ไม่สามารถจะรู้จริงๆ ในสิ่งที่เรากำลังไตร่ตรองได้


    ผู้ฟัง แต่เนื่องจากเราศึกษาธรรม และเราก็มีความคิดนึก มันก็อดไม่ได้ อย่างเรื่องความเสียดาย เราก็มีความสงสัยว่า อันนี้มันอยู่ในตระกูลของกิเลสของโลภะ หรือโทสะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของความคิดนึกซึ่งห้ามไม่ได้ แต่ว่ากิเลสไม่ได้หมดสิ้นไปด้วยความคิดนึก คิดเท่าไหร่ กิเลสก็หมดไม่ได้ ขณะที่เห็นตลอดเวลา คิดหรือเปล่าว่าจิตเห็น

    ผู้ฟัง ไม่ได้คิดเลย

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมคะ ไม่ต้องมีชื่อ ไม่ต้องมีจักขุวิญญาณ ไม่ต้องคิดถึงเจตสิก ๗ ดวง แต่เวลาที่จะคิดถึงธรรม ถ้าไม่เคยฟังมาก่อนก็ไม่คิด เราจะคิดเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ เลย เพราะฉะนั้น แม้แต่ความคิดขณะนั้นเกิดก็เพราะเหตุปัจจัย แต่ขณะนั้นจะรู้ไหมว่าเป็นโลภะหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นไม่ใช่ไปรู้ลักษณะที่เรารู้ไม่ได้ แต่รู้ลักษณะนั้นว่า เป็นธรรมซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นี่คือการตั้งต้นที่ถูกต้อง ต่อให้เราจะพากเพียรคิดยังไงสักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ถ้าขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม ขณะนั้นก็ยังเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องละเอียด เรื่องธรรมก็เป็นเรื่องที่ควรจะไตร่ตรองเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน แต่ไม่ใช่อยู่เพียงระดับนั้น เพราะว่าถึงแม้ว่าจะมีความเข้าใจในพยัญชนะ ในคำ ในอรรถ ในความหมาย ในเรื่องราว แต่ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ในสิ่งที่เรากำลังคิดไตร่ตรองได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160


    หมายเลข 9788
    31 ส.ค. 2567