สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ๑



    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน ยังกล่าวถึงไม่ได้ ใช่ไหมคะ นอกจากจะรู้พื้นฐานว่า สติเป็นปรมัตถ์ แล้วเป็นธรรมฝ่ายดี แล้วก็มีหลายระดับ เริ่มต้นตั้งแต่ธรรม คือ กุศลมีหลายระดับ ในหนังสือบุญกริยาวัตถุที่นำมาด้วยมีบุญถึง ๑๐ อย่าง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องให้ซึ่งเป็นทานเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าไม่ใช่การให้ แต่สิ่งที่เหนือการให้ก็มี เพราะเหตุว่าบางคนไม่ค่อยคำนึงถึงศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจา คิดถึงแต่เพียงวัตถุที่จะให้ ด้วยความหวังว่าต้องให้ ถ้าไม่ให้เราจะไม่ได้บุญ เราจะไม่มีอะไรเป็นผลตอบแทนข้างหน้า แต่คิดอย่างนั้นไม่ถูก เพราะว่าบุญจริงๆ เป็นการขัดเกลาความตระหนี่ เพราะว่าทุกคนเห็นแก่ตัว เมื่อมีตัวก็มีความรักตัว เมื่อมีความรักตัว ทุกอย่างก็ทำเพื่อตัว แต่ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องว่า ทุกคนเกิดมาชั่วคราว โลกนี้ก็เหมือนที่พักชั่วคราว ใครจะพักที่ไหน โรงแรมอะไร หรือว่าอย่างไรก็แล้วแต่บุญกรรม แต่ก็ต้องจากโลกนี้ไป เพราะฉะนั้นในระหว่างที่พักชั่วคราว เราก็จะมีความเข้าใจว่า ถ้าคนอื่นเขากำลังมีความต้องการสิ่งที่เราสามารถจะให้เพื่อความสุขของเขาได้ เพื่อประโยชน์ของเขา การให้จริงๆ คือการให้ด้วยการช่วยบุคคลอื่นให้พ้นจากความทุกข์ หรือว่าเพื่อประโยชน์แก่บุคคลนั้น โดยที่ไม่ต้องไปคำนึงว่า เราจะได้อะไร ถ้าคำนึงถึงเราได้อะไร ก็เป็นความคิดเพื่อตัวอีกนั่นแหละ ให้เพื่อตนเอง แต่นี่ให้เพื่อความสุขของคนอื่น ให้เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น

    เพราะฉะนั้น นี่จึงจะเป็นกุศลจริงๆ เป็นทาน ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราจะรู้หรือไม่รู้ ขณะเห็นขณะเดียวมีเจตสิก ๗ ประเภทเกิด ขณะที่เป็นอกุศล ก็จะมีเจตสิกที่เป็นอกุศลเจตสิกเกิด ขณะที่เป็นจิตดีที่เป็นกุศล ก็จะมีโสภณเจตสิกเกิดอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย ให้ทานเพียงแค่นี้ โสภณเจตสิก และเจตสิกอื่นตั้งเท่าไร เฉพาะโสภณเจตสิกนี่ก็ ๑๙ แล้ว

    เพราะฉะนั้น เราก็คือนามธรรมรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานหน้าที่ แต่ว่าด้วยความไม่รู้ จึงเป็นเราทั้งหมด สติก็เป็นเรา โลภะก็เป็นเรา โทสะก็เป็นเรา ความจริงไม่ใช่เรา สติเป็นโสภณเจตสิก ถ้ารู้อย่างนี้ ก็มีเครื่องวัดว่า ขณะใดที่จิตใจไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบ คือ ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าในการอบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล

