ธรรมเป็นเรื่องทุกขณะที่มี


    ท่านอาจารย์ ตอนนี้มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ

    ผู้ฟัง ในเรื่องของโลภะ พอดีอ่านในเรื่องของความหมายเสร็จแล้ว ก็มียกตัวอย่างในเรื่องของการอาบน้ำ การรับประทานอาหารก็เป็นโลภะเหมือนกัน ก็เลยสงสัยว่า ถ้าถือเป็นโลภะแล้ว เราไม่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ หรืออะไรอย่างนี้ เพราะว่าในชีวิตประจำวัน เราก็ต้องอาบน้ำ เราก็ต้องรับประทานอาหาร คิดอย่างนี้ ตอนแรก

    อ.สุภีร์ สำหรับคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความเป็นเหตุเป็นผลของสภาพธรรม ฉะนั้นการที่ท่าน

    ผู้ฟัง ได้ถามเมื่อกี้นี้ ก็คงเป็นคำถามของหลายๆ ท่านว่า เวลาเราเห็นเสร็จเรียบร้อยก็มีกิเลสเกิดขึ้น อย่างที่ท่านอาจารย์อุปมาเหมือนกับว่า ต้นไม้ที่มียางอยู่ พอไปสะกิดนิดหน่อย ยางก็ออก เวลาเห็น กิเลสก็มาแล้ว เวลาได้ยิน กิเลสก็มาแล้ว อย่างนี้เราก็ไม่ต้องเห็น หรือว่าไม่ต้องได้ยิน นี่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเห็น แล้วปัญญาก็สามารถเกิดได้ รู้ความจริงได้ ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นจิตอย่างไร เป็นเจตสิกอย่างไร ที่เราศึกษากันมา แต่อันนี้ก็แล้วแต่ปัญญาของแต่ละคนว่า จะมีความรู้ได้ขนาดไหน

    ฉะนั้นการที่จะดับกิเลส ที่มาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดี การดับไม่ใช่ว่าเห็นสิ่งใดแล้ว เกิดกิเลส ก็ไม่ต้องเห็นอีก แต่ว่าดับที่เหตุ ซึ่งท่านก็แสดงว่า เป็นสมุทัย เคยได้ยินไหมครับ มีทุกข์ สมุทัย เวลาจะดับทุกข์ ดับที่เหตุให้เกิดทุกข์ คือดับที่สมุทัย

    ฉะนั้นธรรมทุกอย่างมีเหตุให้เกิด เวลาจะดับก็ดับที่เหตุ ซึ่งสิ่งที่จะดับได้ก็ปัญญาเท่านั้นที่จะดับได้ ปัญญาเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าเป็นธรรมอย่างไร เกิดดับอย่างไร อันนี้เป็นคำตอบย่อๆ เดี๋ยวท่านอาจารย์อธิบายเพิ่มเติม เชิญครับ

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้ได้ยินว่า ถือว่าเป็นโลภะ ใช่ไหมคะ แล้วทำไมเราจะถือกันด้วยความคิดของเราเอง หรือว่าสภาพนั้นเป็นโลภะจริงๆ

