คนไม่รู้สอนคนไม่รู้
ผู้ฟัง ผมใคร่เรียนถามเป็นข้อสงสัย จากการที่ท่านอาจารย์บรรยายมาเรื่อง สติปัฏฐาน ๔ ผมก็มานึกถึงว่า สำนักต่างๆ ไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิตที่เปิดวิปัสสนากรรมฐาน ๑๐ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง ก็เอาผู้คนไปแล้วไม่ได้ไปสอนรากศัพท์พวกนี้ ไม่ได้สอนในแนวของอาจารย์ ไปถึงก็ใสชุดขาว ทำพิธีในสำนักใครสำนักมัน ๑๐ วันบ้าง ๑๕ วัน ๗ วันบ้าง มันจะผิดเพี้ยนหรือเปล่าครับ ใคร่เรียนขอความเมตตาจากท่านครับ
ท่านอาจารย์ สอนสำหรับคนไม่รู้ค่ะ ถูกต้องไหมคะ คนไม่รู้สอนคนไม่รู้ให้ไม่รู้ต่อไปหรือว่าสอนให้คนเข้าใจถูก จนกระทั่งเป็นความเห็นถูกเพิ่มขึ้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง รู้อะไรบ้าง จากการนุ่งขาวใส่ขาว ใส่สีอื่นไม่รู้หรือคะ ขณะนี้ตั้งหลายสี ใส่อะไรก็ได้ แต่สามารถที่จะฟังพระธรรม กษัตริย์ลิจฉวีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคหลายสี เครื่องฉลองพระองค์ ไม่ได้จำกัดว่าเราจะบริสุทธิ์เพราะสี หรือว่าปัญญาของเราจะเกิดเพราะสี ใส่สีขาวแต่ใจขณะนั้นกำลังโกรธ กำลังโลภ แล้วสีขาวมีประโยชน์อะไร มีสำนักหนึ่งเป็นสำนักที่บวชชีพราหมณ์ก็เชิญดิฉันไปพูดธรรม ดิฉันจะรับไปทุกแห่งที่เชิญ เพราะว่าผู้เชิญต้องการฟัง แต่สิ่งที่ดิฉันจะพูดต้องพูดตามความเป็นจริง ตรงตามพระธรรม
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะพูดเรื่องของศีล ๘ ของผู้ที่นุ่งขาวห่มขาวที่เป็นชีพราหมณ์ ดิฉันก็ถามบุคคลนั้นว่า ทำไมถึงใส่สีขาว คือต้องมีเหตุผล เพื่ออะไรคะจึงถาม เพื่อให้คิดให้พิจารณาให้เกิดปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ว่าไปที่ไหน ใครให้ทำอะไรก็ทำ แต่ไม่มีปัญญาเลย แล้วไปทำไม ไปเพื่อไม่มีปัญญา หรือว่าไปเพื่อมีปัญญา
เพราะฉะนั้น เมื่อจะใส่สีขาวก็ต้องถามเหตุผลว่า ทำไมถึงใส่สีขาว ท่านผู้นั้นก็ตอบว่า รักษาศีล ๘ ดิฉันก็ถามว่า รักษาศีล ๘ ใส่สีอื่นได้ไหม เป็นปกติได้ไหม และเรื่องของการรักษาศีล ส่วนใหญ่คนจะลืมจุดประสงค์ ทำไมถือศีลมากขึ้น บางคนก็คิดว่าศีลมากก็เป็นที่เคารพจากสถานภาพของการใส่เสื้อผ้า ก็เห็นว่าเป็นผู้ที่มีศีลตั้ง ๘ ก็คงจะเป็นที่นับถือ แต่สำหรับผู้นั้นเองที่จะรักษาศีลมากหรือน้อย ต้องเป็นผู้ตรง เพื่อความขัดเกลากิเลสของตนเอง อย่างพระภิกษุ ท่านสละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ ลองคิดถึงที่บ้าน ท่านมีทรัพย์สมบัติอะไรบ้าง อาหารก็เป็นจานหลากหลาย บางท่านก็เป็นเศรษฐีมั่งมีเงิน ๘๐ โกฏิ กี่โกฏิก็แล้วแต่ จานเงินจานทองท่านก็สละไปเพื่อบาตรที่เป็นที่ใส่อาหาร ท่านสละความติดข้อง สละลาภ สละยศ สละเกียรติ สรรเสริญต่างๆ วงศาคณาญาติ ความสนุกสนานจากการคบหาสมาคมกับมิตรสหายทั้งหลาย ในสมัยนั้นก็มีการเที่ยวเตร่ไปดูมหรสพ อย่างท่านพระสารีบุตรกับพระมหาโมคคัลลานะ ท่านก็เป็นตระกูลเศรษฐี แต่ว่าขณะที่กำลังดู ท่านก็เกิดจิตที่สะสมมารู้ว่า คนที่กำลังหัวเราะให้เราดู โศกเศร้าให้เราดู ไม่ช้าเขาก็ตาย แม้ตัวเองก็ต้องตายจากโลกนี้ไป
