่กรรมที่ทำไว้นั่นเอง อย่างเห็นตอนนี้ก็มาจากกรรมๆ หนึ่ง อย่างนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ เกิดขึ้นเห็นเพราะผลของกรรมๆ หนึ่ง เรียกว่ามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรียกว่ากรรมพันธุ์ ตอนหลังมาก็มาแปลงเป็นกรรมพันธะบ้าง กรรมสัมพันธ์บ้าง ก็แล้วแต่ ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายความหมายไปแล้ว ซึ่งก็คือคำว่ากรรมสัมพันธ์ก็ดี กรรมพันธุ์ก็ดี หรือว่ากรรมพันธุ์ก็ดี ความหมายจริงๆ ก็คือว่า ได้รับผลที่สมควรกับกรรมที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง ความหมายก็คือได้รับวิบากที่สมควรแก่กรรมที่ทำแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ว่ายุคนี้สมัยนี้ พอได้ยินคำนี้ เข้าใจว่าร่วมกัน ใช่ไหมคะ สัมพันธ์

    อ.สุภีร์ คนละเรื่องกันเลยนะครับ คำว่าความสัมพันธ์กันในเรื่องของธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ฉะนั้นความสัมพันธ์ในเรื่องของธรรมก็คือ ความเป็นเหตุเป็นผลของธรรมนั่นเอง เมื่อทำเหตุอย่างไร ผลก็ได้รับอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าสัมพันธ์


    หมายเลข 9762
    18 ส.ค. 2567