สติปัฏฐานเกิดเมื่อไหร่ก็ได้


    ความเข้าใจของเราสำคัญที่สุดว่า เราเข้าใจอะไร ระดับไหน นั่นเป็นเพียงชื่อ อย่างคำว่ากาย คืออะไร อยู่ที่ไหน เวทนา ถ้าเราไม่ศึกษาเมื่อกี้นี้ว่า เป็นเจตสิก แล้วก็เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เวทนาต้องเกิดกับจิตเสมอ ที่เวทนาจะไม่เกิด ไม่มีเลย ก็พอรู้จักเวทนา กายก็พอรู้จัก อยู่ที่ไหนคะ กาย ก็มีคนแตะที่ตัว กาย เวทนา จิต พอรู้จักแล้วใช่ไหมคะ ธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ก็คือสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด ถ้าปัญญาจะรู้ก็รู้สิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งเดี๋ยวนี้ที่มี พอเริ่มจะรู้ว่า เพียงฟังเข้าใจ หรือว่าสามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กล่าวถึงได้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปด้วยความต้องการหรือตัวเราที่ว่า เดี๋ยวจะทำสติปัฏฐาน เดี๋ยวสติปัฏฐานจะเกิด นั่นไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะลืมความหมายของคำว่า อนัตตา ไม่ใช่เรา จะบังคับให้สติเกิดได้ไหมคะ ถ้าบังคับได้บังคับเลย ไม่ให้ขาดเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับจะให้ได้ยินได้ไหม ถ้าไม่มีเสียงมากระทบหู ทำอย่างไรๆ ได้ยินก็เกิดไม่ได้ เพราะไม่มีเสียง จะกระทบหู แล้วจะไปทำให้ได้ยินเกิด เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าความรู้ความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมยังไม่พอ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เพราะสติปัฏฐานจะเกิดต้องมีปัญญามาก่อน ถ้าไม่มีปัญญาขั้นฟัง ขั้นเข้าใจ สติปัฏฐานเกิดไม่ได้เลย มีกายก็จริง จะระลึกอย่างไรคะ ถ้าเป็นคนที่ได้รับการบอกเล่าว่า ให้ระลึกก็ได้ แต่ไม่มีปัญญา ก็รู้ว่ากายอยู่ตรงนี้ พอกระทบสัมผัสก็แข็งนี่แหละ แต่ก็ไม่มีปัญญา เพราะว่าไม่รู้ว่าอะไร แล้วจะละกิเลสอะไรได้ จากการที่เพียงแต่กระทบกาย แล้วก็มีสิ่งที่เย็นบ้าง อ่อนบ้าง ร้อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้างปรากฏ ก็ยังคงเป็นความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องนั้นเลย แต่ว่าให้มีความเข้าใจเรื่องของธรรม เพราะว่าสติปัฏฐาน หมายความถึง สิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด สติสามารถจะรู้โดยระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจ ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นจนประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย

    นี่คือความหมายของสติปัฏฐาน เป็นสติสัมปชัญญะที่เกิดรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ โดยที่สติเกิดระลึกลักษณะนั้น แต่ถ้าสติยังไม่เกิด ยังไม่ระลึกลักษณะนั้น จะมีแต่เราต้องการที่จะให้สติเกิด ที่จะให้สติรู้ แต่ความจริงก็ไม่ใช่สติ เพราะเหตุว่าถ้าสติจะเกิดมีเหตุปัจจัย คือ สัญญาความจำที่มั่นคง สัญญาเป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่าคะ เป็น เป็นปรมัตถธรรมอะไรคะ เจตสิกปรมัตถ์ สัญญาจำทุกอย่าง ตั้งแต่เริ่มเข้ามาในห้องนี้ มีสัญญาใหม่ซึ่งไม่เหมือนสัญญาเก่า คือ สัญญาเก่าเป็นสัญญาเรื่องราว เรื่องตัวตน เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่สัญญาใหม่คือเริ่มจำว่า มีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมกำลังปรากฏด้วย แล้วมีหนทางที่จะรู้ความจริง ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่หนทางนี้ต้องเกิดเพราะมีปัญญา ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่มีก่อน จนกระทั่งเป็นสัญญาความจำที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ว่าเราจะเรียกว่า “ปรมัตถธรรม” จะเรียกว่า “สังขารธรรม” จะเรียกว่า จิต หรือ เจตสิก รูป ก็เพื่อรู้ความจริงว่า เป็นธรรม แต่ที่แสดงโดยนัยต่างๆ ก็เพราะเหตุว่าธรรมมีหลากหลาย เมื่อวานนี้ทั้งหมดก็เป็นธรรม วันนี้ทั้งหมดทุกอย่างก็เป็นธรรม ถ้าเรามีความทรงจำที่มั่นคงจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วไม่ใช่เพียงจำชื่อ จำประโยคว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่ต้องถึงกระดูกหรือจรดกระดูก ถึงความมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม เราระลึกอย่างนี้บ้างหรือเปล่า เรากำลังฟังเรื่องธรรมจริง แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม จนกว่าฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก ระลึกว่าเป็นธรรมจริงๆ เมื่อไร เมื่อนั้นคือ สติเริ่มที่จะระลึกลักษณะที่เป็นธรรมของสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะ ทุกวัน