เพราะฉะนั้น จะได้อะไรจากความเพลิดเพลินเพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ฉันใด ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีปัญญาจึงสามารถสละ สละจริงๆ สละแล้วจะกลับมารับอีกได้ไหม จริงใจหรือเปล่า ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าสละแล้วก็รับอีก อย่างดิฉันเคยไปที่วัดหนึ่ง มีพิธีบวช พอบวชเสร็จ อุบาสกอุบาสิกาก็ตั้งแถว ๒ ข้าง แล้วผู้ที่เป็นภิกษุใหม่ก็เดินมา แล้วก็อุ้มบาตรมาด้วย ๒ ข้างทางนั้นก็ใส่เหรียญเงิน สตางค์ แล้วแต่จะมากจะน้อย ก็ดังก๊องแก็งๆ ไปตลอด เพิ่งสละ แต่ทันทีที่สละเสร็จก็กลับมารับอีก นี่แสดงว่าอะไรคะ ไม่เข้าใจจุดประสงค์ว่า ศีลมีเพื่ออะไร จาก ๕ ของคฤหัสถ์ไปสู่ถึง ๒๒๗ ข้อ เป็นการขัดเกลาอย่างละเอียดมาก ที่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทรงบัญญัติได้ แม้ท่านพระสารีบุตรก็บัญญัติไม่ได้ ไม่ใช่วิสัยของสาวก ความละเอียด ความที่สะสมมาอย่างวิจิตร จิตกำเริบบ้าง จิตเปลี่ยนแปลงบ้าง เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น ก็จะทำให้บุคคลนั้นหันกลับเข้ามาสู่ความเจริญของอกุศลได้ มากกว่าความเจริญทางกุศล
เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเป็นผู้ตรงต่อตัวเอง ถ้าเราจะรักษาศีลเพื่อขัดเกลา ท่านพระสารีบุตร ท่านมีความรู้สึก แล้วท่านแสดงความรู้สึกของท่าน เหมือนกับท่านกล่าวสีหนาทอย่างผู้ที่มีปัญญา หรือผู้ที่มีความเป็นใหญ่ว่า ตัวท่านเปรียบเหมือนคนจัณฑาล ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้ที่ใครจะลบหลู่อย่างไรก็ได้ เปรียบเหมือนผ้าเช็ดทุลี ผ้าเช็ดธุลี ภาษาไทยเราก็คือ ผ้าขี้ริ้ว แต่ว่าคนที่มีความสำคัญตน ที่ไม่มีปัญญาก็จะต้องการเป็นผ้าไหม ธงสูงๆ ยกขึ้นเด่นๆ แต่ท่านพระสารีบุตรเปรียบตัวท่านว่า เหมือนผ้าเช็ดธุลี ไม่มีความหวั่นไหว ไม่ว่าท่านจะได้รับสิ่งใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ได้รับกระทบวาจาใดหรือการกระทำอย่างใด ท่านไม่หวั่นไหว นั่นจึงจะเป็นผู้ที่สละ แต่ว่าผู้ที่ไปเพื่อจะรับเงินทองกลับมา หรือว่าเพื่อเกียรติยศ เพื่อลาภ อันนั้นไม่ได้สละเลย
เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า การที่จะใส่สีขาว ใส่ทำไม หวังอะไรหรือเปล่า ท่านผู้นั้นตอบว่า ท่านรักษาศีล ดิฉันก็ถามว่า สีอื่นรักษาศีลได้ไหม ท่านก็บอกว่าได้ แล้วดิฉันก็ถามซ้ำว่า แล้วทำไมใส่สีขาว ท่านบอกว่าเพราะสวยดี ก็คำตอบอย่างนี้ก็มาแล้ว
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครจะทำตามใคร เราเกิดมาในโลกคนเดียวแล้วก็เราจะต้องตามคนอื่นที่ผิด หรือว่าเราเป็นผู้ที่จะฟังพระธรรม ความเห็นถูก แล้วช่วยให้คนอื่นเห็นถูก ในเมื่อเรามีความเห็นถูกแล้ว เราก็คงจะไม่เก็บความเห็นถูกของเราไว้คนเดียว แต่ก็คงจะช่วยเผยแพร่ความเห็นถูกนั้นต่อไปด้วย
เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำอะไร ขอให้เป็นผู้ที่มีเหตุผล มีการซักถามจนกระทั่งเกิดปัญญาของเราเอง ไม่ว่าจะได้รับคำบอกเล่าว่า ให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอย่างนั้น เพราะอะไร ทำไม ปัญญารู้อะไร ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ปัญญารู้ได้ไหม ขณะนี้เดี๋ยวนี้ยังไม่ทำอะไรเลย ปัญญาเกิดขึ้นได้ไหม เพียงแค่ฟัง ปัญญาเกิดขึ้นได้ไหม
ในครั้งพุทธกาลมีผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรมกำลังฟัง เมื่อจบเทศนาเป็นพระโสดาบัน ต้องไปเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือเปล่า ต้องไปสู่ที่หนึ่งที่ใดหรือเปล่า แต่เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา อย่างอื่นจะทำหน้าที่ของปัญญาไม่ได้