ลืมจุดประสงค์ที่แท้จริง
ผู้ฟัง ถ้าเราใช่วิธีการศึกษาอย่างนี้ในปัจจุบันนี้ ผมรู้สึกว่าจะเป็นการลำบากมาก เพราะว่ารู้ได้ยาก แล้วต้องใช้ปัญญาแทงตลอดจริงๆ สมมติเราจะสอนนักศึกษา ถ้าค่อยๆ อธิบายไป ให้เรียนแบบนี้ กับอีกแบบหนึ่งที่เขาสอนกันทั่วไป ก็สั่งไปเลยว่า กำหนดตรงนั้นตรงนี้ให้รู้เวทนา อย่างเด็กอีกกลุ่มที่เรียนกับเรา ถ้าศรัทธาน้อย หรือไม่มีพื้นมา ก็จะเบาบางไป อีกกลุ่มกำหนดรู้กันตรงโน้นตรงนี้ รู้ไปหมดแล้ว มัวแต่มานั่ง ค่อยๆ ปูพื้นอย่างนี้ มันช้าไปกว่าจะรู้ จุติจิตเกิดไปแล้ว ก็ยังไม่รู้หรือเปล่าไม่ทราบครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาหรือเปล่าคะ โดยมากเราทำอะไรเราคิดถึงจุดประสงค์แท้จริงหรือเปล่า อย่างการศึกษา การให้ความรู้ หรือการจะเรียนรู้ จุดประสงค์คืออะไร จุดประสงค์จริงๆ ให้เกิดความเห็นถูก หรือว่าให้เกิดความเห็นผิด
เพราะฉะนั้น ทุกคนจะลืมจุดประสงค์ แต่ว่าถ้าเราย้อนกลับมาคิดจุดประสงค์แท้จริงของการศึกษา ไม่ว่าจะที่บ้านกับลูกหลาน มิตรสหายเพื่อนฝูง ที่โรงเรียน หรือที่อื่นๆ ก็ตาม จุดประสงค์ของการศึกษา คือเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจะไม่ให้ความเห็นผิดหรือความเข้าใจผิด เพราะว่านั่นไม่ใช่การศึกษาเลย ไม่ชื่อว่าเป็นการศึกษา เพราะเหตุว่าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราอาจจะคิดว่า เป็นแนวการศึกษา การศึกษาทุกคนต้องการมาทำอย่างนี้เป็นการศึกษา แต่ตราบใดที่ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง ตราบนั้นไม่ใช่การศึกษา แล้วเราเองลืมจุดประสงค์นี้หรือเปล่า หรือเราจะเปลี่ยนจุดประสงค์ เป็นการศึกษาคือเพื่อความไม่รู้ ถ้าเราต้องการเพื่อความไม่รู้ คิดว่าง่ายดี เราไม่มีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษา และในการให้การศึกษา แต่ถ้าเรามีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง เรามีความอดทน สิ่งที่ว่ายาก วันหนึ่งก็ง่าย มีใครบ้างไหมคะที่เกิดมาก็ขี่จักรยาน ไม่ต้องหัดเลย ว่ายน้ำเป็น ไม่ต้องหัดเลย เล่นกีฬาต่างๆ สกีหรืออะไรก็แล้วแต่ โดยที่ไม่ต้องหัดเลย เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ชีวิตทั้งชีวิตเป็นการศึกษา แต่ว่าการศึกษา ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ว่าศึกษาเพื่ออะไร อย่างวิชาการทางโลก ศึกษาเรื่องความรู้ที่จะให้มีความสามารถในการทำงาน ในการเลี้ยงชีพ นั่นคือจุดประสงค์ของการศึกษาทางโลก แต่จุดประสงค์ของการศึกษาทางธรรม ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าจะให้ใครศึกษาต้องให้คนนั้นเห็นถูก ไม่ใช่ให้เห็นผิด
เพราะฉะนั้น เราจะเป็นส่วนที่ให้การศึกษา หรือว่าถึงแม้ว่ายากเกินไปก็ไม่เอาแล้ว แต่ว่าถ้าถึงแม้ว่ายากเกินไป หรือยากแต่ไม่เกินไป เริ่มต้นได้ทีละเล็กทีละน้อย การศึกษาต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นอนุบาลหรือเปล่าคะ หรือเอาปริญญาเอกมาศึกษาทันที เป็นไปไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ
สติปัฏฐานเป็นระดับไหน อนุบาล ประถม หรือว่าปริญญาเอก ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานเลย ใช้แต่ชื่อว่าสติปัฏฐาน แล้วเราเองซึ่งเป็นผู้ที่จะให้ความรู้คนอื่น เราเองถ้าไม่ได้ศึกษาก็เป็นผู้ที่ไม่รู้ เมื่อผู้ไม่รู้ให้คนอื่น ผู้นั้นก็ไม่รู้ คนอื่นก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้กันต่อๆ ไป นี่ไม่ใช่จุดประสงค์ของการศึกษา
