กว่าจะถึงสติปัฏฐาน


    อ.สุภีร์ ต่อไปเป็นความหมายของคำว่า “สติปัฏฐาน” ก็แยกมาเป็น ๒ คำ คำว่า สติ กับคำว่า ปัฏฐาน ปัฏฐานแปลว่าที่ตั้ง ที่ตั้งก็คือที่ๆ จะให้สติเกิด หรือที่จะให้สติชนิดนี้ที่เรียกว่าสติปัฏฐาน รู้ ระลึกได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าเราได้คุยกันมาพอสมควรแล้วว่า สติเป็นสังขารขันธ์ เป็นเจตสิกปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ในกุศล แต่นี้เป็นสติทั่วๆ ไป แต่วันนี้เราจะกล่าวในหัวข้อก็คือ เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่เป็นสติปัฏฐาน

    ฉะนั้นคำว่าสติปัฏฐาน ในที่นี้ แยกออกเป็น ๒ คือคำว่า สติ กับ คำว่า ปัฏฐาน ปัฏฐาน หรือ ปัฏฐานะ เป็นชื่อของที่ตั้ง แปลว่าที่ตั้งที่จะให้สติระลึก เพราะว่าสติมีสภาพที่ระลึก ระลึกได้ในกุศล ทีนี้มีกุศลอีกประเภทหนึ่งที่เป็นขั้นที่สูงมาก คำว่า สติ สติ คำหน้าก็คือ สติเจตสิกซึ่งเป็นเจตสิกปรมัตถ์ เป็นสังขารขันธ์ คำหลัง ปัฏฐาน ที่ตั้งที่จะทำให้สติระลึก เชิญท่านอาจารย์ครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสติไหมคะ แน่ใจหรือคะ มี หรือไม่มีคะ มี เมื่อไรคะ ไม่ใช่ขณะที่เห็น เพราะว่าเห็นเป็นจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภท ซึ่งไม่มีสติเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเจตสิกจะแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท เจตสิกที่เกิดได้กับจิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล วิบาก หรือกิริยา ภาษาบาลี ไม่ทราบจะยากไปหรือเปล่า แต่ก็ฟังไว้เผื่อจะได้ยิน เจตสิกที่สามารถจะเกิดได้กับจิตทุกประเภทชื่อว่า อัญญสมานาเจตสิก ทุกประเภทที่นี้หมายความว่าเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ อัญญสมานา เวลาที่เจตสิกนี้เกิดจะเสมอกับเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกัน ถ้าเจตสิกที่เป็นกุศลเกิด เจตสิกพวกนี้จะเป็นกุศลด้วย เพราะว่าเวลาที่กุศลเจตสิกเกิด ทั้งจิต และเจตสิกอื่นเป็นกุศลทั้งหมด เวลาที่อกุศลเจตสิกเกิด ทั้งจิต และเจตสิกอื่นเป็นอกุศลหมด เป็นชาติ อกุศลหมด

    เพราะฉะนั้น จิตจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อัญญสมานาเจตสิกต้องมี เป็นเจตสิกที่เสมอกันกับจิต และเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกัน ซึ่งอัญญสมานาเจตสิกมีทั้งหมด ๑๓ ประเภท แต่แบ่งออกเป็น สัพพจิตสาธารณะ ๗ นี่ต้องเกิดแน่นอนกับจิตทุกประเภท ส่วนอีก ๖ เกิดกับจิตบางประเภท ไม่เกิดกับจิตบางประเภท แต่ก็เสมอกันกับเจตสิกอื่นๆ นี่เป็นประเภทที่ ๑

    อีก ๒ ประเภทก็คือเป็นอกุศลเจตสิกกับเป็นโสภณเจตสิก ถ้าเป็นอกุศลเจตสิกต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไปเกิดกับโสภณเจตสิกไม่ได้เลย เกิดร่วมกันไม่ได้ กุศลเกิดร่วมกับอกุศลได้ไหมคะ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เป็นอกุศล จะไปเกิดกับเจตสิกที่ดี ที่เป็นโสภณไม่ได้

    นี่ก็คือก่อนที่จะถึงสติปัฏฐานนั่นเอง ถ้าไม่มีความรู้อย่างนี้ ไม่ต้องไปกล่าวถึงสติปัฏฐานเลย เพราะว่านี้กำลังพูดถึงสติเจตสิก ซึ่งไม่ใช่อัญญสมานาเจตสิก จะไปเกิดกับจิตทุกประเภทไม่ได้ สติเจตสิกเป็นโสภณเจตสิก

    เพราะฉะนั้น เจตสิกจึงมี ๓ ประเภท อัญญสมานาเจตสิก ๑ อกุศลเจตสิก ๑ โสภณเจตสิก ๑ สติเป็นโสภณเจตสิกต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น โสภณจิตคือจิตที่ดีงาม ซึ่งจิตที่ดีงามเป็นกุศลก็ได้ หรือเป็นกุศลวิบาก คือ ผลของกุศลที่ดีก็ได้ หรือเป็นโสภณกิริยา เช่นจิตของพระอรหันต์ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่เป็นกิริยาจิตที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงสติ ถ้าบอกว่าเดินดีๆ มีสติ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวหกล้ม ถูกไหมคะ ต้องมีสติเวลาเดินข้ามถนน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวถูกรถชน พูดอย่างนี้ถูกหรือผิด ต้องคิดก่อน ถูกหรือผิดคะ เมื่อวานนี้อาบน้ำรับประทานอาหารก็เป็นกุศลไปหมดทีหนึ่งแล้ว ใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นผู้ที่ร่ำรวยกุศล ทำอะไรก็เป็นกุศลหมดเลย ไม่ใช่ ร่ำรวยอะไรคะ อกุศล โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เสมอเป็นประจำ ขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตจากอกุศลใดๆ ทั้งนั้น แล้วก็อบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นกุศล นอกจากนั้นเป็นอกุศลหมด

    เพราะฉะนั้น ถ้าเดินดีๆ เวลาข้ามถนนต้องมีสติ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะถูกรถชนตาย คำพูดนี้ถูกหรือผิด ผิด ถ้าไม่รู้อย่างนี้ว่า สติคืออะไร เจริญสติปัฏฐานได้ไหม อบรมเจริญสติปัฏฐานได้ไหม ก็ไปข้ามถนนด้วยสติ เพราะคิดว่าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานก็ได้ แต่นั่นไม่ถูกต้อง การฟังพระธรรมเพื่อให้มีความเห็นถูก ประโยชน์สูงสุดคือต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างใจ ต่างคนต่างเข้าใจว่า ตนเองมีเหตุผล แต่ใครจะรู้ว่า อะไรถูกอะไรผิด ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรม ทำให้เราเริ่มเป็นคนตรงต่อพระธรรม ต่อไปนี้เราจะไม่ใช่คำว่าสติง่าย แล้วก็โดยไม่เข้าใจเลยว่าสติคืออะไร มีลักษณะอย่างไร เพียงได้ยินตั้งแต่เด็กจนโตก็ใช้คำนี้มาเรื่อย โดยที่ว่าไม่รู้ความหมายจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็คือว่าต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าสติเป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นขันธ์หรือเปล่าคะ เป็น เป็นขันธ์อะไรคะ สังขารขันธ์ เป็นเราหรือเปล่าคะ อยากให้สติเกิด แล้วสติจะเกิดเพราะความอยากหรือเปล่าคะ ไม่ เพราะฉะนั้น ต้องมีเหตุ ทุกอย่าง สภาพธรรมนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้นมาได้

    ด้วยเหตุนี้ต้องทราบว่า สติเป็นธรรมฝ่ายดี ขณะที่ให้ทาน วันนี้ไม่ทราบว่าจะมีบ้างหรือยัง คือว่า แม้สิ่งของเพียงเล็กน้อย แต่เพื่อประโยชน์ของผู้รับ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ซึ่งเพราะสติเกิดระลึกเป็นไปในทาน เพราะว่าทุกวันๆ คนส่วนใหญ่ยิ่งในยุคนี้หรือยุคต่อไปจะเพิ่มความเห็นแก่ตัวขึ้น เพราะไม่เข้าใจพระธรรม ไม่เข้าใจธรรม ไม่มีการฟังธรรมเลย มีแต่ความเห็นว่า เป็นเรา แล้วสิ่งที่ต้องการมาก คือ เวทนา ความรู้สึกเป็นสุข จากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส จากสัมผัส

    เพราะฉะนั้น ก็แสวงหาเพื่อความเป็นเรา แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้ารู้ว่า ไม่มีเรา แต่มีกุศลจิต และอกุศลจิต ทีนี้เราก็เริ่มคิดแล้วใช่ไหม เราจะสะสมอกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก หรือว่าเราจะสะสมกุศลจิต ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลกรรม แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก


    หมายเลข 9763
    18 ส.ค. 2567