สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ๒


    ด้วยเหตุนี้ในสมัยนั้นผู้ที่มีปัญญาจึงมีสติสัมปชัญญะ เพราะรู้ว่า ถ้าจิตไม่น้อมคิดถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบ เป็นกุศล วันหนึ่งๆ ก็มีแต่อกุศลทั้งนั้น แต่ถ้ารู้ว่าอารมณ์ใด สิ่งใดที่จิตระลึกแล้ว จิตจะสงบจากอกุศล ท่านเหล่านั้นก็จะตรึก มีสภาพของจิตที่ตรึกถึงอารมณ์นั้นบ่อยๆ จนกระทั่งจิตสงบขึ้น สงบขึ้น สงบขึ้น พร้อมด้วยปัญญา จึงสามารถจะรู้ว่า คำว่าสงบที่นี่ ไม่ใช่นั่งเฉยๆ ไม่ใช่จ้องที่หนึ่งที่ใดไม่ให้จิตฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่น ทางอื่น ขณะนั้นเป็นลักษณะของสมาธิ แต่ไม่ใช่กุศล แต่ว่าลักษณะของสมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ อย่างที่พูดถึงเมื่อวานนี้ มิจฉาสมาธิ คือจิตที่ตั้งมั่นที่อารมณ์เดียวบ่อยๆ แต่ขณะนั้นไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิต แต่เข้าใจว่า เพราะไม่เห็นอย่างอื่น ไม่ได้ยินเสียงอื่น ไม่ได้คิดเรื่องอื่น ขณะนั้นก็เข้าใจว่า สงบแล้ว แต่ความจริงชอบไหมตรงนั้น ชอบที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่หนึ่งที่ใดหรือเปล่าคะ ถ้าชอบ เป็นอะไรคะ ลืมเพื่อนสนิท ไม่เคยจากไปเลย เพื่อนคนนี้ ใกล้ชิด ถึงแม้ไม่มีใครเลย แต่ก็ต้องมีคนนี้อยู่ด้วย โลภะ ความติดข้อง ความต้องการ ความหวัง ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นนายช่างเรือน สังสารวัฏฏ์จะไม่หมดสิ้นไปเลย อย่างคำที่เป็นปฐมอุทานที่ว่า ได้พบนายช่างเรือนแล้ว ต่อไปนี้นายช่างเรือนก็ไม่สามารถที่จะสร้างเรือน คือ สังสารวัฏฏ์ให้อยู่ต่อไปได้ในสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้น เรามีโลภะก็ไม่เห็นโลภะ แล้วยังชอบโลภะด้วย แล้วโลภะก็กระซิบอยู่ตลอด ให้ทำอะไรก็ทำทันที ตามไปเลย ให้นั่งอย่างนั้น ให้แต่งตัวอย่างนี้ หรืออะไรก็แล้ว แต่อยู่ภายใต้ความครอบงำของโลภะทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น โลภะก็จะเปลี่ยนจากทางตาไปหาทางหู ไปหาทางจมูก ไปหาทางลิ้น ไปหาทางกาย ไปหาแม้ทางใจว่า อย่าให้ไปคิดเรื่องอื่นด้วยโลภะ ให้จดจ้องอยู่ตรงนี้ เพราะชอบที่จะเป็นอย่างนั้น นั่นคือมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ปัญญาสามารถรู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นเป็นความติดข้อง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่มีปัญญา ขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ที่รู้ว่า หลังจากเห็นแล้วก็เกิดอกุศลรวดเร็วเหลือเกิน ไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวก็เกิดแล้ว เหมือนอย่างต้นยาง เพียงสะกิดนิดเดียว น้ำยางก็ไหลออก เพราะว่าเต็มอยู่ในที่นั้นแล้ว

    เพราะฉะนั้น ของเรา กิเลสเต็ม ลืมตาก็มาแล้ว พอได้ยินก็มาแล้ว พอได้กลิ่นก็มาแล้ว พร้อมที่จะหลั่งไหลออกไป ซึ่งธรรมใช้คำว่า “อาสวะ” อาจจะคงเคยได้ยิน การหมักดองไว้จนกระทั่งพร้อมที่จะไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ ด้วยความติดข้อง

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาสูงกว่านั้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีคำว่า สติปัฏฐาน เพื่อที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เราก็ฟังเรื่องของนามธรรมรูปธรรม มีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเรื่องของนามธรรมรูปธรรม แต่ขณะที่ฟังเป็นสติขั้นฟัง กุศลใดๆ ทั้งหมดที่จะขาดสติเจตสิกไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นทาน ไม่ว่าจะเป็นศีล ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา การช่วยเหลือผู้อื่น หรือว่าวาจาที่เป็นประโยชน์ทั้งหมด ขณะนั้นเพราะจิตเกิดร่วมกับสติเจตสิกที่ระลึกเป็นไปอย่างนั้นๆ การกระทำ และคำพูดนั้นๆ จึงได้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น สติเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง หรือจะใช้คำแปลกันว่า จำปรารถนาในที่ทั้งปวง ซึ่งก็หมายความว่า เป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวงเพราะสติเกิดระลึกได้

    วันนี้มีใครระลึกที่จะให้ทานบ้างไหมคะ ไม่ มีก็ได้ แต่ว่าระลึกที่จะฟังธรรม ถ้าสติไม่เกิด ไปแล้วค่ะ ระลึกเรื่องอื่นทันที แม้แต่ขณะที่กำลังฟัง เวลาฟัง แล้วเข้าใจ พิจารณา นั่นคือหน้าที่ของสติที่ไม่ไปอื่น แต่ระลึกสภาพที่เรื่องราวที่กำลังได้ยินได้ฟัง แล้วปัญญาก็สามารถที่จะเกิดค่อยๆ เข้าใจ เป็นสภาพธรรมทั้งหมด คือ จิต เจตสิก ทั้งหมด แต่ว่าให้ทราบว่า ต้องรู้ลักษณะของสติว่า เป็นธรรมฝ่ายดี แล้วก็เกิดกับกุศลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน สติก็ระลึกเป็นไปในการให้ บางคนก็อาจจะมีเสื้อผ้าหลายๆ ตัว เกิดคิดไหมคะว่า ตัวนี้จะให้ใคร เป็นประโยชน์แก่ใคร นั่นคือสติ ไม่ใช่เรา ทั้งๆ ที่เคยเป็นเราทำกุศล แต่ความจริงคือสติเกิดขึ้นจึงเป็นไปในกุศล แล้วแต่ว่าระดับไหน ระดับทาน ระดับศีล ระดับสมถะ หรือว่าระดับสติปัฏฐาน


    หมายเลข 9767
    18 ส.ค. 2567