    เดินข้ามถนน เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องยอมรับตามความเป็นจริง เป็นอกุศล ถ้าเป็นสติปัฏฐานได้ไหมคะ ขณะที่กำลังข้ามถนน เป็นสติปัฏฐานได้ไหมคะ เป็นทานได้ไหม ขณะข้ามถนนเป็นทานได้ไหม เกี่ยวกับทานหรือเปล่า แต่ถ้าทำทางให้คนข้าม เป็นทานได้ ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้น กุศลก็มีหลายอย่าง แต่ถ้าจะพูดถึงสติปัฏฐาน ขณะที่กำลังเดินข้ามถนน สติปัฏฐานเกิดได้ไหมคะ ทานไม่ได้ ขณะนั้น ได้หรือไม่ได้คะ ได้ เมื่อไรคะ คำตอบต้องชัดเจน ทุกคำตอบต้องไล่ไปจนกระทั่งถึงปัญญา แต่ถ้าเพียงตอบ อาจจะเพราะจำ หรืออาจจะเพราะคิดในเหตุในผล แต่ว่าต้องถามต่อไปอีกว่า ได้เมื่อไร

    ผู้ฟัง คิดว่า ทุกขณะที่มีจิตเกิดดับ ก็ระลึกถึงกุศลได้

    ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้พูดถึง สติปัฏฐาน เราจากขั้นทานมาสู่ขั้นศีลก่อนก็ได้ คือความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเลย คำพูดที่น่าฟังกับคำพูดที่ไม่น่าฟัง คนได้ยินรู้สึกต่างกันไหมคะ ถ้าคุ้นเคยกับการพูดไม่น่าฟัง สะสมไป วาจาเป็นวาจาที่ไม่ดีที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ แต่ถ้าเปลี่ยน เพราะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วคำพูดก็น่าฟังขึ้น ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป กุศลก็เจริญได้ในขณะที่พูด หรือทางกายก็เจริญได้ อันนี้มีในหนังสือบุญกิริยาวัตถุ คงจะกลับไปอ่านกันเอง

    แต่ถ้าเป็นสติอีกระดับหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรื่องกาย เรื่องวาจา เป็นเรื่องจิตใจ เพราะว่าวันหนึ่งๆ เราไม่ได้พูดก็มี ใช่ไหมคะ เราไม่ได้พูดตลอดเวลา การกระทำทางกายของเราก็ไม่ได้มีตลอดเวลา แต่ใจมีตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น ใจที่มีตลอดเวลา ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ว่าใจที่มีเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล หรือว่าเป็นวิบาก หรือว่าเป็นกิริยา แต่เวลาศึกษาแล้ว จะรู้จักชื่อของจิตแต่ละขณะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่รู้จักตัวจิตสักขณะเดียว

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานต่างกับสมถภาวนา เพราะว่าสมถภาวนาเป็นผู้ที่มีปัญญาที่เห็นว่า แม้ไม่เป็นไปในทาน ในศีล แต่จิตของเราเวลาคิดถึงคนอื่น คิดแบบไหน คิดแบบรังเกียจ คิดแบบเมตตา คิดแบบประทุษร้าย หรือคิดอย่างไร เพราะว่าใจที่คิดถึงคนอื่นจะคิดด้วยเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา หรือว่าตรงกันข้าม ผู้นั้นต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า จิตขณะที่เป็นกุศล จิตที่ดีงามคิดอย่างไร แล้วจิตที่ไม่ดีงามคิดอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ในครั้งพระผู้มีพระภาคหรือก่อนการตรัสรู้ สามารถจะรู้ได้ว่า พอเห็นแล้ว หลังเห็นแล้วทันทีจิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    นี่คือเริ่มจะเข้าใจความหมายของสติอีกระดับหนึ่ง ที่เป็นสติสัมปชัญญะ ต้องประกอบด้วยความรู้ มีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจทันที แต่ถ้าไม่มีการฟังที่เข้าใจ เห็นแล้วก็ตลอดไปเลย ดอกไม้ก็สวย อาหารก็อร่อย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความติดข้อง แต่ผู้มีปัญญาเพียงเห็น แค่เห็นดับไป ท่านรู้เลย จิตเศร้าหมองแล้ว เพราะขณะนั้นเป็นอกุศล


    หมายเลข 9766
    18 ส.ค. 2567