    ในพระพุทธศาสนาไม่ใช่มีการถือตามใจชอบ ว่าอยากจะให้เรียกอันนี้เป็นโลภะ หรืออันนั้นต้องเป็นกุศล แต่ลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เราจะต้องไตร่ตรอง ไม่ใช่ถือความเห็นของเรา อย่างบางคนบอกว่า เขาไม่มีโลภะเลย เขาไม่เห็นอยากได้อะไรของใครเลย จะว่าเขามีโลภะได้อย่างไร เขาถือว่าเขาไม่มีโลภะ นั่นคือความเห็นส่วนตัว แต่ว่าตามความเป็นจริง ธรรมเป็นจริงอย่างไร ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ปัญญา คือสามารถที่จะเข้าใจถูกต้อง จริงๆ แล้วก็เป็นผู้ที่ตรง ถ้าพูดถึงธรรม จะมีชื่อสุจินต์ จะมีชื่อสุภีร์ ไหมคะ ไม่มี เป็นธรรม โลภะ เกิดขึ้นกับเด็ก กับผู้ใหญ่ กับผู้หญิง ผู้ชาย กับขอทาน พระราชามหากษัตริย์ หรือกับใครก็ตามแต่ โลภะทำหน้าที่ของโลภะ จะทำหน้าที่อื่นไม่ได้ หน้าที่ของโลภะ ก็คือ ติดข้อง ต้องการ แต่ว่าความติดข้องต้องการไม่ได้ใหญ่โตมหาศาล จนกระทั่งทำให้เรารู้สึกว่า เราอยากจะได้ถึงจะเป็นโลภะ แต่เพียงแค่เห็น เรามีความติดในสิ่งที่เห็น และในการเห็นไหม เรียกว่าเราเกิดมา เราอยากเห็นหรือเปล่า หรือไม่อยากเห็น เวลาเกิดมาแล้ว อยากได้ยินหรือเปล่า หรือไม่อยากได้ยิน ถ้าตาเรากำลังใกล้จะบอด จะเสีย เราต้องไปหาหมอ ใช่ไหมคะ คือรักษาเพื่อที่จะให้มีการเห็นต่อไป

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของความติดข้องต้องการ ไม่ใช่เป็นไปในลักษณะของสภาพทีต้องการมากๆ จึงจะเรียกว่า โลภะ ไฟนิดเดียวก็ร้อน กองใหญ่ๆ ก็ร้อน หรือกลิ่นเหม็น แม้แต่เพียงส่วนอณูเล็กที่สุดก็เหม็น เมื่อรวมแล้วก็เป็นลักษณะของกลิ่นที่เหม็นมาก ฉันใด ลักษณะของโลภะก็ฉันนั้น คือ แม้แต่เพียงความติดข้องอย่างบางที่สุดก็เป็นโลภะ

    ไม่ทราบเมื่อกี้นี้มีใครไปล้างมือบ้างหรือเปล่าคะ คงยังไม่ล้าง ยังไม่ได้ออกไปข้างนอก แต่เวลาที่จะกลับมาเข้าบ้าน หรืออะไรนี่ เราก็ล้างมือ ถูสบู่ มือก็ดูสะอาดดี ไม่เห็นเปื้อนน้ำหมึก หรืออะไรสักอย่างเดียว แต่ยังมีสีดำๆ ออกมา หรือเสื้อผ้าที่เราใส่ก็ต้องมีการซัก อะไรออกมาคะ สิ่งที่สกปรก น้ำก็ดำ ฉันใด เราจะมีอกุศลประเภทที่จางที่สุด ที่ไม่สามารถจะรู้ได้เลย เช่น อาสวะ อีกคำหนึ่งของพระอรหันต์ที่ในพระไตรปิฎกใช้ คือ ขีณาสวะ ขีณะแปลว่าดับ หมดสิ้น อาสวะ ก็คือกิเลสอย่างบางหรืออย่างจาง ก็ไม่มีเลย สำหรับพระอรหันต์ แต่สำหรับคนที่ไม่รู้ ถ้ากิเลสอย่างหยาบๆ ไม่เกิด ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่พระอรหันต์ เขาก็คิดว่าเขาไม่มี