เพราะฉะนั้น ในโลกนี้จะมีคนสักเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ามี ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือจำนวนน้อยสักเท่าไรก็ตาม แต่หวังดีต่อบุคคลอื่น เป็นมิตรจริงๆ คือให้ความรู้ที่ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่มิตร เราให้สิ่งที่ผิด เราไม่มีความเมตตา กรุณา สงสารเขาเลย ให้สิ่งที่ผิดแล้วเขาก็เห็นผิด ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ความเห็นผิดเริ่มแล้วก็จะมากขึ้น จะติดตามทุกชาติไป ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีผู้ที่เห็นผิดมากมาย มีครู ๖ คนซึ่งมีชื่อเสียงมาก ครู ๖ คนก็สอนให้คนอื่นเห็นผิดไปเรื่อยๆ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงสอนให้คนอื่นมีความเห็นถูกขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น เราจะเป็นครู ๖ คน แล้วป่านนี้ก็เพิ่มเป็นเท่าไรแล้วก็ไม่รู้ แล้วก็ฝ่ายที่จะมีความเห็นถูก หรือมีความเป็นมิตรกับคนอื่นจริงๆ จะเป็น ๑ หรือจะเป็น ๒ หรือจะเป็นเท่าไร แต่มีเราอยู่ด้วยในจำนวนนั้น เราจะอยู่ข้างไหน เป็นสิทธิของเรา ที่จะคิดที่จะไตร่ตรอง ประโยชน์สูงสุดของการเป็นมนุษย์ ไม่มีอะไรดีเท่ากับสามารถที่จะศึกษา เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เพราะว่ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม
คนที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมคงจะไม่ทราบว่าได้สะสมบุญในอดีต พอที่จะผันชีวิตมาให้ได้มีโอกาสได้ยินได้ฟังสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง เป็นคำสอนที่ประเสริฐ เพราะว่ามาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราเป็น ๑ ในนั้น เราอยากจะให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า หรือว่าปล่อยเขาไป เขาจะเห็นผิดอย่างไร ก็ปล่อยเขาไป หรือว่าถ้าเราสามารถที่จะช่วยได้ เราจะช่วย
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีความอดทน หัวใจของพระพุทธศาสนาซึ่งประมวลคำสอนทั้งหมด ชื่อว่า โอวาทปาติโมกข์ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ความเพียร ความอดทนที่จะเผากิเลส เป็นความอดทนสูงสุด โลภะให้เราอดทนได้ เช่นบางคนอยากจะใส่เสื้อสวยๆ ตอนกลางคืนก็นั่งเย็บเสื้อไปจนรุ่งเช้า รุ่งขึ้นก็ได้ใส่ อดทนทั้งคืน นั่นคือลักษณะของโลภะ ให้อดทนเหมือนกัน แต่ความอดทนที่จะละโลภะ คิดดู เป็นเพื่อนสนิท พอเกิดมา ไม่มีใครรู้ว่า ทันทีที่รู้สึกตัว มีความติดข้องในความเป็น ทุกสภาพ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร ภพไหน ภูมิไหน ก็ยินดีติดข้องเหมือนเดี๋ยวนี้ที่เราก็ยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความมีชีวิต แต่ว่าการที่จะละตัวนี้ สภาพธรรมที่เป็นศัตรูที่สนิทชิดเชื้อที่สุดได้หมดสิ้น ต้องอาศัยปัญญาระดับไหน แล้วถ้าไม่มีปัญญาที่เป็นเหมือนกับประกายไฟสักจุดหนึ่งเล็กๆ แสงไฟใหญ่ๆ กองไฟโตๆ ก็มีไม่ได้
เพราะฉะนั้น เราไม่ได้หวังเลยว่า ใครจะมีปัญญาสามารถที่จะเข้าใจพระธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ตามการสะสม แต่ถ้ามีโอกาสก็ให้เขา เป็นมิตรจริงๆ ให้สิ่งที่ถูกต้อง ให้ความหวังดีที่จะไม่ให้เขาผิด หรือว่าจะให้สิ่งที่ผิดกับเขา เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ง่าย จะฆ่ามด หรือว่าจะช่วย แม้ว่าช่วยนั้นยากกว่า แล้วก็เสียเวลาด้วย ฆ่าง่ายนิดเดียว มดก็ตัวเล็กนิดเดียว
ฟังแล้วหนักใจไหมคะ หรือเบาใจ ไม่มีเรา เราเกิดมาก็มีเจตสิกแล้วแต่จะเป็นฝ่ายดี หรือฝ่ายไม่ดี แล้วแต่สภาพธรรมใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน