พื้นฐานพระอภิธรรมเป็นไปตลอดของการรู้ลักษณะสภาพธรรม


    ท่านอาจารย์ และความรู้สึกก็ขณะนั้นไม่สบายใจ และก็มีโทสะเกิดร่วมด้วยคือปฏิฆะตรงกันข้ามกับโลภะ เพราะ ฉะนั้นมัจฉริยะก็เกิดกับโทสมูลจิต ขณะที่กำลังพอใจในสิ่งที่มี ยังไม่มีคนอื่นมาเกี่ยวข้องเลย ขณะนั้นหวงหรือเพียงพอใจ กำลังพอใจในสิ่งที่มี

    ผู้ฟัง พอใจ แล้วก็หวงด้วย ที่เอาไปซ่อน

    ท่านอาจารย์ ยังๆ ที่เอาไปซ่อนนั่นคือว่ามีคนอื่นเข้ามาแล้ว ต้องมีซ่อนใครใช่ไหม กลัวคนอื่นเห็น แต่เวลาที่เรากำลังติดข้องเท่านั้นจริงๆ อย่างดอกไม้สวย เราไม่ได้เอาไปซ่อนใครที่ไหนเลยใช่ไหม เพราะว่าขณะนั้นเป็นความพอใจติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ถ้าเกิดคิดไม่อยากที่จะให้สิ่งของนี้เป็นของบุคคลอื่นร่วมใช้หรือว่าร่วมอะไรด้วย ขณะนั้นก็เป็นความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เริ่มไม่สบายใจแล้ว หาทางแล้วจะทำยังไงกับสิ่งนั้น จะไปซ่อนหรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็คือลักษณะของความตระหนี่คือมัจฉริยะซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต วันนี้มีโลภะแล้วใช่ไหม มีมัจฉริยะหรือยัง

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือคะ

    ผู้ฟัง ก็มีเป็นช่วงๆ อย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น เรามีของรับประทานอยู่ชิ้นหนึ่ง เราก็ยังแบ่งปันคนอื่นไม่ได้ เรามีความพอใจ และหวงแหนที่จะรีบๆ ทานให้หมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ ทุกคนศึกษาธรรมจะเห็นธรรม และก็รู้จักธรรม แม้แต่โลภะที่เราพูด เราพูดทั้งวันเลยเรื่องโลภมูลจิตเพราะเรารู้ว่ามีโลภะเยอะ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เป็นโลภะ เพียงแต่เอ่ยชื่อ เพราะฉะนั้น เราจะรู้ความต่างกันของปริยัติ การศึกษาเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง แต่ว่าตัวจริงๆ ของสิ่งนั้นตราบใดที่เรายังไม่รู้ ก็เป็นเพียงแต่ความคิดว่าโลภะเป็นความติดข้องเกิดร่วมกับอุเบกขาบ้างหรือว่าเกิดร่วมกับโสมนัสบ้างเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ยังมีอีกมากที่จะต้องรู้ด้วยสติ และปัญญาในขณะที่สภาพนั้นกำลังเกิด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าพื้นฐานพระอภิธรรมเป็นไปตลอด เพราะว่าเป็นพื้นฐานที่มั่นคงที่จะทำให้แม้ขณะใดที่โลภะเกิด ก็ยังสามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ว่าขณะนั้นมี เพราะว่าลักษณะนั้นมี


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160


    หมายเลข 9784
    31 ส.ค. 2567