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานไม่ใช่ว่าใครต้องการก็จะเกิดหรือใครไม่รู้ก็จะเกิด แต่สติปัฏฐานเกิดเพราะมีความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง จนกระทั่งความจำที่มั่นคงมีเมื่อไร เมื่อนั้นเพราะสติเกิด กำลังระลึกลักษณะที่เป็นธรรม ที่จริงทุกอย่างเป็นธรรม แต่เวลาที่แข็งปรากฏเป็นโต๊ะ เห็น มี แต่เป็นแก้วน้ำ

    เพราะฉะนั้น เราไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เดี๋ยวนี้ อย่างนี้ โดยที่ยังไม่ต้องไปนึกถึงอะไรเลย หรือแข็งที่กำลังปรากฏ ยังไม่ทันจะนึกว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นอะไรเลย แต่ลักษณะแข็ง เริ่มที่จะใส่ใจ ลักษณะที่แข็งเพราะรู้ว่าเป็นธรรม เมื่อเป็นธรรมแล้ว ขณะนั้นจะมีความคิดอื่น ในขณะที่กำลังรู้ลักษณะของธรรมไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีลักษณะของธรรมหนึ่งธรรมใดกำลังปรากฏ โดยสติระลึกตรงลักษณะนั้น เรื่องราวความคิดนึกต่างๆ จะไม่มีอยู่ในที่นั้น คนก็ไม่มีอยู่ในที่นั้น เพราะว่ามีสภาพที่รู้ แล้วก็มีสภาพที่แข็ง ลักษณะที่แข็งไม่ใช่สภาพที่รู้แข็ง

    นี่คือปัญญาตามที่ได้เรียนมาทั้งหมดว่า จิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เป็นนามธรรม ส่วนรูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทุกอย่างต้องตรงแล้วก็สอดคล้องตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงที่สุด

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะมีคำอธิบายว่า “ตามรู้” หมายความว่ามีลักษณะที่ปรากฏแล้วขณะนั้นสติสัมปชัญญะระลึก คือตามรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่เป็นเรื่องราวต่างๆ แล้วก็จะเห็นว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมทั้งหมด แต่ว่าเพียงฟังก่อน แล้วก็สติเริ่มระลึกบ้าง หรือหลงลืมบ้าง ก็จะเริ่มเห็นความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานเกิด กับขณะที่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เป็นแต่เพียงขณะที่กำลังฟังเรื่องธรรมทั้งๆ ที่ลักษณะของธรรมปรากฏตลอดเวลา ทุกอย่างเป็นธรรม มีลักษณะจริงๆ ปรากฏทั้งวัน

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไรก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ คนที่กำลังฟังพระธรรมเทศนาสามารถที่จะเป็นพระอริยบุคคล คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ในขณะที่ฟัง แล้วก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในการเกิดขึ้นแล้วดับไปของสภาพธรรมนั้น ก็รู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นความจริงทุกอย่าง คำเทศนาหรือพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงทั้งหมดด้วยตนเองที่ได้ประจักษ์แจ้งความจริง

    นี่คือสติปัฏฐาน ก็เป็นเรื่องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงมากขึ้นตามลำดับ จากขั้นที่เริ่มฟัง จากขั้นที่เข้าใจ แล้วถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้ง เพราะว่าพระศาสนาต้องครบถ้วนทั้ง ๓ อย่าง ถ้ามีแต่เพียงการฟัง แต่ไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์จริงๆ อย่างนั้นได้ การฟังทั้งหมดของเราก็เป็นโมฆะ เหมือนฟังเรื่อง ซึ่งไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ แต่ว่าตามความเป็นจริง สิ่งที่ได้ฟังเป็นความจริง พร้อมที่จะให้ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาสามารถประจักษ์ได้จริงๆ ก็ต้องมีการศึกษาตามลำดับตั้งแต่ขั้นฟัง สุตมยปัญญา ขั้นคิดพิจารณาไตร่ตรอง สิ่งที่ได้ฟังแล้ว จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา คือ การอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงในขณะนี้ได้ ซึ่งก็ต้องยากขึ้นตามลำดับ ทั้งๆ ที่สิ่งที่มีจริง ยากที่จะรู้ เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก แต่ก็มีสิ่งที่เกิดอีก ปรากฏอีก ให้เข้าใจได้อีก ไม่มีวันจบ สิ่งที่จะปรากฏให้ศึกษามีอยู่ทุกขณะ แม้ไม่มีหนังสือเลย เพียงขั้นฟังก็สามารถที่จะค่อยๆ พิจารณาเข้าใจได้


    หมายเลข 9793
    15 ส.ค. 2567