    พวกที่ทำสมถภาวนาอย่างถูกต้องในครั้งพุทธกาล จิตสงบมาก สามารถที่จะบรรลุความสงบของจิต ที่ใช้คำว่า ฌานจิตขั้นต่างๆ ตั้งแต่ขั้น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน เห็นได้เลยว่าความสงบเพิ่มขึ้นๆ แต่ว่าถ้าไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะเห็นความต่างขณะที่เป็นฌานขั้นต้น กับฌานขั้นที่ ๒ เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่สงบอย่างที่เราเข้าใจว่า เรากำลังจดจ้องที่หนึ่งที่ใดแล้วสงบ นั่นไม่ใช่อุปจารสมาธิ ไมใช่อัปปนาสมาธิ ไม่ใช่ฌานจิต เราก็ยังหลงคิดว่า นั่นแหละสงบมากแล้ว แต่ถ้าเป็นในระดับนั้น ผู้ที่มีความสงบบ่อยๆ แต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ท่านเหล่านั้นเข้าใจว่า ตัวเองหมดกิเลส แม้แต่อุทกดาบส อาฬารดาบสซึ่งเป็นผู้ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงไปศึกษาเรื่องของฌานจิตด้วย ทั้ง ๒ ท่านซึ่งเป็นอาจารย์ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ ก็เชื้อเชิญพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นผู้สอนสำนักเดียวกับท่าน แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ว่า ทั้ง ๒ ท่านไม่รู้ความจริง

    นี่คือปัญญาที่สะสมมาถึงระดับขั้นที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถที่จะรู้ได้ แม้ขณะนั้นที่เข้าใจว่าสงบ ความจริงเมื่อปัญญายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะสงบได้อย่างไร ในเมื่อยังมีความเป็นเราที่ได้ฌาน หรือว่าเป็นเราที่สงบ เพราะฉะนั้น ก็ยังมีความสำคัญตนว่านเราอยู่

    ด้วยเหตุนี้กิเลสจึงมีทั้งอย่างละเอียด เช่นในขณะที่นอนหลับสนิท คนที่หลับที่เป็นโจร กับคนที่หลับที่เป็นปุถุชน กับคนที่หลับที่เป็นพระอรหันต์ มีความต่างกัน เวลาที่พระอรหันต์ตื่น ไม่มีกิเลสเลย แต่คนที่หลับแล้วตื่นที่ยังมีกิเลสอย่างละเอียดที่ยังไม่ได้ดับ ทันทีที่ตื่นก็เป็นกิเลส เป็นความเศร้าหมอง เป็นสภาพของจิตที่ติดข้องในสิ่งที่มีอยู่ในขณะนั้นที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าไม่มีโลภะ กล่าวไม่ได้ แต่ว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเจตสิกที่เป็นฝ่ายโสภณเกิด จึงเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น จึงมีเจตสิกซึ่งตรงกันข้ามกัน โลภะเป็นอกุศลเจตสิก อโลภะเป็นโสภณเจตสิก โทสะเป็นอกุศลเจตสิก อโทสะเป็นโสภณเจตสิก โมหะเป็นอกุศลเจตสิก ปัญญาเป็นโสภณเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ก็มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตามเหตุตามปัจจัย ขณะใดที่เป็นอกุศลก็เพราะอกุศลเจตสิกเกิด ขณะใดที่เป็นจิตที่ดี ก็เพราะโสภณเจตสิกเกิดตามเหตุตามปัจจัย ต้องรู้ ทั้งหมดนี้ต้องรู้ แล้วการรู้ ไม่ใช่ว่านึกเอา พระไตรปิฎก และอรรถกถาไม่ใช่สำหรับอ่าน แต่สำหรับเรียน สำหรับศึกษา สำหรับพิจารณาให้เข้าใจ มิฉะนั้นแล้วคนเราก็ไม่ต้องไปไหนเลย หยิบหนังสือแพทย์มาก็อ่านเองตั้งแต่ต้น ผ่าตัดไปได้เสร็จ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องเป็นการเข้าใจจริงๆ การพิจารณาเข้าใจจริงๆ แล้วคนนั้นก็จะรู้ว่า ความเข้าใจของเขายังน้อย ผิวเผิน หรือว่าเริ่มลึก หรือว่าเริ่มถูกต้องมากขึ้น

    อันนี้ก็เป็นแต่ละคน เพราะปัญญาเกิดขึ้นจึงรู้ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิดก็ไม่รู้ ก็เพียงเดาแล้วถือเอา ขณะใดที่ถือเอา ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา เรื่องธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องโลก เป็นเรื่องชีวิต เป็นเรื่องทุกขณะที่มี


    หมายเลข 9794
    15 ส.ค. 2567